เราไม่เคยวาดฝันว่าจะได้ร่วมรัฐบาล และก็ไม่เคยต่อรองตำแหน่งทางการเมืองกับพรรคก้าวไกล หลังถูกเชิญร่วมจัดตั้งรัฐบาล แต่เรามีอุดมการณ์คล้ายกันคืออยากเห็นสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้
นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม ส.ส ระบบบัญชีรายชื่อหนึ่งเดียวของพรรคที่ได้รับเชิญจากพรรคก้าวไกลให้ร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล สปอตไลท์ทางการเมืองจึงพุ่งไปที่ นายกัณวีร์ สืบแสง
นายกัณวีร์ เล่าย้อนถึงการเบนเข็มชีวิตจากการเป็นข้าราชการในสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. และสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ เพราะมองว่าหากต้องการให้สันติภาพเกิดขึ้นจริงก็ต้องอาศัยกลไกทางการเมือง จึงกระโดดลงทำงานร่วมกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย และเคยถูกวางตัวให้เป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ในเขต กทม.
ก่อนจะลาออกมาทำงาน ภาคประชาชนในนามมูลนิธิสิทธิเพื่อสันติภาพ โดยทำงานใกล้ชิดกับกลุ่มปาตานีบารู และสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนที่ทำงานเข้มข้นด้านอัตลักษณ์ และได้ส่งผู้สมัคร ส.ส. รวม 8 เขต
นายกัณวีร์ ยังเล่าว่า แม้ตัวเองจะอาศัยอยู่ใน กทม. เป็นหลัก แต่มีต้นตระกูลคือ ปู่ นพ.เจริญ สืบแสง อดีต ส.ส. ปัตตานี ซึ่งเป็นเพื่อนกับนายหะยีสุหยง ผู้เคลื่อนไหวคนสำคัญในอดีต ก่อนปู่ที่ทำหน้าที่เป็นประธานสมาคมสันติแห่งประเทศไทย ในขณะนั้น จะถูกจับกุมในข้อหาฐานกบฏขณะต่อต้านการส่งทหารไทยไปร่วมรบในสงครามเกาหลี และครอบครัวก็ได้ย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพมหานครแทนจังหวัดปัตตานี การลงมาในพื้นที่อีกครั้ง เพื่อทำงานการเมือง และคลุกคลีกับภาคประชาสังคม และคนในพื้นที่ จึงเหมือนเป็นโอกาสได้ย้อนอดีตครอบครัวของตัวเองที่เคยต่อสู้มา
“หลายคนมองว่า นโยบายของพรรคเราสุดโต่ง แต่คนมักฟังจากหลังมาหน้า หรือมองกลับกัน มีคำถามเรื่อง นโยบายพาทหารกลับบ้าน บางคนถามว่า ถ้าเกิดเหตุแล้วจะให้ใครจะรับผิดชอบ ใครจะดูแลพื้นที่ แต่เรากำลังบอกว่า เรามีนโยบาย 3 ขาที่ต้องดำเนินการก่อนเพื่อสร้างสันติภาพ แล้วจึงพาทหารกลับบ้าน”
นโยบาย 3 ขา ที่ว่า นั้นคือ การยกระดับกระบวนการสร้างสันติภาพให้เป็นวาระแห่งชาติให้ได้ ซึ่งกระบวนการนี้ต้องมีกฎหมายรองรับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.ก. หรือ พ.ร.บ.เพื่อสร้างสันติภาพ ตั้งคณะกรรมาธิการในการติดตามประเมินผลการสร้างสันติภาพให้ได้ แล้วคนที่ควรจะคุยในเจรจาสันติภาพก็ไม่ควรจะเป็นแค่ทหารหรือบีอาร์เอ็นที่เป็นคู่ขัดแย้งที่ถืออาวุธแค่ 2 ฝ่าย เพราะการสร้างสันติภาพยั่งยืนต้องมีภาคประชาสังคมเข้าร่วม
ขาที่ 2 คือ ซึ่งใกล้เคียงกับนโยบายของพรรคก้าวไกล คือการยกเลิกกฎหมายพิเศษที่บังคับใช้ ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางพ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎอัยการศึก
“เราไม่ได้หมายความต้องยกเลิกกฎหมายนี้ไปเลย เพราะกฎหมายนี้ก็ยังมีอยู่ในประเทศ แต่ปัญหาคือ อยู่ที่การบังคับใช้มันไม่เหมือนประเทศไทย ประเทศไทยใช้เป็นเครื่องมือที่สามารถบังคับใช้ตามอำเภอใจ รวมถึงกฎหมายอื่นๆ เช่น การควบคุมการรวมกลุ่ม ที่ถูกนำมาปิดปากประชาชน”
ส่วนขาที่ 3 คือ การปฏิรูปโครงสร้างระบบราชการ เพราะเห็นว่ามีการทับซ้อนของโครงสร้างอำนาจ มีทั้งการปกครองส่วนภูมิภาค การปกครองส่วนท้องถิ่น ทับซ้อนกับ กอ.รมน.หรือ ศอ.บต. ถามว่าช่วงที่ผ่านมาใช้เงินไปเยอะเพื่อแก้ปัญหา เกือบ 500,000 ล้านบาทแล้ว แต่การเสนอโครงการจากประชาชนแทบไม่มี งบประมาณก็ลงไปไม่ถึงมือประชาชน ถ้าลองคิดวันนี้เอาเงินที่ใช้แก้ปัญหาไปแจกประชาชนเป็นรายครอบครัวในพื้นที่คงรวยไปแล้ว แต่สภาพเป็นจริงคือ สันติภาพยังไม่เกิดขึ้น การทะเลาะเบาะแว้งก็ยังมีอยู่ ก็หากมีการยุบบางหน่วยงาน และปล่อยให้มีการกระจายอำนาจ ที่เรียกว่า “จังหวัดจัดการตนเองแล้ว” ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่ารายการจังหวัดโดยตรงคล้ายกับกรุงเทพมหานคร ก็จะดี
ส่วนคำถามที่ว่า พรรคเป็นธรรมคาดหวังจะได้ร่วมจัดตั้งเป็นรัฐบาลหรือไม่ ท่ามกลางความยังไม่ชัดเจนในการตั้งรัฐบาลนำโดยพรรคก้าวไกล
“ผมคิดว่า ทุกคนในประเทศนี้อยากเห็นประชาธิปไตยงอกงาม ผมเชื่อว่า ทุกคน มีสติสัมปชัญญะ อยากเห็นประเทศเดินหน้าไปโดยเรียบร้อย ผลการเลือกตั้ง เห็นชัดเจนว่าประชาชนเลือกประชาธิปไตยและส่งสัญญาณมาแล้ว นักการเมืองก็ต้องมีสปิริตในการทำให้ประชาธิปไตยมันเกิดขึ้นได้”
พรรคเราไม่เคยต่อรองตำแหน่งทางการเมืองกับพรรคก้าวไกล เพราะการได้ถูกเชิญให้ร่วมจัดตั้ง หรือ หากได้เป็นรัฐบาลจึงก็เป็นเรื่องเกินความคาดหมายของเรา
อย่างไรก็ตาม นายกัณวีร์ ยอมรับว่า หากจะขับเคลื่อนนโยบายหลักของพรรคเราให้เกิดขึ้นได้จริงในการสร้างสันติภาพ ก็เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยหรือสำนักนายกรัฐมนตรี จึงต้องใช้กลไกให้ถูก และมีประสิทธิภาพ หรือแม้แต่กระทรวงการต่างประเทศ ที่หลายคนพยายามกด บอกว่า เป็นแค่ปัญหาในพื้นที่ ทั้งที่จริงแล้วมันเป็นปัญหาสากล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เลือกตั้ง2566 : “ไอซ์ รักชนก” เปิดใจ ไม่คิดจะชนะเลือกตั้ง แค่ขอทำให้ดีที่สุด
เลือกตั้ง2566 : “สุเทพ อู่อ้น” เลื่อนนั่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แทน “ณธีภัสร์”
เลือกตั้ง2566 : “ด้อมส้ม” ระดมแคมเปญ “31” สะเทือนโลกออนไลน์ ดัน “ก้าวไกล” เข้าสภาฯ