หน้าแรก Thai PBS เลือกตั้ง2566 : ศัพท์ใหม่การเมืองไทย “MoU” ที่รัฐบาลก้าวไกลใช้

เลือกตั้ง2566 : ศัพท์ใหม่การเมืองไทย “MoU” ที่รัฐบาลก้าวไกลใช้

82
0
เลือกตั้ง2566-:-ศัพท์ใหม่การเมืองไทย-“mou”-ที่รัฐบาลก้าวไกลใช้

ย้อนอดีตการเลือกตั้ง เมื่อครั้งที่ประชาชนยังไม่มีพรรคการเมืองจำนวนมากเหมือนปัจจุบันนี้ให้เลือก ผลการเลือกตั้งคะแนนเสียงส่วนใหญ่ พรรคที่ชนะก็จะชนะขาดลอย คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลเดี่ยวได้ เช่น ในการเลือกตั้งของสหรัฐฯ และ อังกฤษ หรืออีกหลายชาติในยุโรป ที่จะมีพรรคใหญ่อยู่เพียง 2 พรรค รัฐบาลมีเพียง 2 ขั้ว

แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ประชาชนมีแนวคิดที่หลากหลาย พรรคการเมืองมีจำนวนมากขึ้น การจะชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงที่เกินกึ่งหนึ่งจึงเป็นไปได้ยากตาม แต่ในบางช่วงเวลา อาจเกิดพรรคตัวแปรขึ้นมา จนทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า Hung Parliament หรือ “ภาวะสภาแขวน” หรือ ไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาดหรือเกินกึ่งหนึ่ง

ทำให้รัฐบาลที่ชนะคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 ต้องเจรจาจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคการเมืองอื่น ๆ

การเมืองของไทยที่ผ่านมาก็เป็นเช่นนั้น ที่พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง มีคะแนนเสียงมากเป็นอันดับ 1 และได้สิทธิจัดตั้งรัฐบาล เมื่อต้องเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาล มักจะตกลงถึงผลประโยชน์ทางการเมือง และเก้าอี้ในกระทรวงที่แต่ละพรรคต้องรับผิดชอบผ่าน “การเจรจา” เท่านั้น 

เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2566 1 วันหลังการเลือกตั้งทั่วไปของไทย “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศถึงชัยชนะของพรรค และพร้อมที่จะจัดตั้งรัฐบาลผสม ผ่าน MoU หรือการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding) ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ถือเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในทางการเมืองของไทย

หาก “พิธา” สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมได้สำเร็จ การทำ MoU ของพรรคร่วมรัฐบาล จะถือเป็นครั้งแรกของการเมืองไทยที่ถูกนำมาใช้ แต่ในต่างประเทศนั้น การทำ MoU ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น และมีรัฐบาลหลายประเทศในโลกที่นำมาใช้ 

รัฐบาลผสมประเทศใดบ้างที่ใช้ MoU

1. สหราชอาณาจักร

ปี 2553 ในการเลือกตั้งทั่วไป พรรคคอนเซอร์เวทีฟของ เดวิด คาเมรอน ได้คะแนนเสียงมากที่สุดแต่ไม่ได้ครองเสียงส่วนใหญ่อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จึงตัดสินใจจัดตั้งรัฐบาลผสมกับ พรรคลิเบอรัลเดโมแครต ของ นิก เคลกก์ จึงทำให้เกิด “ภาวะสภาแขวน” และทำ MoU ชื่อ “Coalition Agreement for Stability and Reform” ซึ่งครอบคลุมนโยบายต่างๆ ที่ทั้ง 2 ฝ่าย เห็นร่วมกัน ตำแหน่งและหลักการที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน สะท้อนถึงการสนับสนุนกันของแต่ละฝ่าย 

ปี 2558 เทเรซา เมย์ นำพรรคคอนเซเวทีฟคว้าชัยชนะเลือกตั้งแต่ไม่สามารถครองเสียงข้างมากเกินครึ่งได้ เมย์ จึงตัดสินใจจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับ พรรคสหภาพประชาธิปไตย หรือ DUP ที่มีขนาดใหญ่ลำดับที่ 5 ด้วยจำนวน ส.ส. 10 ที่นั่ง ผ่านการลงนามใน MoU ชื่อ “Confidence and Supply Agreement”

รัฐบาลผสมสหราชอาณาจักร

รัฐบาลผสมสหราชอาณาจักร

2. เยอรมนี

ปี 2564 เกิดรัฐบาลผสมระหว่าง พรรคโซเชียลเดโมแครต, พรรคกรีน, พรรคฟรีเดโมแครต ทั้ง 3 พรรคภายใต้ MoU จำนวนกว่า 177 หน้า “Dare more progress – Alliance for Freedom, Justice and Sustainability” เป็นแบบร่างแผนการบริหารประเทศตลอดระยะเวลา 4 ปี ถือเป็นการล้มรัฐบาลจากพรรคสหภาพคริสเตียนเดโมแครต ของ อังเกลา แมร์เคิล ที่บริหารแผ่นดินมายาวนานกว่า 16 ปี

รัฐบาลผสมเยอรมนี

รัฐบาลผสมเยอรมนี

3. มาเลเซีย

ผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 15 ของมาเลเซีย ทำให้เกิด ภาวะสภาแขวน เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองมาเลเซีย เนื่องจากไม่มีพรรคใดชนะขาดการเลือกตั้งและมีเสียงข้างมากในสภา อันวาร์ อิบราฮิม เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลผสม ทำให้เกิดรัฐบาลผสมของพรรคใหญ่ และสาบานตนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 พ.ย.2565 พรรคร่วมรัฐบาลได้ลงนาม MoU ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนการบริหารของ อันวาร์ ในทุกเรื่อง “Confidence and Supply” รายละเอียดคือ ตกลงที่จะลงคะแนนเสียงให้กับรัฐบาลหรืองดเว้นการออกเสียงเมื่อมีการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาล และที่น่าสนใจที่สุดคือ 

อันวาร์ ต้องปรึกษาหัวหน้าคนอื่นๆ ในรัฐบาลผสมก่อนที่จะทำการแต่งตั้งและถอดถอนคณะรัฐมนตรี แต่ในทางกลับกัน พรรคร่วมอื่นๆ เหล่านี้ต้องให้การสนับสนุนต่อ อันวาร์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย

รัฐบาลผสมมาเลเซีย

รัฐบาลผสมมาเลเซีย

4. นิวซีแลนด์

แม้ว่าผลการเลือกตั้งในเดือน พ.ย.2563 พรรคแรงงานของ จาซินดา อาร์เดิร์น จะชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในรอบครึ่งศตวรรษของนิวซีแลนด์ แต่การก่อตั้งรัฐบาลผสมถือเป็นบรรทัดฐานในนิวซีแลนด์ ที่มีมาตั้งแต่ปี 2539 รัฐบาลแม้ว่าจะเป็นเสียงข้างมากของ อาเดิร์น จึงเลือกลงนาม MoU กับพรรคกรีน เพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม โดยที่ อาร์เดิร์น เสนอตำแหน่งรัฐมนตรีให้พรรคกรีน 2 ตำแหน่ง และเปิดทางให้พันธมิตรที่เป็นแนวร่วมมีอิสระมากขึ้น

สิ่งพิเศษคือเราทั้งคู่เห็นพ้องต้องกันว่า จริงๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องกัน

สถาบัน McGuinness ของนิวซีแลนด์ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับข้อตกลงพรรคการเมือง ที่มีการใช้ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม (Mixed-Member Proportional representation — MMP) ระบุว่า พรรคการเมืองทำข้อตกลงเหล่านี้เพื่อจัดตั้งรัฐบาล การจัดตั้งรัฐบาลเป็นกระบวนการทางการเมืองที่จัดการโดยพรรคการเมือง ในขณะที่การแต่งตั้งรัฐบาลเป็นกระบวนการทางกฎหมายที่จัดการโดยผู้สำเร็จราชการ กระบวนการทางการเมืองเริ่มต้นตั้งแต่วันเลือกตั้งและจบลงด้วยการแต่งตั้งรัฐบาล 

รัฐบาลผสมนิวซีแลนด์

รัฐบาลผสมนิวซีแลนด์

5. เคนยา

หลังจากการประกาศยุติการปกครองประเทศที่ยาวนาน 24 ปี ของ ปธน.ดาเนียล อาราป มอย ในเดือน ต.ค.2545  เคนยา มีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีและสภานิติบัญญัติ ในวันที่ 27 ธ.ค.2545 เกิดการแข่งขันจากพรรคการเมืองหลายพรรคและสร้างความวุ่นวายในการหาเสียง จนกระทั่ง 2 สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้ง พรรคการเมืองจากฝ่ายค้าน 10 พรรค ได้ลงนามในจรรยาบรรณการเลือกตั้ง ท่ามกลางเหตุการณ์ความรุนแรง จนชนะการเลือกตั้งเพราะความสามัคคี 

โดยสาระสำคัญในการทำ MoU ของพรรค National Alliance Party of Kenya (NAK) และ Liberal Democratic Party (LDP) คือ นักการเมืองหลากชาติพันธุ์ได้ตกลงที่จะจัดตั้งรัฐบาลผสม หาก พวกเขาชนะการเลือกตั้ง และจะตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างเท่าเทียมกัน MoU นี้ชื่อว่า “National Rainbow Coalition (NARC)” ซึ่ง MoU นี้ ทำให้ทั้ง 2 พรรครับชัยชนะในการเลือกตั้ง 2545

ถือว่าเป็นการร่วมมือกันของพรรคการเมืองเป็นครั้งแรก เพื่อล้มล้างรัฐบาลที่ปกครองประเทศและผู้นำที่ครองอำนาจและคอร์รัปชันมาอย่างยาวนาน

รัฐบาลผสมเคนยา

รัฐบาลผสมเคนยา

อะไรคือ MoU 

ข้อมูลจาก BBC ระบุ นายคณพศ เฟื่องฟุ้ง ผู้อำนวยการกองกฎหมาย มหาวิทยาลัยมหิดล เคยเขียนบทความอธิบายความแตกต่างระหว่าง “บันทึกความเข้าใจ” หรือ MoU (Memorandum of Understanding) และ “บันทึกข้อตกลง” MoA (Memorandum of Agreement) ดังนี้

  • บันทึกความเข้าใจ (MoU) หมายถึง การจัดทำหนังสือโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแสดงความสมัครใจจะปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใด และตามเงื่อนไขที่ปรากฏอยู่ในหนังสือนั้นกับอีกฝ่ายหนึ่ง โดยหนังสือไม่ได้เป็นสัญญาผูกมัด แต่แสดงความต้องการอันแน่วแน่ของผู้ลงนามว่าจะปฏิบัติดังที่ได้ระบุไว้ และอีกฝ่ายหนึ่งก็มีความเข้าใจเดียวกัน หากฝ่ายใดมิได้ปฏิบัติตามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว อีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่สามารถฟ้องร้องในคดีได้ 
  • บันทึกข้อตกลง (MoA) คือ หนังสือหรือสัญญา ที่มีข้อความที่ระบุเป็นหลักเกณฑ์หรือวิธีการให้บุคคลที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติหรือดำเนินการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามที่ตกลง หรือ ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ในทางกฏหมาย บันทึกข้อตกลงมีกฎหมายคุ้มครองอยู่แล้ว เพราะข้อตกลงเป็นสัญญา หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประพฤติผิดสัญญาอีกฝ่ายหนึ่งก็สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้

ที่มา : BBC, ThaiPublica

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่