วันนี้ (21 พ.ค.2566) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการเผยแพร่เอกสารที่อ้างว่าเป็นโผ “ครม.พิธา 1” ในโซเชียลมีเดีย ทำให้แกนนำพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ต่างออกมาปฏิเสธถึงที่มา โดยอ้างอิงถึงกลุ่มคนที่มีเจตนาปล่อยข่าวเพื่อสร้างความสับสน
สำหรับโผ ครม.พิธา 1 ที่ถูกเผยแพร่ ระบุว่า พรรคก้าวไกล ถูกจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีไว้ 17 เก้าอี้ อาทิ กระทรวงกลาโหม, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงการคลัง, กระทรวงพลังงาน, กระทรวงดิจิทัลฯ รวมถึง 2 เก้าอี้รองนายกฯ ด้านความมั่นคง และเศรษฐกิจ
ขณะที่พรรคเพื่อไทย ถูกจัดสรรไว้ 15 เก้าอี้ อาทิ รองนายกฯ ด้านกฎหมาย และสาธารณสุข, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงคมนาคม, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงการต่างประเทศ ที่มีชื่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย นั่งเป็นเจ้ากระทรวง
ขณะเดียวกันยังปรากฎชื่อ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช นั่งรองนายกฯ ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง นั่งรองนายกฯ ในนามพรรคประชาชาติ กำกับดูแลงาน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
ส่วนการฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาล ขณะนี้ยังเป็นพรรคการเมือง 8 พรรคเดิม ด้วยจำนวนเสียง 313 เสียง หลังจากเกิดเหตุการณ์ดีลล่มกับ 2 พรรคการเมือง คือ พรรคชาติพัฒนากล้า และพรรคใหม่
อ่านข่าว : เลือกตั้ง2566 : เลขาฯก้าวไกล ยัน 313 เสียงพอตั้งรัฐบาล-เดินหน้าคุย ส.ว.ขอเสียงหนุน
“พิธา” นำทีม 8 พรรคแถลง MOU พรุ่งนี้
สำหรับการจัดทำข้อตกลง หรือ MOU ยังไร้ข้อสรุป โดยมีรายงานว่าวันที่ 22 พ.ค.นี้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นัดหารือกับแกนนำพรรคการเมือง 8 พรรค คือ ก้าวไกล, เพื่อไทย, ประชาชาติ, ไทยสร้างไทย, เสรีรวมไทย, เป็นธรรม, พลังสังคมใหม่ และเพื่อไทรวมพลัง สืบเนื่องจากนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองที่จัดส่งให้กับพรรคก้าวไกล เพื่อรวบรวมจัดทำเป็นข้อตกลงในการขับเคลื่อนงานของรัฐบาล มีความหลากหลาย ทับซ้อน และคาบเกี่ยวกันอยู่หลายเรื่อง
โดยเฉพาะประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ยังไม่ชี้ชัดว่าจะแก้ไขมาตรา 112 หรือไม่ หรือประเด็นการกระจายอำนาจ ที่พรรคก้าวไกลต้องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ แต่พรรคเพื่อไทยเสนอให้นำร่องเลือกตั้งผู้ว่าฯ บางจังหวัดก่อน
หรือแม้แต่ประเด็นการถือครองที่ดิน ส.ป.ก.4-10 และออกโฉนด ภ.บ.ท. 5 ที่พรรคเล็กเรียกร้อง เช่นเดียวกับประเด็นเกี่ยวกับสุราเสรี และการสมรสเท่าเทียม ที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ไม่เห็นด้วย
โดยหัวหน้าพรรคประชาชาติ อ้างอิงว่า ประเด็นนี้จะกระทบกับหลักของศาสนา จึงอยากให้ทบทวนให้รอบคอบ ก่อนแสดงความมั่นใจว่าพรรคการเมือง 8 พรรค 313 เสียง จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้แบบไร้ปัญหา อีกทั้งสัญญาณจาก ส.ว.บางส่วนก็เตรียมยกมือสนับสนุนให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ด้วย ก่อนจะย้ำว่าขณะนี้ยังไม่มีการพูดคุยถึงตำแหน่งเก้าอี้รัฐมนตรี เพราะขณะนี้ต้องโฟกัสไปที่การเดินหน้าจัดทำ MOU ให้แล้วเสร็จก่อน
ทั้งนี้ตามกำหนดนายพิธา จะนำทีมแกนนำพรรคการเมือง 8 พรรค ร่วมเซ็น MOU ก่อนจะแถลงรายละเอียดของเนื้อหา โดยมีรายงานว่า 8 พรรคการเมืองเลือกที่จะแถลงข่าวในเวลา 16.00 น.ของวันที่ 22 พ.ค.นี้ เนื่องจากตรงกับวันครบรอบ 9 ปี เหตุการณ์ยึดอำนาจ-รัฐประหาร เพื่อต้องการประกาศอิสรภาพของประชาธิปไตย
อ่านข่าวอื่นๆ
เลือกตั้ง2566 : เกิดอะไรขึ้นกับ “พรรคก้าวไกล” ใน 7 วัน หลังเลือกตั้ง
เลือกตั้ง2566 : “กรณ์” โพสต์ถูกด่าฟรี ยันไม่เคยติดต่อขอร่วมรัฐบาลก้าวไกล
เลือกตั้ง2566 : “พรรคใหม่” ถอนตัวร่วมรัฐบาลกับ “ก้าวไกล” – ยังโหวต “พิธา” เป็นนายกฯ