หน้าแรก Thai PBS “ตรีนุช” ย้ำ ศธ.ไม่บังคับแต่งลูกเสือ-เนตรนารี-ยุวกาชาด ตั้งแต่ปี 65

“ตรีนุช” ย้ำ ศธ.ไม่บังคับแต่งลูกเสือ-เนตรนารี-ยุวกาชาด ตั้งแต่ปี 65

89
0
“ตรีนุช”-ย้ำ-ศธ.ไม่บังคับแต่งลูกเสือ-เนตรนารี-ยุวกาชาด-ตั้งแต่ปี-65

วันนี้ (21 พ.ค.2566) น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงการแต่งเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาด ว่า ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีหนังสือสั่งการไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ให้สื่อสารซักซ้อมความเข้าใจการแต่งเครื่องแบบลูกเสือ ยุวกาชาด โดยให้โรงเรียนดำเนินการอย่างยืดหยุ่น ไม่สร้างภาระให้แก่ผู้ปกครอง

การเรียนวิชาลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาด ที่มีเครื่องแบบ ไม่จำเป็นต้องแต่งเครื่องแบบครบชุด แต่ขอให้มีสัญลักษณ์เฉพาะบ่งบอกให้รู้ว่าเด็กได้เรียนวิชาลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาด เช่น มีผ้าผูกคอผืนเดียวได้ เพราะเป้าหมายสำคัญของการเรียนวิชานี้อยู่ที่กิจกรรม จิตอาสา การบำเพ็ญประโยชน์ให้กับสังคม การเสียสละ มากกว่าการให้ความสำคัญกับชุดยูนิฟอร์ม และขณะนี้สถานศึกษาหลายแห่งก็ได้ปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวอยู่แล้ว

น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า ขณะนี้ได้เปิดภาคเรียนใหม่ในปีการศึกษา 2566 แล้ว ซึ่งสถานศึกษาทุกแห่งได้รับเงินอุดหนุนรายหัวการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเงินอุดหนุนโครงการอาหารกลางวันในอัตราใหม่ที่รัฐบาลได้ปรับเพิ่มขึ้นให้ ดังนั้นขอให้สถานศึกษาทุกแห่งใช้งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรมาอย่างคุ้มค่า โปร่งใส่ ตรวจสอบได้ ทั้งในเรื่องของการบริหารจัดการศึกษา การจัดการเรียนการสอน การจัดเมนูอาหารกลางวันให้เด็กได้รับอาหารครบ 5 หมู่ เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ตามช่วงวัย ที่สำคัญสิ่งใดที่ไม่จำเป็นและเป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้ปกครอง ขอให้สถานศึกษางด ยกเว้น และยืดหยุ่นให้มากที่สุด

ที่ผ่านมา ศธ.ได้ผ่อนคลายกฎระเบียบต่าง ๆ ให้สถานศึกษาสามารถบริหารจัดการศึกษาได้อย่างคล่องตัว สอดรับกับบริบทของพื้นที่ที่มีความหลากหลายแตกต่างกัน รวมถึงมีการปรับปรุงกฎ ระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับนักเรียน ให้มีความยืดหยุ่นขึ้น ไม่บังคับ เช่น เรื่องทรงผมของนักเรียน ก็ได้มีการยกเลิกระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 แล้วให้สถานศึกษาแต่ละแห่งกำหนดเป็นระเบียบ หรือข้อบังคับของสถานศึกษาแต่ละแห่งเอง โดยการออกระเบียบ หรือข้อบังคับต่าง ๆ ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตามหลักการมีส่วนร่วม เช่น นักเรียน คณะกรรมการสภานักเรียน คณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครอง หรือผู้แทนผู้ปกครอง ชุมชนท้องถิ่น บุคคลหรือ กลุ่มบุคคลอื่นใดที่หัวหน้าสถานศึกษาเห็นสมควร และเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา หรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียนก่อนการประกาศใช้

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่