วันนี้ (23 พ.ค.2566) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ตอบคำถามสื่อมวลชนประเด็นการเมืองถึงกรณีนายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า โต้แย้งบางประเด็นในเนื้อหา MOU
โดยนายพิธา ระบุว่า เข้าใจความกังวลใจของนายปิยบุตร แต่ข้อความก็คือข้อความ เนื้อหาใน MOU ก็สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ รวมทั้งคิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร
เมื่อถามว่าสาเหตุที่การแถลงข่าวเมื่อวานนี้ ล่าช้ากว่ากำหนด ก็มีการแก้ไขเนื้อหาบางส่วน รวมถึงตัดประเด็นนิรโทษกรรมออกใช่หรือไม่ นายพิธา ระบุว่า ไม่ใช่แค่นั้น เพราะยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้ล่าช้า รวมถึงประเด็นกัญชาที่ต้องมาแก้ในวินาทีสุดท้าย
เมื่อถามถึงขั้นตอนต่อไปหลังจากลงนาม MOU แล้วคืออะไรบ้าง นายพิธา ระบุว่า คงต้องเป็นการเดินสาย พบพี่น้องประชาชนกลุ่มต่างๆ ขณะที่คณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลก็ไม่ได้มีเพียงพรรคก้าวไกล ในการพบปะหารือครั้งต่อไปจึงจะเชิญพรรคร่วมรัฐบาลมาฟังปัญหาจากผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อจัดทำนโยบายรวมแถลงต่อรัฐสภาและนำเอาผู้มีความรู้จริงมาบริหารกระทรวงที่เหมาะสม
เมื่อถามว่าจะสามารถคืนความมั่นใจของนักลงทุนได้อย่างไร เนื่องจากหลังเลือกตั้งหุ้นตกลงอย่างต่อเนื่อง นายพิธา ระบุว่า สิ่งที่น่ากังวลตอนนี้ไม่ใช่เรื่องศักยภาพของประเทศ แต่เป็นความผันผวนทางการเมือง
เพราะเท่าที่ผ่านมา เคยมีพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งแต่ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่แน่นอน จึงต้องเร่งสร้างความมั่นใจว่าระบบการเมืองมีความแน่นอน สะท้อนเจตจำนงของประชาชน จึงจะสามารถคืนเสถียรภาพของการลงทุนกลับมาได้
“พิธา” ผลักดัน 300 นโยบายก้าวไกล
นายพิธา กล่าวถึงการลงนาม MOU ในการจัดตั้งรัฐบาล ว่าการจัดทำบันทึกความเข้าใจของพรรคร่วมรัฐบาลเป็นการทำงานในวาระร่วมกันขั้นต่ำ ในส่วนของพรรคก้าวไกลมีกว่า 300 นโยบาย ซึ่งการทำงานที่เป็นวาระร่วมกัน 23 ข้อ และยังมีอีกหลายวาระเฉพาะของพรรคก้าวไกลที่จะขับเคลื่อนผ่านกลไกการบริหาร ในฐานะตนเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่บริหารจัดการให้วาระของพรรคก้าวไกลที่ได้นำเสนอไว้ให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
รวมถึงรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลที่จะอยู่ในกระทรวงต่างๆ ในการผลักดันวาระ ที่จะดูแลนโยบายที่พรรคก้าวไกลเคยนำเสนอเอาไว้ และที่พรรคก้าวไกลอาจจะไม่ได้อยู่ในกระทรวงที่ต้องการขับเคลื่อนนโยบายโดยตรง แต่จะประสานงานผ่านรัฐบาลร่วม ให้ช่วยผักดันนโยบายให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติผ่าน ส.ส.ที่พรรคก้าวไกล 152 คน เชื่อว่าจะผ่านกฎหมายเพื่อให้เกิดการถกเถียง มีกรรมาธิการ ใช้กลไกฝ่ายนิติบัญญัติเข้ามาขับเคลื่อน เช่น พ.ร.บ น้ำสะอาด พ.ร.บ คำนำหน้าทางเพศ ย้ำว่า การที่มี MOU จึงเป็นวาระร่วมที่ประชาชนจะคาดหวังได้ ส่วนหลายประเด็นที่ประชาชน ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายก้าวหน้ารัฐบาลยังมี วาระเฉพาะที่สามารถจะผลักดันได้
ส่วนขั้นตอนภายหลังที่พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้ลงนามใน MOU ร่วมกันแล้วนั้น การแต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรี รวมถึงการฟอร์มคณะรัฐมนตรี เพื่อไม่ให้กระทบต่อเศรษฐกิจไทย นั้น นายพิธา ชี้แจงว่า ระหว่างนี้ จะยังคงเดินสายพบปะประชาชน และต่อไปจะเชิญพรรคร่วมมาร่วมรับฟังกันมากขึ้น เพราะรัฐบาลจะต้องทำนโยบายร่วม ซึ่งการแต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร และคณะรัฐมนตรีนั้นจะคำนึงถึงบุคคลที่มีความเหมาะสมกับตำแหน่งแน่นอน
หุ้นตกเพราะการเมืองไทยไม่แน่นอน
และความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนั้น ก็เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมือง และระบบที่ผู้ชนะเลือกตั้ง จะสามารถตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ ซึ่งเป็นผลกระทบต่อจากรัฐธรรมนูญ 2560 ดังนั้น หากเจตจำนงประชาชนภายหลังการเลือกตั้งไม่สูญเปล่า ตลาดเศรษฐกิจ และตลาดการเงินของไทยไปต่อได้แน่นอน
นอกจากนี้ นายพิธา ยังกล่าวถึงการทำงานของคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล หรือ Transition Team ได้เริ่มจากการพบปะพูดคุยกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้หารือกันหลายประเด็นทั้งเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในการสนับสนุน SME การหาแรงงานได้ตรงกับความต้องการ รวมถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ตามค่าเงินเฟ้อ หรือการเติบโตของ GDP พร้อมยืนยันว่าพรรคก้าวไกลจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อบรรเทาทุกข์ประชาชนในช่วงของแพง ค่าแรงถูก
ซึ่งพรรคก้าวไกลเสนอ 450 บาท พรรคเพื่อไทย เสนอ 600 บาท แต่ยังมีมุมของผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจเรื่องการสมทบเงินประกันสังคม 6 เดือนแรก การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2 เท่า 2 ปีสามารถที่จะหักภาษีได้ หรือมาตรการลดภาษีให้กับ SME ซึ่งทั้งหมดเป็นภาพใหญ่ในการประชุมของสภาอุตสาหกรรม
“ต้องยืนยันว่าเรายังเดินหน้าเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลผสม ตอนนี้กำลังเดินหน้ารับฟัง โดยในช่วงวันศุกร์นี้ (26 พ.ค.) จะพูดคุยกับหอการค้าแรงงาน สภา SME สภาแรงงาน เพื่อรับฟังอย่างรอบคอบ เรื่องค่าแรงขั้นต่ำมีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นและต้องขึ้นอย่างสม่ำเสมอโดยอัตโนมัติเพื่อเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ทั้งกลุ่มนายจ้างที่จะควบคุมต้นทุนของตัวเองได้เพราะไม่ได้ขึ้นแรงมาก แต่ใช้วิธีการขึ้นน้อยและขึ้นบ่อย ส่วนลูกจ้างจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพพลังงานเกิดขึ้นได้จริง” นายพิธา กล่าว
อ่านข่าวเพิ่ม :
เลือกตั้ง2566 : “พิธา” นั่งวินไปสภาอุตฯ หารือขึ้นค่าแรง ไม่กังวลผลโหวตของ ส.ว.
เลือกตั้ง2566 : ไขความหมาย MOU 8 พรรคร่วม “พลิ้ว” ได้หรือไม่
เลือกตั้ง2566 : วินาทีประวัติศาสตร์ 8 พรรคลงนาม MOU ตั้ง “รัฐบาลก้าวไกล” ตัดมาตรา 112