หน้าแรก Voice TV ส.ว.ปัดตก ‘สถาพร’ ชวดเก้าอี้ ป.ป.ช. บัตรสนเท่ห์ชี้ช่องขาดคุณสมบัติ ทั้งที่ผ่านด่านหินสรรหา

ส.ว.ปัดตก ‘สถาพร’ ชวดเก้าอี้ ป.ป.ช. บัตรสนเท่ห์ชี้ช่องขาดคุณสมบัติ ทั้งที่ผ่านด่านหินสรรหา

86
0
สวปัดตก-‘สถาพร’-ชวดเก้าอี้-ปปช.-บัตรสนเท่ห์ชี้ช่องขาดคุณสมบัติ-ทั้งที่ผ่านด่านหินสรรหา

สำรวจขั้นตอนการคัดสรร ‘กรรมการ ปปปชป’ และการปัดตก สถาพร วิสาพรหม ผู้ผ่านทุกด่านโหดหินในกระบวนการคัดเลือก แต่กลับถูกปัดตกในชั้น ส.ว. และนี่ไม่ใช่การปัดตกผู้ผ่านการสรรหาจนถูกเสนอชื่อเป็น ป.ป.ช.ครั้งแรก แต่เป็นครั้งที่ 3 แล้ว

ที่ประชุมวุฒิสภา เปิดประชุมวิสามัญ (23 พ.ค.) ประชุมลับและลงมติ ‘ไม่รับรอง’ กรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  1 คน คือ สถาพร วิสาพรหม รองประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ด้วยคะแนนเห็นชอบ 41 เสียง ไม่เห็นชอบ 138 เสียง งดออกเสียง 27 คน

สถาพร คือ บุคคลที่ถูกสรรหามาเพื่อทดแทนตำแหน่งของ ณรงค์ รัฐอมฤต หนึ่งในกรรมการ ปปช. ได้พ้นจากตำแหน่งตั้งแต่เดือน พ.ย.2565 เนื่องจากครบวาระดำรงตำแหน่ง 9 ปี

การตีตกครั้งนี้ไม่ธรรมดา เพราะสถาพร นับว่าผ่านการสรรหาจาก ‘ด่านหิน’ คณะกรรมการสรรหา โดยเอาชนะคู่แข่งถึง 20 คน ท่ามกลางกระบวนการอย่างแน่นหนา แต่ในการปัดตกครั้งนี้อาศัยเพียง ‘บัตรสนเท่ห์’ ที่ลงชื่อผู้ช่วยผู้พิพากษารุ่นที่ 29 รุ่นเดียวกับสถาพร ร้องเรียนว่า สถาพรไม่มีคุณสมบัติในการเป็นกรรมการ ป.ป.ช. เนื่องจากไม่เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลใดมาก่อนตามกฎหมายกำหนด

คณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. ประกอบด้วย 9 คน คือ 

  • 1 ประธานศาลฎีกา (เป็นประธาน)
  • 1 ประธานสภาผู้แทนราฎร 
  • 1 ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร 
  • 1 ประธานศาลปกครองสูงสุด  
  • 5 คน ซึ่งเป็นบุคคลที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระอื่นที่ไม่ใช่ ป.ป.ช.ส่งตัวแทน   

การคัดสรรก่อนถึงมือ ส.ว. นั้น คณะกรรมการสรรหาต้องลงคะแนนให้ถึง 2 ใน 3 จึงจะได้ผู้สมควรดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช. การลงคะแนนเป็นไปถึง 3 รอบ และสถาพรได้คะแนน 6 คะแนน โดยกรรมการสรรหาที่ลงคะแนนให้ ได้ให้ความเห็นในเอกสารบันทึกเหตุผล ดังนี้

1. ศาลฎีกา (โชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ)

“เป็นผู้พิพากษา มีประสบการณ์การทำงาน มีความรู้ ความสามารถเหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ ป.ป.ช.”

2. ผู้นำฝ่ายค้าน (ชลน่าน ศรีแก้ว)

“มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ มีคุณบัติครบถ้วน ไม่มีลักษณะต้องห้าม แสดงวิสัยทัศน์และตอบคำถามในหน้าที่และอำนาจได้ดี” 

3. ประธานศาลปกครองสูงสุด (ศ.พิเศษ วรพจน์ วิศรุตพิชญ์)

“พิจารณาคุณสมบัติ ประวัติการทำงาน ประสบการณ์ที่ได้จากการดำรงตำแหน่งต่างๆ ที่ผ่านมา วิสัยทัศน์ทั้งที่ได้แสดงไว้เป็นลายลักษณ์อักษรและด้วยวาจา ตลอดจนความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่สมัครแล้ว เห็นว่า ผู้สมัครน่าจะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรมตามที่พึงเป็น”

4. ผู้รับแต่งตั้งจากผู้ตรวจการแผ่นดิน (พลตำรวจเอกศักดา ชื่นภักดี)  

“มีพฤติกรรมทางจริยธรรมดี มีทัศนคติที่เหมาะสม ที่จะปฏิบัติหน้าที่”

5. ผู้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (วิทูรัช ศรีนาม)  

“มีความเหมาะสมมากที่สุด”

6. ผู้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (บุญสม อัครธรรมกุล)

“มีวิสัยัทัศน์ ความซื่อสัตย์ และตรงไปตรงมา”

ก่อนจะมาถึงการโหวตของกรรมการสรรหา ต้องผ่านด่านคณะกรรมมาธิการสามัญ ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ของผู้สมัครตำแหน่ง ป.ป.ช. และยังต้องส่งประวัติผู้สมัครไปยัง 27 หน่วยงาน เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม รวมทั้งส่งรายชื่อไปยัง 19 หน่วยงาน เพื่อตรวจสอบพฤติการณ์ของผู้สมัคร ไม่เพียงเท่านั้น ยังส่งหนังสือไปยัง ส.ส., ส.ว., ส่วนราชการ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เพื่อขอให้ช่วยประชาสัมพันธ์การตรวจสอบด้วย

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการคือ รายงานของกรุงเทพธุรกิจที่เปิดเผยการแสดงวิสัยทัศน์ของสถาพรต่อคณะกรรมการสรรหา ความตอนหนึ่งระบุว่า การดำเนินงานของ ป.ป.ช.ต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ชัดเจน และการทำงานออกมาจะต้องเป็นที่ยอมรับในความเป็นธรรมการทำคำวินิจฉัยเป็นสิ่งที่อยู่บนพื้นฐานข้อเจจริงและข้อกฎหมายที่ชัดเจน ไม่คำนึงว่าเป็นใคร มีตำแหน่งไหน อยู่ฝ่ายใด เมื่อนั้นจะสร้างให้เกิดการยอมรับของทุกภาคส่วนได้ คำวิพากษ์วิจารณ์หรือความไม่สบายใจในสิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฎจะลดน้อยลงและอาจจะหายไปในที่สุด

ทั้งหมดนี้คือกระบวนการตรวจสอบทั้งหมดที่ผ่านมา แล้วปิดท้ายด้วย ‘การปัดตกของ ส.ว.’ ที่สังคมยังรอคำอธิบายต่างๆ ที่หนักแน่น เนื่องจากเป็นการประชุมและลงมติลับซึ่งสื่อและประชาชนไม่อาจตรวจสอบ และนี่ไม่ใช่การปัดตกผู้ผ่านการสรรหาจนถูกเสนอชื่อเป็น ป.ป.ช.ครั้งแรก แต่เป็นครั้งที่ 3 แล้ว

รายละเอียดขั้นตอนสรรหาสุดหิน ก่อน ส.ว.ปัดตก

หลัง ณรงค์ รัฐอมฤต หนึ่งในกรรมการ ป.ป.ช. พ้นตำแหน่ง เมื่อ 28 พฤศจิกายน  2565 กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการคัดเลือกกรรมการเข้ามาแทนที่ ภายใน 120 วัน โดยมีกระบวนการดังนี้ 

ขั้นที่ 1 – 30 ม.ค.2566 ที่ประชมวุฒิสภาครั้งที่ 20  มีมติตั้งคณะกรรมมาธิการสามัญ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ของผู้ที่ได้รับเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช. โดยมี พลเอกอู้ด เบื้องบน เป็นประธาน

ขั้นที่ 2 – คณะกรรมการสรรหา เปิดรับบุคคลที่มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย 21 พ.ย. – 5 ธ.ค. 2565 มีผู้สมัครทั้งหมด 21 คน ดังนี้

  1. เนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด 
  2. สถาพร วิสาพรหม รองประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
  3. นุจรินทร์ จันทร์พรายศรี อดีตรองประธานศาลฎีกา 
  4. ณัฏฐพงศ์ สุวรรณพาณิชย์ อดีตอธิบดีอัยการคดีค้ามนุษย์ 
  5. เอกวิทย์ วัชชวัลคุ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 
  6. ภัทรศักดิ์ วรรณแสง รองประธานศาลฎีกา 
  7. ทองชัย ชวลิตพิเชฐ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม 
  8. พันตำรวจเอกดุษฎี อารยวุฒิ อดีตเลขาธิการ ป.ป.ท.
  9. กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม 
  10. พลตำรวจเอกวิทยา ประยงค์พันธุ์ อดีตที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 
  11. พลตำรวจตรีจักรพงศ์ วิวัฒน์วานิช อดีตอธิบดีคณะนิติศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
  12. สมศักดิ์ วรวิจักร ทนายความ 
  13. นิวัตร เรืองพยุงศักดิ์ ทนายความ 
  14. ว่าที่ร้อยตรีอำนวย อุปถัมป์ ทนายความอิสระ 
  15. พันตำรวจเอกมนัส นครศรี อดีตรองผู้บังคับการ กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 
  16. สมบัติ ธรธรรม ทนายความ ที่ปรึกษากฎหมายอิสระ 
  17. ประหยัด เสนวิรัช ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายประหยัดทนายความ 
  18. สาธิต อุไรเวโรจนากร ผู้สอบบัญชีอิสระ 
  19. วิฑูลรย์ ศิริวิโรจน์ ทนายความ 
  20. พัลลภ ศักดิ์โสภณกุล อดีตรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ 
  21. สมหมาย ลักขณานุรักษ์ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ 

ขั้นที่ 3 – ส่งรายชื่อผู้สมัครทั้ง 21 คน ไปยัง 27 หน่วยงาน เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และส่งรายชื่อไปยัง 19 หน่วยงาน เพื่อตรวจสอบพฤติการณ์ของผู้สมัคร รวมทั้งส่งหนังสือไปยัง ส.ส., ส.ว., ส่วนราชการ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เพื่อขอให้ช่วยประชาสัมพันธ์การตรวจสอบ 

ขั้นที่ 4 – คณะกรรมการสรรหา พิจารณาวินิจฉัยคุณสมบัติของผู้สมัครทั้ง 21 คน ปรากฏว่า มีผู้สมัคร 15 คนที่ผ่านคุณสมบัติ ตามมาตรา 9 และมาตรา 10  รวมทั้งไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 11  ดังนี้ 

ทั้งนี้ มาตรา 9 (1) กำหนดว่า ต้องรับราชการ หรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษา อธิบดีศาลปกครองชั้นต้น ตุลาการพระธรรมนูญหัวหน้าศาลทหารกลาง หรืออธิบดีอัยการ ไม่น้อยกว่า 5 ปี ผู้ที่ผ่านการคัดเลือก 6 คน ได้แก่ 

  1. เนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด 
  2. สถาพร วิสาพรหม รองประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
  3. นุจรินทร์ จันทร์พรายศรี อดีตรองประธานศาลฎีกา 
  4. ณัฏฐพงศ์ สุวรรณพาณิชย์ อดีตอธิบดีอัยการคดีค้ามนุษย์ 
  5. เอกวิทย์ วัชชวัลคุ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 
  6. ภัทรศักดิ์ วรรณแสง รองประธานศาลฎีกา 

ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติตามมาตาาม 9 (2)  คือ รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ตำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการ ไม่น้อยกว่า 5 ปี  มี 1 คน ได้แก่

  1. กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติตามมาตรา  9 (4)  และมาตรา 10 รวมทั้งไม่มีลักษณะต้องห้าม มี 1 คน ได้แก่ 

  1. พลตำรวจตรีจักรพงศ์ วิวัฒน์วานิช อดีตอธิบดีคณะนิติศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ

ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติตามมาตรา  9 (5)  และมาตรา 10 คือ เป็นหรือเคยเป็นผู้ประกอบอาชีพที่มีกฎหมายรับรอง และทำงานต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 20 ปี มี 7 คน ได้แก่ 

  1. สมศักดิ์ วรวิจักร ทนายความ 
  2. นิวัตร เรืองพยุงศักดิ์ ทนายความ 
  3. ว่าที่ร้อยตรีอำนวย อุปถัมป์ ทนายความอิสระ 
  4. สมบัติ ธรธรรม ทนายความ ที่ปรึกษากฎหมายอิสระ 
  5. ประหยัด เสนวิรัช ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายประหยัดทนายความ 
  6. สาธิต อุไรเวโรจนากร ผู้สอบบัญชีอิสระ 
  7. วิฑูลรย์ ศิริวิโรจน์ ทนายความ

สรุปคือ มีผู้ผ่านคุณสมบัติทั้งสิ้น 15 คน (จากทั้งหมด 21 คน)

ขั้นที่ 5 – คณะกรรมการสรรหา เชิญูผู้สมัครที่ผ่านคุณสมบัติทั้ง 15 คน มากล่าววิสัยทัศน์ หรือเข้ารับการสัมภาษณ์ เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของ ป.ป.ช. คนละ 20 นาที

ขั้นที่ 6 – คณะกรรมการสรรหาร่วมลงคะแนน (แบบเปิดเผย) และบันทึกเหตุผล โดยลงมติคัดเลือก 3 รอบ ผลปรากฏว่า 

  • รอบที่ 1 ไม่มีผู้ได้รับเสียงถึง 2 ใน 3 (สมบัติ ธรธรรม 3 คะแนน, สถาพร วิสาพรหม 4 คะแนน,  เอกวิทย์ วัชชวัลคุ 2 คะแนน)
  • รอบที่ 2 ไม่มีผู้ได้รับเสียงถึง 2 ใน 3  (สมบัติ ธรธรรม 3 คะแนน, สถาพร วิสาพรหม 5 คะแนน,  เอกวิทย์ วัชชวัลคุ 1 คะแนน)
  • รอบที่ 3 สถาพร วิสาพรหม ได้รับคะแนนเกิน 2 ใน 3 ของกรรมการสรรหา คือ 6 คะแนน (จากทั้งหมด 9 คะแนน

image1.png

สรุปว่า  สถาพร วิสาพรหม คือผู้ที่กรรมการสรรหา มีมติเสนอชื่อเป็นผู้ที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น กรรมการ ปปช. คนต่อไป เนื่องจากเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ด้านกฎหมาย มีคุณสมบัติรับราชการไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษาไม่น้อยกว่า 5 ปี 

ขั้นที่ 7  – นำไปให้ที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณาลงมติ โดยในวันนี้ (23 พ.ค.)  ที่ประชุมไม่เห็นชอบ โดยมีคะแนนให้ความเห็นชอบ 41 คะแนน ไม่ให้ความเห็นชอบ 138 คะแนน ไม่ออกเสียง 27 คะนน

สถาพร  สถาพร วิสาพรหม จึงไม่ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. เนื่องจากได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของที่ประชุมวุฒิสภา

ก่อนการประชุมแบบลับของ ส.ว. มีรายงานข่าวว่า ประพันธุ์ คูณมี ส.ว. ในฐานะ กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ระบุถึงการได้รับข้อร้องเรียนว่า สถาพร ไม่มีคุณสมบัติ เนื่องจากไม่เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลใดมาก่อน จึงขัดกับตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 9 (1) ที่กำหนดให้ต้องรับราชการ หรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษาไม่น้อยกว่า 5 ปี

เหตุเพราะปัจจุบัน สถาพร ดำรงตำแหน่งรองประธานศาลอุทธณ์คดีชำนัญพิเศษ และก่อนหน้านั้น เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลอุทธรณ์ในคดีชำนัญพิเศษ ไม่เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลใดมาก่อน อีกทั้งหนังสือร้องเรียน ได้คำกล่าวอ้างหนังสือของศาลยุติธรรม (ศย.003/113) ลงวันที่ 23 พ.ย.2565 กรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการแต่งตั้งโยกย้ายและลงโทษทางวินัยมีมติยืนยัน เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 ว่า ตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์และผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ไม่ใช่ตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดีผู้พิพากษาขึ้นไป ตามประกาศของ ก.ต. และไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.

ปัดตกมาแล้ว 3 ครั้ง มี ป.ป.ช.เหลือแค่ 6 คน 

กระบวนการสรรหาและลงมติเห็นชอบ ‘กรรมการ ป.ป.ช.’ แทนที่ตำแหน่งที่วางลง เกิดขึ้นมาแล้วถึง 3 ครั้ง ความน่าสนใจคือ ถูก ‘โหวตคว่ำ’ โดย ส.ว. ทุกครั้ง  ดังนี้ 

ครั้งที่ 1 – ตุลาคม 2564 คณะกรรมการสรรหา มีมติเลือก จาตุรงค์ สรนุวัตร ผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นกรรมการ ป.ป.ช. แต่ในเวลาต่อมา จาตุรงค์ ได้ยื่นหนังสือขอถอนตัว ระบุเหตุผลว่า มีปัญหาทางด้านสุขภาพ ที่ส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ ป.ป.ช. ไม่มีประสิทธิภาพตามสมควร และไม่มีความประสงค์ที่จะดำรงตำแหน่งดังกล่าว ด้านยสำนักอิศรา รายงานว่า จาตุรงค์ ยื่นถอนตัวหลังจากถูก กมธ. ตรวจสอบประวัติฯ ซักถามเป็นเวลาหลายชั่วโมง รวมทั้งมีหนังสือร้องเรียนเข้ามายัง กมธ.  เช่น ปัญหาเรื่องหนี้สินบัตรเครดิต ปัญหาการซื้อขายที่ดินในจังหวัดเชียงใหม่จนมีการฟ้องร้องกัน (ปัญหาดังกล่าวได้ยุติเรื่องเป็นที่เรียบร้อยหมดแล้ว)

ครั้งที่ 2 – สิงหาคม 2565 คณะกรรมการสรรหา มีมติเลือก ศ.อารยะ ปรีชาเมตตา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นกรรมการ ป.ป.ช. แต่ถูกโหวตคว่ำในชั้น ส.ว. ด้วยมติไม่เห็นชอบ 146 เสียง โดยสำนักอิศราได้รายงานว่า แหล่งข่าวจากวุฒิสภา เปิดเผยว่า มีคนส่งเรื่องร้องเรียนมายัง กมธ. ตรวจสอบประวัติฯ โดยอ้างว่า ศ.อารยะ มีพฤติการณ์และแนวคิดทางการเมืองตรงข้ามฝ่ายอนุรักษ์นิยม จึงนำไปสู่การอภิปรายในที่ประชุมลับ กระทั่งที่ประชุม ส.ว. มีมติไม่เห็นชอบในที่สุด

ครั้งที่ 3 เดือนพฤษภาคม 2566  คณะกรรมการสรรหา มีมติเลือก สถาพร วิสาพรหม รองประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ เป็นกรรมการ ป.ป.ช. แต่กลับถูกโหวตไม่เห็นชอบ ในชั้น ส.ว. คาดการณ์ว่า เป็นเพราะหนังสือร้องเรียนนิรนาม เรื่องคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งของสถาพร  

อ้างอิง 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่