หน้าแรก Voice TV ครม. เห็นชอบแนวทางพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา

ครม. เห็นชอบแนวทางพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา

84
0
ครม.-เห็นชอบแนวทางพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา

‘ทิพานัน’ เผย ครม.เห็นชอบแนวทางพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา เพื่อพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมให้มีความรู้ ความสามารถ คุณธรรมและจิตสานึกที่ดีในการให้บริการแก่ประชาชน

ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ว่า ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบให้คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) เสนอ ครม. พิจารณาปรับปรุงมติ ครม. เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2560 เรื่องแนวทางการเตรียมบุคลากรก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม : การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา เพื่อพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมให้มีความรู้ ความสามารถ คุณธรรมและจิตสานึกที่ดีในการให้บริการแก่ประชาชน ซึ่งเป็นการดาเนินการตามยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาบุคลากรและเผยแพร่องค์ความรู้ในงานยุติธรรมของแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2558-2561

ทิพานัน กล่าวว่า หลังจากที่มีมติ ครม. ดังกล่าว สนง.กิจการยุติธรรม ในฐานะฝ่ายเลขาฯ กพยช. ได้ดำเนินการติดตามผลการดำเนินการของสถาบันอุดมศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีการเรียนการสอนสาขาวิชานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ตั้งแต่ปีงบฯ 2561-2564 สรุปได้ว่ามีสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 10 แห่ง จาก 117 แห่ง ที่สามารถดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวได้ เนื่องจากมีปัญหาอุปสรรคหลายประการ โดยสถาบันอุดมศึกษาที่เหลือที่ยังไม่สามารถบรรจุหัวข้อวิชาที่เป็นองค์ความรู้ด้านกระบวนการยุติธรรมไว้ในหมวดวิชาบังคับ (ตามมติ ครม. 4 ม.ค. 60) จึงได้เลือกดำเนินการในรูปแบบอื่น ๆ แทน ต่อมา กพยช. ในคราวประชุมครั้งที่ 2/65 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565 จึงได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบแนวทางการปรับปรุงมติ ครม. เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2560 เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถปฏิบัติตามนัยมติ ครม. ดังกล่าวได้ ดังนี้

1. ให้สถาบันอุดมศึกษาที่มีสาขาวิชานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ สามารถเลือกพิจารณาบรรจุหัวข้อวิชาที่เป็นองค์ความรู้ด้านกระบวนการยุติธรรมตามมติ ครม. (4 ม.ค. 60) ไว้ในหมวดวิชาบังคับ หมวดวิชาเฉพาะ หมวดวิชาศึกษาทั่วไป หรือหมวดวิชาเลือกเสรี

2. นำประมวลรายวิชาที่เป็นองค์ความรู้ด้านกระบวนการยุติธรรมตามมติ ครม. ดังกล่าวไปสอดแทรกในรายวิชาที่มีการเรียนการสอนอยู่แล้วในหมวดวิชาบังคับ หมวดวิชาเฉพาะ หรือหมวดวิชาอื่น ๆ

3. ให้สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ประกาศเป็นนโยบายให้สถาบันอุดมศึกษาที่มีสาขาวิชาดังกล่าวดำเนินการตามมติ ครม. และติดตามผลการดำเนินงาน การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน และให้สอบถามความก้าวหน้า ปัญหา อุปสรรค การดำเนินงาน

4. ให้สถาบันอุดมศึกษาที่มีสาขาวิชานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ รายงานความคืบหน้าและปัญหาอุปสรรคของการดำเนินการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ได้รับทราบทุกปีงบฯ โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวง อว. หารือวิธีการรายงานผลการดำเนินงานตามมติ ครม. ดังกล่าวร่วมกับสำนักงานกิจการยุติธรรม

“การปรับปรุงมติ ครม. (4 ม.ค. 60) จะส่งผลให้สถาบันอุดมศึกษาที่มีการเรียนการสอนในสาขาวิชานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มีความยืดหยุ่นในการพิจารณาดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรไว้ในหมวดวิชาต่าง ๆ ได้นอกเหนือจาก หมวดวิชาบังคับ โดยยังคงเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมติ ครม. ควรให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพการเรียนการสอนในหมวดวิชาดังกล่าวให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในสถาบันการศึกษาทุกแห่งด้วย จึงเห็นควรให้ กพยช. อว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาปรับปรุงแนวทาง/มาตรการที่จะสามารถเตรียมความพร้อมรองรับการผลิตบุคลากรก่อนเข้าสู่สายงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” ทิพานัน กล่าว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่