วันนี้ (2 มิ.ย.2566) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้เดินทางไปยื่นพยานหลักฐานเกี่ยวกับการถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด(มหาชน) ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จำนวน 42,000 หุ้น เพื่อเป็นการตอก ย้ำข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ม.98 (3) หรือไม่ให้ได้แน่นหนามากยิ่งขึ้น
กรณีดังกล่าว หลังจากสื่อมวลชนรายงานกรณีการถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) 42,000 หุ้น และนายพิธา ได้ออกมายอมรับว่า หุ้นดังกล่าวไม่ใช่ของตัวเอง แต่เป็นของกองมรดก มีเพียงมีฐานะผู้จัดการมรดกเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม บริษัทไอทีวี ยังมีการประชุมผู้ถือหุ้น และมีการยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรว่ายังดำเนินกิจการอยู่ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงิน และยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ จะอ้างว่าหยุดประกอบกิจการไปแล้วมิได้
อ่านข่าวเพิ่ม เลือกตั้ง2566 : “พิธา” แถลง ตั้ง 7 คณะแรกทำงานช่วงเปลี่ยนผ่าน
ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงรวบรวมพยานหลักฐานทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายมามอบให้ กกต. ให้แน่นหนามากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาวินิจฉัยอย่างรอบคอบ เพื่อให้ตรวจสอบคุณสมบัติของนายพิธาว่า ขาดคุณสมบัติการเป็นผู้รับสมัครเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ม.98(3) ประกอบ ม.42(3) แห่ง พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือไม่อย่างไร
ทั้งนี้ กกต.ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบวินิจฉัยก็ได้ แต่ควรจะพิจารณารวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร พยานผู้เชี่ยวชาญ ให้รอบด้านรัดกุมก่อนที่จะวินิจฉัย และถ้าจำต้องรับรองความเป็น ส.ส.ของนายพิธา ไปก่อนก็ยังได้ แต่เมื่อถึงเวลาที่จะต้องวินิจฉัย ก็ต้องนำเรื่องของสมาชิกภาพของความเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ม.101(6) ประกอบ ม.98(3) ส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในขั้นสุดท้าย
“จรุงวิทย์” โพสต์เทียบคดีนักการเมืองดัง
นอกจากนี้กรณีดังกล่าวพ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา ส.ว. และอดีตเลขาธิการ กกต. โพสต์เฟซบุ๊ก ยกเคสตัวอย่างอธิบายข้อกฎหมาย กรณีการถือหุ้นสื่อของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองด้วย ที่เซ็นรับรองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าถูกตัดสิทธิปมถือหุ้นสื่อ ซึ่งคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของหัวหน้าพรรคการเมืองไม่ได้มี กำหนดข้อห้ามไว้ จึงไม่ได้ส่งผลกับ ส.ส. ที่เซ็นรับรองและชนะการเลือกตั้ง
คำถาม นายนิทรา เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง จดทะเบียนโดยถูกต้อง เมื่อมีการเลือกตั้ง นายนิทรา ได้ออกหนังสือรับรองให้ผู้สมัครของพรรคไปยื่นสมัครรับเลือกตั้ง นายนิทรา ลงสมัครแบบบัญชีรายชื่ิอของพรรค และได้รับการเสนอชื่อจากพรรคให้เป็นนายกรัฐมนตรี
ต่อมาภายหลังจากวันเลือกตั้ง มีผู้ร้องเรียนว่า นายนิทรา ถือหุ้นสื่อ Utv หากศาลตัดสินว่าถือหุ้นสื่อ utv จริงการถูกตัดสิทธิ์ จะมีผลถึงการรับรองผู้สมัครฯทำให้การรับรองจากนายนิทราฯ ไม่ชอบต้องจัดการเลือกตั้งใหม่หมดหรือไม่อย่างไร
อ่านข่าวเพิ่ม ย้อนรอย “ถือหุ้นสื่อ” จาก “ธนาธร” ถึง “พิธา”
ตอบ นายนิทรา หัวหน้าพรรคการเมือง ที่มีการจัดตั้งฯ โดยชอบด้วยกฎหมาย มีชื่ออยู่ในข้อบังคับพรรคการเมืองที่มีนายทะเบียนพรรคการเมือง รับรองประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อมีการเลือกตั้งนายนิทรา หัวหน้าพรรคการเมืองออกหนังสือรับรองการส่งผู้ได้รับการสรรหา (primary) เพื่อเป็นหลักฐานในการสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ตาม ม.56 พรป.พรรคการเมือง และ ม.45 พรป.เลือกตั้งฯ ภายหลังวันเลือกตั้ง
หากศาลตัดสินว่า นายนิทรา ถือหุ้นสื่อฯ มาก่อนเลือกตั้ง 5 ปี แม้ว่า นายนิทรา ออกหนังสือรับรองให้กับผู้สมัครฯ ในช่วงขาดคุณสมบัติมีลักษณะต้องห้ามแต่ก็เป็นคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามของนายนิทรา ที่สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.
แต่การลงนามรับรองให้กับผู้สมัครของพรรค เป็นการรับรองในฐานะหัวหน้าพรรคการเมือง ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของหัวหน้าพรรคการเมือง ก็มิได้ห้ามหัวหน้าพรรคการเมืองเป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน แต่อย่างใด ตาม ม.16 ,24,9 พร.ป.พรรคการเมือง ประกอบ ม.98 รธน.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เลือกตั้ง2566 : “เรืองไกร” จ่อยื่นหลักฐาน กกต.เพิ่มปม “พิธา” ถือหุ้น ITV