หน้าแรก Voice TV กรณี 'พิธา' กกต. ศาล มีหน้าที่บังคับใช้ กม.'ปชป.' ชี้การเมืองต้องเคารพกฎหมาย

กรณี 'พิธา' กกต. ศาล มีหน้าที่บังคับใช้ กม.'ปชป.' ชี้การเมืองต้องเคารพกฎหมาย

54
0
กรณี-'พิธา'-กกต-ศาล-มีหน้าที่บังคับใช้-กม.'ปชป.'-ชี้การเมืองต้องเคารพกฎหมาย

ประเด็นกรณีที่ กกต.รับว่าจะสอบ ‘พิธา’ ตามมาตรา 151 จะมีผลต่อ การโหวตนายกรัฐมนตรีในสภา หรือไม่ ‘จุรินทร์’ ชี้ประเทศเป็นนิติรัฐ การเมืองจึงต้องเคารพกฎหมาย ไม่ว่า กกต. ศาล ต่างมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายตามหลักนิติธรรม การเมืองเดินหน้าได้ต้องนับหนึ่งจากการรับรอง ส.ส.ก่อน

วันที่ 10 มิ.ย. 2566 เวลา 14.30 น. ที่ อาคารสาธรซิตี้ ถนนสาทรใต้ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ ภายหลัง เป็นประธานเปิดหลักสูตร สายสัมพันธ์ไทย-จีน เพื่อผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 2 ประเด็นการเมืองว่า สำหรับการเมืองนั้นทุกอย่างต้องนับหนึ่งจากการรับรองของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงจะมีการเปิดการประชุมรัฐสภา และไปสู่เรื่องการเลือกประธานสภา และการเลือกนายกรัฐมนตรีและการตั้งรัฐบาลต่อไป ขั้นตอนเป็นไปตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว

จุรินทร์.jpg

ส่วนรัฐบาลใหม่หน้าตาจะเป็นอย่างไรยังไม่สามารถตอบได้ แต่ขณะนี้ต้องถือว่าพรรคก้าวไกลยังทำหน้าที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลอยู่ ซึ่งตนคิดว่าประชาชนก็เฝ้าดูอยู่ว่าสุดท้ายแล้วจะเป็นอย่างไร

ส่วนตัวคิดว่าเมื่อพรรคก้าวไกลสามารถรวมเสียงข้างมากในสภาได้ก็เป็นการทำหน้าที่ในการเดินหน้าจัดการรัฐบาลต่อไป และทุกอย่างก็จะเข้าสู่ขบวนการที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและเป็นไปตามกฏหมาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่ กกต.รับว่าจะสอบ นายพิธา ตามมาตรา 151 จะมีผลต่อ การโหวตนายกรัฐมนตรีในสภา หรือไม่

นายจุรินทร์ กล่าวตอบว่า ตนไม่สามารถตอบได้ว่าจะมีผลต่อการโหวตมากน้อยเพียงใด แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และเป็นไปตามกฎหมาย การเลือกตั้งเป็นผลการตัดสินใจทางการเมืองของพี่น้องประชาชน แต่ว่าทุกคนต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทุกฝ่ายต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย และต้องเป็นหน้าที่ของกลไกที่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามนั้น 

เพราะฉะนั้นเมื่อ กกต.ดำเนินการไปอย่างไร 

ก็ต้องขึ้นอยู่กับ กกต. ว่า จะมีความเห็นอย่างไร ในการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมายได้ และ กกต.เองก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะหลีกเลี่ยงบังคับใช้กฎหมายได้ และเมื่อผลเป็นอย่างไรก็ต้องไปสู่ศาล ส่วนจะเป็นศาลใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับประเด็นที่ กกต. จะตั้งขึ้น ว่าจะไปศาลใด เพราะมีเงื่อนไขบังคับไว้แล้ว ว่าหากเป็นเรื่องของคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ลงรับเลือกตั้ง ส.ส.ว่าจะสามารถลงรับสมัครเลือกตั้งได้หรือไม่ ก็ต้องเป็นศาลฎีกา แต่ถ้าเป็นคุณสมบัติ ข้อสงสัย ในเรื่องของการเป็น ส.ส.แล้ว จะขาดคุณสมบัติ ส.ส.หรือไม่ ก็เป็นเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีขั้นตอนกระบวนการกำหนดไว้ชัดเจนอยู่แล้ว ไม่สามารถทำเป็นอย่างอื่นได้ และทุกคนมีหน้าที่เคารพกฎหมาย เพราะประเทศไทยเป็นนิติรัฐ ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน เพราะฉะนั้นทั้งหมดก็ต้องรอกลไกที่จะเป็นผู้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย 

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับพรรคที่ได้คะแนนมากที่สุด จะมีการพลิกขั้วตั้งรัฐบาลหรือไม่

จุรินทร์ ตอบว่าตนไม่สามารถตอบล่วงหน้าได้ แต่ขณะนี้ต้องถือว่าพรรคก้าวไกล เป็นแกนตั้งรัฐบาล ก็ขอให้ตั้งสำเร็จ ตนถือหลักชัดเจนในทางการเมือง กับ ทางกฎหมาย ในทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง พรรคใดรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ ก็มีสิทธิ์ที่จัดตั้งรัฐบาล ส่วนในทางกฎหมายทุกคนมีหน้าที่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฏหมาย หากทำผิดกฏหมาย กลไกลที่บังคับใช้กฎหมายก็มีหน้าที่ในการที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฏหมายเพราะหลักมีชัดเจนอยู่แล้ว ทั้งทางการเมือง และตามหลักกฏหมาย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่