รศ.เจษฎ์ โทณะวณิก อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ให้สัมภาษณ์ ในรายการ “ประจักษ์จับประเด็น” ทางไทยพีบีเอส กรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ที่ระบุว่า ผู้ที่ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จะไม่สามารถถูกเสนอชื่อโหวตเป็นนายกฯได้ และผู้ที่เสนอชื่อจะต้องรับผิดชอบ
ชี้ “วิษณุ” เตือนให้คิดรอบคอบ
รศ.เจษฎ์ กล่าวว่า กรณีที่ผู้ถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ถูกพักการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งศาล ยังคงมีสิทธิในการถูกเลือก แต่ปัญหาคือ เมื่อถูกเลือกแล้วปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้จะกลายเป็นปมปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นใน 2 ประเด็น คือ 1.เมื่อเลือกขึ้นมาแล้วปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ก็ต้องรอการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคล โดยระหว่างนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกฯรักษาการจะต้องทำหน้าที่ต่อไป และ 2.กรณีการเลือก นายพิธา เป็นนายกฯ แล้วจัดตั้งคณะรัฐมนตรี ได้ โดยมอบหมายให้ รองนายกฯ ทำหน้าที่รักษาการนายกฯไปก่อน
ประเด็นสำคัญ เมื่อการพักการปฏิบัติหน้าที่ นำมาซึ่งการหยุดการปฏิบัติหน้าที่ หรือ ยุติการปฏิบัติหน้าที่จะเกิดปัญหาขึ้นหรือไม่ ในทางปฏิบัติก็ต้องนำกลับมาเลือกนายกฯกันใหม่ แต่เราอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหาษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข กรณีดังกล่าวจะเป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทหรือไม่
รศ.เจษฎ์ เชื่อว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ไม่ได้พูดเพื่อเชียร์ใคร แช่งใคร หรือเพื่อให้เกิดนัยอะไร แต่อาจกระตุกเตือน เพราะหากสถานการณ์การลงมติในสภาฯเดินหน้าต่อแต่การพิจารณาคุณสมบัติของนายพิธาเดินช้ากว่าก็จะกลายเป็นปัญหา ซึ่งผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องพิจารณาว่า ควรจะลงมติเลือกนายกฯก่อนหรือให้การพิจารณาคุณสมบัติ ส.ส.ของนายพิธาเสร็จสิ้นก่อน เพราะกรณีดังกล่าวและอาจขยายผลและอาจมีผลกระทบเป็นวงกว้าง
“พท.-ก้าวไกล” ต่อรองตำแหน่ง ปธ.รัฐสภา
ส่วนสาเหตุดังกล่าวจะเป็นประเด็นที่ทำให้พรรคก้าวไกลต้องการตำแหน่งประธานรัฐสภาหรือไม่นั้น รศ.เจษฎ์ กล่าวว่า หากฝ่ายกฎหมาย หรือ พรรคก้าวไกล ระบุว่า ตำแหน่งประธานรัฐสภามีความสำคัญ หมายถึง ต้องการประธานสภาที่เอียง เพราะถ้าไม่ได้ประธานสภาที่มีความเห็นด้วยเหมือนกับตนจะเกิดปัญหาแน่นอน อันนี้ไม่ได้ผิดแค่ไทยแต่ผิดทั้งโลกเลย เพราะจะทำให้ประธานสภาถูกมองว่าเป็นคนที่เอียง
หรือกรณีที่พรรคก้าวไกลได้ตำแหน่งประธานสภาและเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกฯ พรรคเพื่อไทยอาจเห็นว่า การทำเช่นนี้อาจทำให้หลักการของกฎหมายบิดพริ้วและอาจเอาด้วยไม่ได้ และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต้องรักษาความชอบธรรม และรักษาระบบรัฐสภาที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรรมไว้ โดยในระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพรรคประมุขจะทำอะไรแบบนี้ไม่ได้ จึงไม่ลงมติเลือกนายพิธาเป็นนายกฯ หากยังไม่คลี่คลายปัญหานี้
เชื่อ “ส.ว.” ต้องคิดให้รอบคอบ
ส่วนกรณีคุณสมบัติของนายพิธา จะส่งผลต่อการโหวตนายกฯของ ส.ว.หรือไม่ รศ.เจษฎ์ กล่าวว่า การลงประชามติที่ผ่านมา โดยประชาชน รวมถึงการให้ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯได้นั้น มาจากวัตถุประสงค์ คือ ในช่วง 5 ปี ของ ส.ว. (ตามวาระตามรัฐธรรมนูญ) ว่า ต้องการปฏิรูปบ้านเมือง ซึ่งการเลือกนายกฯที่เหมาะสมโดยไม่มีข้อคลางแคลง ข้อครหา และไม่ทำให้บ้านเมืองแตกแยก ไม่ทำให้เกิดปัญหา คือ หนึ่งในการปฏิรูปคาดว่า ส.ว.จะคิดเรื่องนี้แน่
2.การเลือกนายกฯ หากยังมีปัญหาคาราคาซังอยู่ โดยเฉพาะกรณีเมื่อประธานสภาฯนำรายชื่อบุคคลที่ได้รับการลงมติในสภาฯ เสนอขึ้นทูลเกล้า เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ และปฏิญาณตน เรื่องนี้ไม่สามารถปล่อยไปได้เรื่อย ๆ ได้ ซึ่ง ส.ว.จะต้องคิด
3.การที่มีข้อสงสัยว่าผู้ที่จะเป็นนายกฯมีวิธีคิดในลักษณะที่ทำให้เกิดความคลางแคลงใจในเรื่องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ก็สามารถสงวนสิทธิหรือไม่ลงมติได้
คาดไม่เกินสิ้นปี ได้นายกฯคนใหม่
รศ.เจษฎ์ ยังระบุว่า วิธีการที่จะจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วที่สุด เมื่อ กกต.รับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ได้ 95 % หรือ 475 คนและเปิดสภาฯ และ ระยะเวลาประมาณ 1-2 เดือนหลังเปิดประชุมสภาฯ หรือ ในเดือน ก.ย.กระบวนการวินิจฉัยคุณสมบัติ ส.ส.ของนายพิธาก็จะเสร็จสิ้่น เนื่องจากหากส่งศาลฯวินิจฉัยซึ่งเชื่อว่าจะเวลาพิจารณาไม่นาน
จากนั้นก็จะกลับเข้ามาสู่การโหวตเลือกนายกฯ โดยครั้งแรกหากผ่านนายพิธาก็จะได้ดำรงตำแหน่งนายกฯได้เลย แต่หากไม่ได้ก็อาจจะเป็นอีกแนวทางพรรคเพื่อไทยอาจเสนอชื่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือ คุณเศรษฐา ทวีสิน เข้าไป ก็จะผ่านกระบวนทางสภาโดยเสียงข้างมากได้ ส่วนจะมีการลงถนนหรือไม่ขึ้นกับสถานการณ์จะคลี่คลายหรือไม่ ในทางการเมืองไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบทั้งหมด