ความคืบหน้ากรณี “หยก” เยาวชนอายุ 15 ปีนักเคลื่อนไหวทางการเมือง พยายามปีนรั้วเข้าโรงเรียน จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์
ไทยพีบีเอส สอบถามจากนักวิชาการและตัวแทนผู้เคยคลุกคลีกับเยาวชน และทำงานด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงผู้ที่เคยผ่านการทำกิจกรรมเช่นเดียวกับ “หยก”
นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นักกิจกรรมสังคมและการเมือง ผู้ก่อตั้งสมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทยและกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท มองกรณีที่เกิดขึ้นกับหยกว่า คงไม่สามารถเปรียบเทียบกับการเคลื่อนไหวในของเขาในอดีตได้ทั้งหมด
แต่มุมที่คล้ายกับที่เขาเคยเจอ คือการถูกประณามและกีดกัน จากบทเรียนที่ผ่านมา เขาจึงอยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หาทางออกด้วยการหันหน้าเข้าหากัน และพูดคุยกัน
เนติวิทย์ บอกว่า เขาก็เจอหนักเหมือนกัน ถ้าผู้ใหญ่เข้าใจเด็กมองว่าเป็นลูกหลาน เห็นว่าเจอสิ่งที่ไม่ดี เจอแรงกดดัน สิ่งที่เขาทำต้องไม่ใช้สายตาแบบเพ่งโทษ จะดูว่าทำไมต้องทำแบบนี้ ศึกษาหาสาเหตุ
แต่ตอนนี้สังคมจับผิดเด็ก ไม่ได้มีวุฒิภาวะขึ้นเลย ไม่เข้าใจประเด็นที่เขานำเสนอ แบบนี้ก็เป็นผู้ใหญ่ที่ดีไม่ได้
แนะรัฐอย่าผลักเด็กหลุดระบบการศึกษา
ส่วนเหตุผลเรื่องไม่สามารถพาผู้ปกครองมามอบตัวตามกฎระเบียบได้ทันตามเวลาที่ออกประกาศมานั้น รศ.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า อย่าทำให้ระเบียบทางการศึกษาดูคับแคบและแข็งตัวเกินไป
ควรมองเรื่องโอกาสทางการศึกษาของเยาวชนคนหนึ่ง ที่หน่วยงานรัฐต้องยืดหยุ่น พยายามหาทางที่ไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา เพราะจะยิ่งสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น
ไม่ควรผลักเด็กออกเพราะความเห็นต่าง ควรทำความเข้าใจในปรากฏการณ์ที่เยาวชนสนใจเรื่องสังคม และการเมืองมากขึ้น และขอให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้าช่วยเหลือ หรือให้คำแนะนำ ในฐานะเยาวชนคนหนึ่งที่กำลังขาดโอกาสทางการศึกษาจากปัญหาส่วนตัว
ส่วนนางอังคณา นีละไพจิตร ผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติ และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มองว่า กรณี “หยก” โรงเรียนควรผ่อนปรน ขยายเวลาการมอบตัว โดยให้เวลาการหาผู้ปกครอง หรือรอคำสั่งศาลในการตั้งผู้ปกครองขึ้นมาดูแล เพราะมองว่า เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ เด็กทุกคนควรเข้าถึงสิทธินี้
อยากให้กำลังใจครอบครัว พ่อแม่ไม่ได้ผิดอะไร พ่อไม่อยู่ แม่ไม่อยู่ แต่ปู่ย่าตายายพี่ป้าน้าอามาดูแลเด็ก แต่ไม่ใช่มาบังคับ แต่มาในฐานะผู้ปกครองที่ดูแล หากเกิดความเสียหายกับเด็ก
ใครจะรับผิดชอบ การที่ผู้ปกครองไว้วางใจให้เด็กมาเรียน และไม่ใช่ว่าไม่มีใครอนุญาต ถ้ามีอะไรกับเด็กใครจะรับผิดชอบ เป็นความรับผิดชอบของบ้านและโรงประสานร่วมมือกัน
ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ควรมีส่วนร่วมหาทางออก และเข้ามาดูแลเด็ก ให้สามารถเข้าถึงสิทธิในการศึกษาต่อ ผู้ปกครองที่แท้จริงของเด็ก ควรประสานความร่วมมือกับโรงเรียน เพื่อหาทางออกให้เด็ก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
รร.เตรียมอุดมฯ พัฒนาการ แถลงการณ์แจงปม “หยก” ไม่มีสถานะนักเรียน