นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า พวกเขาได้สร้างตัวอ่อนสังเคราะห์ของมนุษย์ตัวแรกของโลกจากสเต็มเซลล์ โดยไม่ต้องใช้เซลล์อสุจิหรือไข่
อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ตัวอ่อนสังเคราะห์เหล่านี้ไม่มีอวัยวะ เช่น หัวใจเต้นหรือสมอง แต่พวกมันมีเซลล์ที่ปกติที่จะสามารถสร้างรก ถุงไข่แดง และตัวอ่อนของมันเองได้
“เราสามารถสร้างแบบจำลองคล้ายตัวอ่อนของมนุษย์ได้ โดยการตั้งโปรแกรมใหม่ของเซลล์ (ต้นกำเนิดจากตัวอ่อน)” แมกดาเลนา เซอร์นิกกา-เกิตซ์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย กล่าวเมื่อวันพุธ (14 มิ.ย.) ที่สมาคมระหว่างประเทศเพื่อการทดลองสเต็มเซลล์ ในการประชุมประจำปี ณ เมืองบอสตัน
งานวิจัยนี้ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร อีกทั้งยังก่อให้เกิดคำถามทางกฎหมายและจริยธรรม เนื่องจากปัจจุบัน หลายประเทศยังขาดกฎระเบียบข้อบังคับ เกี่ยวกับการสร้างและการจัดการตัวอ่อนมนุษย์สังเคราะห์ขึ้นมา
“ไม่เหมือนกับตัวอ่อนของมนุษย์ที่เกิดจากการปฏิสนธินอกร่างกาย (IVF) ซึ่งมีกรอบกฎหมายกำหนดไว้ ปัจจุบันยังไม่มีข้อบังคับที่ชัดเจน เกี่ยวกับแบบจำลองเซลล์ต้นกำเนิดของตัวอ่อนของมนุษย์ มันมีความจำเป็นเร่งด่วน สำหรับกฎระเบียบเพื่อกำหนดกรอบสำหรับการสร้าง และการใช้แบบจำลองจากสเต็มเซลล์ของตัวอ่อนมนุษย์” CNN รายงานอ้างอิงจากแถลงการณ์ของ เจมส์ บริสโคล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของสถาบันฟรานซิส คริก
ในปี 2565 กลุ่มวิจัยของ เซอร์นิกกา-เกิตซ์ และสถาบันไวซ์แมนน์ในอิสราเอล ได้แสดงให้เห็นว่าสเต็มเซลล์จากหนู สามารถจัดโครงสร้างตัวเองเป็นโครงสร้างคล้ายตัวอ่อนระยะแรก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงลักษณะของอวัยวะต่างๆ เช่น ลำไส้ ระยะเริ่มต้นของสมอง และหัวใจที่เต้น โดยหลังจากนั้นเป็นต้นมา ทีมวิจัยได้เริ่มการทดลองเพื่อให้ได้ผลลัพธ์เดียวกันนี้จากเซลล์ของมนุษย์
ในการประชุมเมื่อวันพุธ เซอร์นิกกา-เกิตซ์ อธิบายถึงการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนจนถึงระยะพัฒนาการ ที่มากกว่าการพัฒนาตัวอ่อนตามธรรมชาติ 14 วันว่า “แบบจำลองมนุษย์ของเราเป็นแบบจำลองตัวอ่อนของมนุษย์สามสายแบบแรก ที่เห็นถึงลักษณธของถุงน้ำคร่ำ และเซลล์สืบพันธุ์ ซึ่งเป็นเซลล์ตั้งต้นของไข่และอสุจิ” เซอร์นิกกา-เกิตซ์ ระบุกับสำนักข่าว The Guardian “มันสวยงามและสร้างขึ้นจากสเต็มเซลล์ของตัวอ่อนทั้งหมด”
โรเจอร์ สเตอร์มีย์ นักวิจัยอาวุโสแห่งมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์กล่าวว่า ยังมีงานอีกมากที่ต้องทำ “เพื่อหาความเหมือนและความแตกต่าง ระหว่างตัวอ่อนสังเคราะห์และตัวอ่อนที่เกิดจากการรวมตัวกันของไข่และอสุจิ” พร้อมระบุว่า “ผลงานชิ้นนี้จาก เซอร์นิกกา-เกิตซ์ ยังไม่ได้รับการประเมินอย่างครบถ้วนโดยชุมชนวิทยาศาสตร์ แต่มันเสนอโอกาสที่น่าตื่นเต้นในการตอบคำถามเหล่านี้ และอาจเป็นเครื่องมือสำคัญในการศึกษาพัฒนาการในระยะเริ่มต้น ในขณะที่ลดการพึ่งพาตัวอ่อนมนุษย์สำหรับการวิจัยดังกล่าว”
ที่มา: