แม้การจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกลยังดูคลุมเครือ และไม่รู้ต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่ แต่หลังจากชนะการเลือกตั้ง ด้วยคะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 1 ของพรรคก้าวไกล “พิธา” ก็เริ่มภารกิจเดินสายพบองค์กรต่างๆ อาทิ พบทางเข้าพบ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยและคณะ มุ่งกระจายรายได้ท้องถิ่น ลดปัญหาค่าครองชีพประชาชน หรือ พบตัวแทนสหภาพแรงงาน ย้ำชัดเร่งสร้างความเป็นธรรมในการจ้างงาน ค่าแรง ที่ต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
เช่นเดียวกับวันนี้ (15 มิ.ย.2566) ที่เดินทางไปเชียงใหม่ ที่นอกจากไปเพื่อขอบคุณคะแนนเสียงคนเชียงใหม่ที่เทคะแนนให้ก้าวไกล จนล้มช้าง “เพื่อไทย” ได้ถึง 7 เขต พิธา ยังได้พบตัวแทนภาคประชาชน เพื่อพูดคุยรับฟังปัญหาเรื่อง ฝุ่น PM 2.5 ในปี 2567 โดยมีตัวแทนภาคประชาชน-ภาคเอกชน-ภาคธุรกิจ กว่า 100 คน เข้าร่วม
เสนอแก้ปัญหาฝุ่นภาคเหนือ 3 ระดับ
- ท้องถิ่น บอกว่าเฉพาะภาคเหนือ “ฝุ่นควัน” สร้างความเสียหาย ปีละ 70,000 ล้านบาท หรือ 3,000 ล้านบาท/เดือน แต่ปีที่แล้วได้งบประมาณแก้ฝุ่นควัน 85 ล้านบาท ดังนั้น เสนอให้เพิ่มงบประมาณ ตำบลละ 3,000,000 บาท เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นระดับตำบล
- ภายในประเทศ ต้องผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด
- ระหว่างประเทศ จะสนับสนุนให้เชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางแก้ปัญหาฝุ่นระดับอาเซียน
แต่ก็มีเสียงสะท้อนจากตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน อ.แม่แจ่ม ที่มองว่าที่ผ่านมามีความพยายามแก้ไขปัญหา แต่ยังไม่ตรงจุด
ชนเผ่าพื้นเมืองร้อง “พิธา” แก้ปัญหาสิทธิมนุษยชน
นายพิธา เคยเป็นประธานคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ครั้งนี้ได้ร่วมหารือเรื่องสิทธิที่ดินทำกินกับตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ ที่สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมชนเผ่า อ.สันทราย โดยตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ ได้สลับกันนำสนอปัญหาต่างๆ
หญิงชาติพันธุ์ไร้สัญชาติ อายุ 23 ปี นำบัตรเลข 0 หรือ บัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนมาแสดง พร้อมเล่าว่า เธอเกิดที่ไทย เรียนที่ไทย แต่ไร้สัญชาติ จึงไม่มีสถานะ ไม่มีโอกาสเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่มีสิทธิกู้เงินเรียนต่อ หรือรักษาพยาบาล
นอกจากนี้ สภาชนเผาพื้นเมือง ยังขอให้ส่งเสริมกฎหมายสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ผ่านร่าง พ.ร.บ.ชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อรองรับสิทธิ หรือ การยอมรับหลักการความหลายทางเชื้อชาติของชนเผ่าพื้นเมือง, ปัญหาสถานะบุคคล และการเข้าถึงสวัสดิการรัฐที่เท่าเทียมและเป็นธรรม พร้อมเสนอให้นายพิธา เร่งแก้ปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น กรณีที่ดินทำกินม่อนแจ่ม หรือ กรณีบางกลอย
“พิธา” ร่วมพิธีสู่ขวัญ-รับประทานอาหารชนเผ่า
หลังจากร่วมพูดคุยกับกลุ่มชาติพันธุ์แล้ว ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ได้มอบเสื้อชนเผ่า กางเกงกัญชง และกระเป๋าย่าม ที่ภายในมีผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น หวังให้นายพิธาประชาสัมพันธ์ เพื่อกระจายรายได้ให้ชนเผ่า และนายพิธา ได้ร่วมพิธี “สู่ขวัญชาติพันธุ์ม้ง” หรือพิธีรับขวัญแบบล้านนา เป็นพิธีเรียกขวัญตามความเชื่อ
ปิดท้ายด้วยการรับประทานอาหารร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นอาหารพื้นเมือง 9 อย่าง ของ 9 ชนเผ่า ล้อกับคำว่า “ก้าวไกล” หนึ่งในนั้นมีขนมท้องถิ่น “ป่าปา” หรือ “แพนเค้กลีซู” ที่ชาวชนเผ่าเตรียมไว้ต้อนรับก่อนจะเดินทางไปที่ตลาดสดหางดง
“พิธา” ดันท่องเที่ยวเชียงใหม่ฟื้นตัวหลังโควิด
นายพิธา ระบุว่าการระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้ท่องเที่ยวเชียงใหม่ลดลงไปกว่าครึ่ง จึงเสนอขยายเวลาเปิดสนามบินเชียงใหม่ 24 ชั่วโมง ผลักดันสภามัคคุเทศก์ และสนับสนุนโรงแรมขนาดเล็ก
เชียงใหม่ ที่เคยถูกมองว่าเป็นเมืองหลวงของพรรคเพื่อไทย
แต่รอบนี้ พรรคก้าวไกล ได้ ส.ส. 7 คน จากทั้งหมด 10 คน
อ่าน : “ศิธา” เชื่อมีเบื้องหลัง อาศัยกลไกรัฐธรรมนูญขัดขา “พิธา”