รัฐบาลเมียนมา ยืนยันว่า ตาน ชเว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา จะเข้าร่วมการหารืออย่างไม่เป็นทางการ วันที่ 19 มิ.ย.2566 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศของไทย ส่งหนังสือลงวันที่ 14 มิ.ย. เสนอจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการกับสมาชิกอาเซียนบางชาติ รวมทั้งเมียนมา รวมทั้งรัฐบาลกัมพูชา ที่จะเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย
ขณะที่ เรทโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ ปฏิเสธเข้าร่วมฯ เนื่องจากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 42 เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ยังไม่มีฉันทามติเกี่ยวกับความคืบหน้าที่สำคัญด้านแผนสันติภาพ รวมไปถึงการให้รัฐบาลทหารเมียนมา กลับเข้ามามีส่วนร่วมต่าง ๆ ในอาเซียน อีกครั้ง
เช่นเดียวกับมาเลเซียและเวียดนาม ที่ไม่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้
รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ ระบุว่า ยังเร็วเกินไปที่จะกลับมาจัดการประชุมกับรัฐบาลทหารเมียนมาในระดับผู้นำ หรือแม้กระทั่งระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ
ทั้งนี้ชาติสมาชิกอาเซียน มีมติห้ามไม่ให้ผู้แทนจากรัฐบาลทหารเมียนมา เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูง นับตั้งแต่กองทัพเมียนมา ก่อรัฐประหารเมื่อเดือน ก.พ.2021 หลังรัฐบาลทหารเมียนมา ไม่ยอมปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ เพื่อปูทางสู่การสร้างสันติภาพตลอด 2 ปีที่ผ่านมา
“ดอน” แจงเหตุถกประเทศอาเซียน
ขณะที่ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า การประชุมลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไทยได้ทำเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ทั้งนี้ไทยเป็นประเทศที่มีชายแดนติดประเทศเมียนมาถึง 2,000 กิโลเมตร ซึ่งการสู้รบแต่ละครั้งได้ส่งผลกระทบต่อไทยมากกว่าประเทศอื่น ๆ
ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า เราออฟไซต์นั้นถือว่าไม่ถูกต้องเพราะการประชุมนี้ไม่ใช่การประชุมอาเซียน แต่เป็นการประชุมของประเทศอาเซียนที่สนใจเรื่องนี้ที่จะมารับฟัง แต่หากประเทศใดไม่มาประชุมก็ไม่เป็นไรเป็นเรื่องปกติ ซึ่งจริงแล้วต้องขอบคุณประเทศไทยด้วยซ้ำที่ไทยเข้ามาแก้ปัญหาซึ่งเป็นปัญหาหลักในภูมิภาคอาเซียน
นักวิชาการมอง “ผิดมารยาททางการทูต”
ขณะที่ รองศาสตราจารย์ ดุลยภาค ปรีชารัชช ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า เป็นการผิดมารยาททางการทูต และไม่ได้ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของไทย ดูได้จากการที่ประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียนปฏิเสธเข้าร่วม
ส่วนกรณีที่เมียนมา ตกลงเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้นานาประเทศอาจมองได้ว่า ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้นำทั้ง 2 ประเทศ มีผู้นำเป็นทหารจากการรัฐประหารเหมือนกัน ซึ่งอาจไม่ได้ส่งผลดี
และที่มองว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ กรณีมีการมีผู้หนีภัยสู้รบเข้ามาฝั่งไทย เห็นว่า เรื่องนี้สามารถเจรจาหาข้อยุติได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้วงประชุมอย่างไม่เป็นทางการ