ธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตประธาน นปช. เผยกรณี หยก สะท้อนภาพเยาวชนกำลังท้าทายรัฐจารีตอำนาจนิยม ย้ำหากมีความเมตตามีความรับผิดชอบ ต่ออนาคตสังคมไทย โรงเรียนต้องเร่งแก้ปัญหาอำนาจนิยม ไม่ใช่ไล่เด็กออก
ธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตประธาน นปช. แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ระบุถึงกรณีการประกาศให้ ‘หยก’ ไม่มีสภาพความเป็นนักเรียนของโรงเรียนเตรียมอุดมพัฒนาการ โดยระบุว่า เยาวชนไทยกำลังท้าทายรัฐจารีตอำนาจนิยมไทย!
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เป็นโรงเรียนรัฐบาลเต็มรูปแบบที่ใช้เงินภาษีอากรจากประชาชน ปัญหาการปฏิเสธ “หยก” ไม่ให้เข้าเรียน โดยเหตุผลการที่ผู้ปกครองไม่ได้มามอบตัวถูกต้องและการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น ในทัศนะดิฉันเห็นว่าไม่เป็นแบบอย่างที่ดีที่ถูกที่ควร
“หยก” เป็นเยาวชนไทยที่รัฐไทยและองคาพยพทางการศึกษาต้องรับผิดชอบ ในการดำเนินการอย่างเหมาะสม นี่เป็นการท้าทายสังคมไทยและรัฐจารีตไทยกำลังเผชิญหน้ากับเยาวชนเสรีนิยม.
คุณอาจเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับ “หยก” ในแต่ละกรณีก็ได้ เช่น คุณอาจชอบเครื่องแบบและตัดผม หวีผมทรงนักเรียน แต่ถ้าคุณไม่ใช่พวกจารีตอำนาจนิยม คุณจะเข้าใจ ยอมรับ สิทธิเสรีภาพที่เยาวชนเลือกตราบเท่าที่ไม่เป็นโทษกับตนเองและผู้อื่น.
นี่เป็นเวลาที่เยาวชนและคนรุ่นหนุ่มสาวอยากปลดแอกจารีตนิยม อำนาจนิยม
ถ้าคุณมีความเมตตา มีความรับผิดชอบ ต่ออนาคตสังคมไทย และไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจกระทำต่อเยาวชนและผู้ด้อยโอกาสทั้งปวง รัฐไทยและโรงเรียนรัฐไทยต้องสามารถแก้ปัญหาเช่นนี้ได้ แทนที่จะไล่ให้ไปเรียนที่อื่น
อำนาจรัฐจารีต อำนาจนิยมแบบนี้จะไม่สามารถแก้ปัญหา นักเรียนตีกัน ฆ่ากัน เยาวชนติดยาเสพติด ที่เกิดขึ้นอยู่แล้วมากมาย ที่เป็นโจทย์ยากกว่า “หยก” แต่เพียงเยาวชนเช่น “หยก” มีทัศนะทางการศึกษาแตกต่างจากขนบเดิม ดิฉันว่ามันเป็นเรื่องดีมาก ๆ ที่จะทดสอบกระทรวงศึกษาธิการ ระบบการศึกษาไทย หลักสูตร และระเบียบต่าง ๆ ที่หลงยุค เมื่อเผชิญกับความคิดสร้างสรรค์ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกของไทยให้ดีกว่านี้ ไม่ใช่วัน ๆ คิดแต่เรื่อง เครื่องแต่งกาย-ทรงผม ถูกระเบียบไหม? มารยาทเป็นอย่างไร แต่อย่างอื่น ตัวชี้วัดทางการศึกษา สอบตกเพียบ!
“หยก” เป็นเด็กไทย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เป็นโรงเรียนรัฐไทย ไม่มีใครรับผิดชอบเลยหรืออย่างไร? ครูอาจารย์กินเงินเดือนภาษีประชาชนจนรับเงินบำนาญตลอดชีวิต แต่กลับทอดทิ้งลูกหลานประชาชน รัฐไทยและสังคมไทยต้องรับผิดชอบเยาวชนไทย และมีทัศนะคติเชิงบวกต่อความคิดที่ขบกต่อขนบเดิม