ว๊อยซ์ ชวนอ่านบทสนทนา ว่าด้วยหลักการเสรีภาพการแสดงออก สวัสดิภาพที่เด็กและเยาวชนควรได้รับ และสิทธิในการเข้าถึงการศึกษา ตลอดจนเบื้องหลังความคิดอ่านของ ‘หยก’ การต่อสู้และท้าทายชุดความเชื่อที่สังคมส่วนใหญ่ยึดถือ ตลอดจนการตั้งคำถามต่ออำนาจนิยม และการถูกลงทัณฑ์ผ่านระบบที่มองเธอเป็น ‘ภัย’
เด็กสาวเกิดและเติบโตในเมืองกรุง ย่างก้าวสู่วัยรุ่นท่ามกลางบรรยากาศการเคลื่อนไหวทางการเมือง บทสนทนาในกลุ่มเพื่อนเต็มไปด้วยปัญหาทางสังคมที่ปรากฏตามหน้าข่าว ในโมงยามที่กฎหมายถูกใช้ฟาดปากนักเรียนนักศึกษาเป็นว่าเล่น การวิพากษ์วิจารณ์ถูกตีขลุมเป็นกบฏที่ควรต้องโทษ ขณะที่การตั้งคำถามงอกงามแทบทุกซอกหลืบ ตั้งแต่เสื้อผ้า เพศ สุรา หรือสถาบันกษัตริย์
หยก- ธนลภย์ ในวัย 15 ปี เธอไม่ต่างจากเด็กจำนวนมากที่เติบโตมาในช่วงเวลาเหล่านี้ สงสัยใคร่รู้และหาคำตอบผ่านปรากฏการณ์ทางสังคม… สิทธิเสรีภาพคืออะไร อำนาจนิยมเกิดจากใคร การอุ้มฆ่าและบังคับให้สูญหายคืออะไร เหตุใดพรรคการเมืองจึงถูกยุบได้อย่างง่ายดาย กฎหมายใช้กลั่นแกล้งประชาชนได้อย่างไร และเพราะอำนาจใด ผู้คนมากมายจึงต้องหลบเร้นลี้ภัยไปยังประเทศห่างไกลจากแผ่นดินเกิด…
“หนูสนใจการเมืองมาตั้งแต่เด็กๆ แต่เริ่มเข้มข้นจริงๆ ช่วง ม.2-3 นี่แหละค่ะ ตอนเด็กๆ จะชอบเรื่องประวัติศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ จากนั้นเราก็เริ่มดูกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง อื่นๆ เริ่มรู้จักประเด็นอุ้มฆ่าหรือถูกบังคับให้สูญหาย การรัฐหารต่างๆ เริ่มศึกษาประวัติศาสตร์เพิ่มขึ้น เริ่มอ่านเยอะขึ้น”
“พอเราได้อ่าน เรารู้สึกว่า อืม…ทำไมปัจจุบันนี้มันยังต้องเรียกร้องเรื่องพวกนี้กันอยู่ ทั้งที่อดีตก็มีการต่อสู้เรียกร้องเรื่องพวกนี้กันอยู่ มันพลาดตรงจุดไหน ต้องแก้ตรงจุดไหน ทำไมปัจจุบันยังไม่จบยังไม่เคลียร์”
การเคลื่อนไหวของนักเรียนในช่วงปี 2563-2564 ทำให้หยกสนใจศึกษา ‘ความผิดปกติ’ ในความปกติของสังคม กระทั่งเธอถูกหมายหัว และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามไปถึงบ้าน ถูกนำภาพไปโพสต์ข่มขู่ในโซเชียล และระหว่างการถูกจับกุม เธอเล่าว่า ถูกจากเจ้าหน้าทีตำรวจชุดจับกุม เป็นชายหลายคนล่วงละเมิด โดยได้นั่งทับตัวเธอ ล้วงจับขา และบางคนล้วงเข้าไปบริเวณหน้าอก เพื่อพยายามยึดเอาไอแพดที่เธอเหน็บไว้ในเสื้อด้านใน
จากนักเรียน สู่ ‘ผู้ต้องหาคดี 112’ หยกถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานพินิจถึง 51 วัน ทำให้เธอไม่ได้เข้าเรียนในชั้น ม.4 พร้อมกับเพื่อนๆ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่หยกเผชิญในวัย 14 -15 ปี
ว๊อยซ์ ชวนอ่านบทสนทนา ว่าด้วยหลักการเสรีภาพการแสดงออก สวัสดิภาพที่เด็กและเยาวชนควรได้รับ และสิทธิในการเข้าถึงการศึกษา ตลอดจนเบื้องหลังความคิดอ่านของ ‘หยก’ การต่อสู้ที่เธอต้องเผชิญอย่างเลี่ยงไม่ได้ และการท้าทายชุดความเชื่อที่สังคมส่วนใหญ่ยึดถือ ตั้งคำถามต่ออำนาจนิยม และการถูกลงทัณฑ์ผ่านระบบที่มองเธอเป็น ‘ภัย’
จากผู้เยาว์ สูาผู้ต้องหา 112
ราวเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ หยกได้รับหมายเรียกคดี 112 จากการถูก อานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำ ศปปส. เป็นผู้แจ้งความ
28 กุมภาพันธ์ ร.ต.อ.เลิศชาย ผือลองชัย ยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครับกลาง เพื่อออกหมายจับ หยก โดยอ้างว่า ‘มีหลักฐานสมควรว่าได้ หรือน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี’
28 มีนาคม 2566 ศิลปินอิสระจาก จ.ขอนแก่น พ่นสีสเปรย์เป็นข้อความไม่เอา 112 และสัญลักษณ์อนาคิสต์บนกำแพงพระบรมมหาราชวัง ไม่นานนัก เขาถูกตำรวจเข้าจับกุมและควบคุมตัวไปยัง สน.พระราชวัง แล้วแจ้ง 2 ข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ
ในวันเดียวนั้น หยก ถูกจับกุมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยได้ทราบในภายหลังว่า เป็นหมายจับในคดี 112 ออกโดยศาลเยาวชนฯ ลงวันที่ 28 ก.พ. 2566 โดยต่อมาทราบว่าข้อกล่าวหาเป็นพฤติการณ์เกี่ยวกับการแสดงออกระหว่างกิจกรรมที่ชื่อว่า #13ตุลาหวังว่าสายฝนจะพาล่องลอยไป บริเวณลานเสาชิงช้า เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2565
ระหว่างถูกจับกุม หยกเล่าว่า เธอถูกใช้ความรุนแรงในลักษณะคุกคามทางเพศ เจ้าหน้าที่ตำรวจชายคนหนึ่งใช้มือล้วงเข้าไปในเสื้อด้านใน เพื่อยึดไอแพดของเธอ
“ก่อนที่จะโดนคดี มาตรา 112 เคยคิดเล่นๆ เหมือนกันนะคะว่า สักวันเราอาจจะโดน แต่ไม่คิดว่าเราจะโดนตอนอายุ 14 ปี” หยกกล่าว
29 มีนาคม 2566 เธอนั่งหันหลังให้กับบังลังก์ศาลเยาวชนฯ ปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม เพื่อประกาศเชิงสัญญะว่า การจับกุมเธอเป็นไปโดยไม่ชอบธรรม
บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม นักเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มทะลุวังเล่าว่า ก่อนหน้านี้เธอรู้จักกับหยกผ่านหน้าข่าว กระทั่งวันที่เหตุการณ์จับกุมหยกปรากฏในไลฟ์สด ทั้งการใช้ความรุนแรง กระชากคอ ทำให้วันต่อมา เธอและเพื่อนเดินทางไปยังศาลเยาวชนเพื่อสังเกตการณ์ และได้กลายเป็นบุคคลที่คอยให้ความช่วยเหลือ ตลอดจนเป็นที่ปรึกษาในยามที่หยกตกในภาวะวิกฤติ
“จุดหนึ่งที่ทำให้หยกสู้ยิบตาขนาดนี้ เพราะหยกเขาประนีประนอมแล้ว เขาขอแล้ว เขาเอาวันสอบไปยื่นต่อตำรวจว่ ช่วยเลื่อนวันรายงานตัวออกไปให้เขาหน่อย เพราะว่าเขามีสอบนะ สุดท้าย ตำรวจก็พลิกลิ้นกับเขา โกหกเขา บอกเขาว่า จริงๆ เธอมีหมายจับอีกใบหนึ่งอยู่แล้ว และจับน้องด้วยความรุนแรง
“มีเอกสารใบหนึ่งที่ตำรวจต้องส่งให้ศาลว่า การจับกุมของฉันมันชอบธรรม เป็นไปโดยละมุนละม่อม ไม่ได้ทำร้ายจิตใจ แจ้งผู้ปกครองแล้ว มีสหวิชาชีพอยู่ด้วย มีที่ปรึกษาทางกฎหมายอยู่ด้วย แต่ใส่ความเป็นจริง ทั้งหมดที่ว่ามานี้ ไม่มีเลยในขั้นตอนจับกุมหยก แต่ตำรวจก็กล้าที่จะติ๊กถูกในเอกสารว่าฉันทำทุกข้อแล้วตรงตามกฎหมาย
“บุ้งว่าในกระบวนเหล่านี้ ทำให้หยกรู้สึกว่า ไม่ไหวแล้ว”
ระหว่างกระบวนการ หยกขอติดต่อหา ‘ประเวศ ประภานุกูล’ อดีตทนายความกลุ่มคนเสื้อแดง และผู้ต้องคดีมาตรา 112 และมาตรา 116 เพื่อขอความรู้ในเรื่องขั้นตอนทางกฎหมาย และประสบการณ์ในวันที่ทนายประเทศ แสดงเจตจำนงที่จะปฏิเสธอำนาจศาล เพื่อยืนยันในหลักการที่ถูกต้อง
“หยกเขาไม่ได้มองว่า ทนายประเวศคือไอดอลของฉัน ฉันจะทำตามทุกอย่าง มันไม่เหมือนกัน หยกฟัง นำมาปรับใช้ในวิธีของตัวเอง”
“ที่ปรึกษาทางกฎหมายของน้องก็บอก พวกเราก็บอกว่า ประกันตัวไหม เขาก็บอกว่า หนูว่าไม่ ถ้าหนูร้องขอขนาดนี้แล้วยังบุกจับหนู ทำร้ายร่างกายหนู ไม่ให้ความยุติธรรมกับหนูเลย ยังบอกว่าการจับกุมครั้งนี้มันชอบธรรม หนูไม่เอาแล้วกับกระบวนการยุติธรรมแห่งประเทศไทย” บุ้งเล่า
ศาลเยาวชนฯ ออกหมายควบคุมตัวหยก ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี จังหวัดนครปฐม รวมระยะเวลา 51 วัน ที่สุดแล้ว หยกถูกส่งตัวไปยังสถานพินิจบ้านปราณี มีหนังสือที่พี่ๆ คอยส่งให้เป็นเพื่อนคลายเหงาและขัดเกลาความคิดความอ่านในประเด็นที่เธอต้องต่อสู้ และมีอยู่บ่อยครั้งที่หยกถูกห้ามไม่ให้อ่านหนังสือบางเล่ม … บางเล่มที่ถูกเบื้องบนชี้นิ้วว่าเป็นภัย
“ตอนที่เราถูกนำตัวไปบ้านปราณี มีเจ้าหน้าที่ 3 คนรุมว่าเราบนรถ ว่าเราชังชาติ ว่าเรารับเงินมา เราก็เลยตั้งกำแพงใส่เขา พอไปถึงบ้านปราณี เราได้ไปอยู่หอกักโควิด ตอนนั้นเราไม่สบาย ปวดหัวมาก แต่เขาไม่ให้เราไปหาหมอ เราก็ขอเขา บอกว่าเราไม่ไหวจริงๆ มันปวดหัวมากๆ สุดท้ายเราก็พบว่าเราเป็นโควิดจริงๆ แล้วยาที่ได้ มีแค่ยาแก้เจ็บคอ ได้แค่นั้น”
“หนูคิดว่าเด็กๆ และเยาวชนที่อยู่ในนั้นสามารถได้รับการดูแลได้ดีกกว่านี้ สภาพการอยู่ในนั้นไม่โอเคเลย ที่นอนยางพารา น้ำบาดาล หนูคิดว่าเด็กๆ แม้เขาจะทำผิดมา เขาควรได้รับการดูแลและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ ในการที่จะปรับปรุงพฤติกรรมนิสัยของเขา” หยกเล่า
อำนาจนิยมบนอาภรณ์
หลังหยกถูกปล่อยตัวจากบ้านปราณี เธอเดินทางเพื่อไปมอบตัวเขาศึกษาชั้น ม.4 ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการในวันที่ 19 พ.ค. 2566 โรงเรียนที่เธอสอบเข้าได้ตามขั้นตอน แต่จำต้องเข้าเรียนล่าช้าเพราะต้องคดีความทางการเมือง
“บุ้งพาน้องไปมอบตัว ตอนแรกทางโรงเรียนก็ปฏิเสธ อ้างว่าให้เอาทนายมา ไม่เอาบุ้ง บุ้งรู้สึกว่ามันแปลกมากเลย เพราะหยกเขาควรมีสิทธิ์เรียน เขาสอบติดแล้ว หากหยกไม่ใช่เด็กที่โดนคดีมาตรา 112 คุณจะถามหาทนายเขาไหม”
“ท้ายที่สุดก็มี ส.ส. จากพรรคก้าวไกลไปช่วยพูด โดยบอกว่าสาระสำคัญมันคือการที่น้องต้องได้เรียนก่อนนะครับ เพราะน้องขาดเรียนมาหลายวันแล้ว สุดท้ายโรงเรียนก็ยอมให้มอบตัว โดยแจ้งว่า กระบวนการยังไม่เสร็จสิ้นนะ ให้เอาสำเนาทะเบียนบ้านของคุณพ่อคุณแม่มาก่อน”
ในวันเดียวกัน เนติพร ได้ติดต่อไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อขอคำแนะนำในกรณีที่หยกและบุ้งไม่สามารถติดต่อพ่อแม่ได้ ทำอย่างไรหยกจึงจะสามารถเข้าเรียนได้อย่างสมบูรณ์ตามสิทธิ์ที่เธอถึงมี
บุ้งยืนยันกับเราว่า ที่สุดแล้ว กสม. ได้ติดต่อมาในภายหลัง เพื่อแจ้งว่า ผู้อำนวยการโรงเรียนยอมรับการมอบตัวของหยก กระบวนการมอบตัวเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์
หลังเรียนไปได้สักระยะ หยกตัดสินที่จะแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อตั้งคำถามถึงกฎว่าทรงผมและการแต่งกายของนักเรียน เธอเริ่มด้วยการใส่ชุดไปรเวท และขยับสู่การย้อมผม โดยหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่่ผลักดันเธอ คือกรณีนักเรียน ม.3 ตัดสินใจกระโดดจากเสาส่งสัญญาณเพื่อฆ่าตาย หลังถูกครูบังคับให้ตัดผม
“ตอนนั้นมีประเด็นเรื่อง #อาณาจักรฟ้าขาว คือการที่นักเรียน ม.3 กระโดดเสาสัญญาณโทรศัพท์ฆ่าตัวตาย เพราะครูสั่งให้ตัดผมถึง 3 ครั้ง หนูคิดว่าทำไมชีวิตคนเราต้องมาตายเพราะการถูกบังคับเรื่องทรงผม ซึ่งมันคืออำนาจนิยม ชีวิตคนเรามันมีค่ากว่านั้น โดยเฉพาะเด็กไทยที่ต้องเจองานเป็นกอง เจอครูบางคนที่ไม่ค่อยโอเค กฎระเบียบที่ไม่สมเหตุสมผล
“กฎระเบียบมันต้องมีค่ะ แต่มันต้องไม่ละเมิดสิทธิในเนื้อตัวเราจนเกินไป และควรจะมีเหตุผลให้เด็ก
การมีชุดนักเรียนมันไม่เท่ากับอำนาจนิยม แต่การบังคับให้เด็กทุกคนต้องใส่ชุดนักเรียน นี่แหละคืออำนาจนิยม หยกยืนยันกับเราเช่นนี้
“พอหนูเริ่มเเต่งไปรเวทกับย้อมสีผม ก็มีเพื่อนนักเรียนมาถามว่า ‘แต่งไปรเวทได้หรอ หนูก็บอกว่า ‘นี่คือร่างกายของเรานะ ถ้าเธอทำตาม เธอคงโดนครูมาคุยเหมือนกัน และอาจมีปัญหาเข้าห้องปกครองเหมือนกันนะ แต่ถ้าเธอยากทำจริงๆ แล้วเจอปัญหาจริงๆ เราก็มาช่วยๆ กันได้นะ’
หยกไม่เคยชักชวนให้ใครลุกขึ้นมาย้อมสีผมหรือแต่งชุดไปรเวท หรือบังคับให้ใครต้องมาต่อสู้เรื่องอำนาจนิยมในบางกฎระเบียบดังที่เธอทำอยู่ ทุกครั้งที่มีเพื่อนนักเรียนมาสอบถาม สิ่งที่เธอทำคือ แนะนำผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากเพื่อนคนนั้นปรารถนาต่อสู้ในวิถีทางเช่นนี้
“หนูคิดว่า การบังคับให้เราทำอะไรเหมือนๆ กัน มันไม่ได้สร้างความคิดสร้างสรรค์อะไรเลย มันคือการกดทับให้เด็กต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นตามที่ผู้ใหญ่อยากให้เป็น เหมือนถูกใส่ในกรอบ ทั้งที่ความจริงคือเราจะเป็นอะไรก็ได้ เราควรจะทำอะไรก็ได้ที่เราอยากทำแล้วมันไม่ไปละเมิดใคร”
13 มิถุนายน หยก โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ประกาศเธอถูกไล่ออกจากโรงเรียน โดยมีครูประจำชั้น ครูผู้ชาย และรองผู้อำนวยการรวม 6 คน เรียกหยกเข้าไปคุยในห้องห้องหนึ่ง หยกถูกนั่งล้อมอยู่วงครู และที่สุดแล้ว ครูได้พูดในทำนองว่า หยกคือบุคคลภายนอกแล้ว และจะคืนค่าเทอมให้
14 มิถุนายน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ออกแถลงการณ์ฉบับแรก ระบุว่า ‘หยก’ ไม่มีสถานะเป็นนักเรียนของโรงเรียนเตรียมพัฒน์ โดยโรงเรียนอ้างว่าไม่ได้ทำตามระเบียบการมอบตัวให้ครบถ้วน เหตุจากหยก ไม่ได้มามอบตัวพร้อมกับผู้ปกครองตามสายเลือด ภายในวันที่ 10 มิ.ย. 2566 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการกรอกข้อมูลจำนวนนักเรียนในระบบ ‘DMC’ ส่งผลให้หยก ไม่ได้เรียนในปีการศึกษา 2566
ต่อมาวันที่ 17 มิถุนายน โรงเรียนเตรียมพัฒน์ฯ ได้ออกแถลงการฉบับที่สอง ระบุว่า หยกไม่ปฏิบัติตามระเบียบของโรงเรียน อาทิ ไม่แต่งกายชุดนักเรียน ทำสีผม การมาเรียนตามเวลา/รายวิชาตามความพอใจของนักเรียน ฯลฯ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวถือเป็นการไม่ยอมรับกฎระเบียบและไม่เข้าสู่กระบวนการของโรงเรียน
“วันแรกที่ถูกเรียกไปคุย สำหรับหนูมันไม่เคลียร์ว่า เขาไม่ให้เราเรียนต่อเพราะเรื่องมอบตัวจริงหรือ?
“หนูเลยไปโรงเรียนอีกครั้ง วันที่เขาปิดประตูโรงเรียน เพราะหนูอยากได้คำตอบจากโรงเรียน ทำไมถึงไม่ให้เข้าเรียน ทำไมถึงปิดประตู ตอนแรกหนูไปคนเดียวเลย ไปโรงเรียนตามปกติเหมือนที่เคยไป รปภ. ก็บอกว่าให้รอผู้บริหารมาคุย เป็นคำสั่งของผู้บริหาร
“หนูก็รอ รอนานมาก รอจนไม่ไหว จนพี่บุ้งมาหา ผู้บริหารก็ไม่ลงมาคุยอยู่ดี สุดท้ายการเข้าไปเรียนได้ของหนูคือการปีนเข้าไป ตอนนั้นมีเพื่อนนักเรียนคนอื่นๆ ที่เขามาสายแล้วรอเข้าโรงเรียนอยู่ด้วย โรงเรียนก็ปิดประตูไม่ให้ใครเข้าไปเลย หนูรู้สึกว่าเพราะหนูคนเดียวเพื่อนๆ เลยเข้าเรียนไม่ได้” หยกเล่า
สิทธิ เสรีภาพ สวัสดิภาพ
ทันทีที่วิดิโอ ‘หยก’ ในชุดไปรวเท ผมสีชมพู กำลังปีนรั้วโรงเรียนปรากฏต่อสาธารณชน ได้เกิดข้อถกเถียงและการปะทะทางความคิดเห็นในโลกโซเชียลรุนแรง ด้านหนึ่งมองว่า การกระทำของหยกไม่เคารพต่อกฎโรงเรียน สุดโต่ง หรือกระทั่งมีคนชักใยอยู่เบื้องหลัง ส่วนอีกด้าน มองว่านี่คือการต่อสู้หนึ่งในวิถีประชาธิปไตย และยืนยันว่า การแสดงอารยะขัดขืนของหยกนั้นชอบธรรม เพราะหยกไม่ได้ขู่บังคับหรือทำร้ายร่างกายใครแต่อย่างใด
สุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวถึงกรณีหยกว่า การกระทำของหยกยังอยู่ในกรอบของการแสดงออกเกี่ยวกับสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย และอยู่ในกรอบของการแสดงออกอย่างสันติ อีกทั้งประเด็นที่หยกสื่อสาร ทั้งการแต่งกาย ทรงผม วิชาเรียน และหลักสูตรการศึกษา ล้วนเป็นประเด็นที่สังคมไทยสื่อสารกันมาหลายปี
สิ่งที่สุนัยกังวล คือเรื่องการที่หยกพ้นสภาพการเป็นนักเรียนของโรงเรียนเตรียมพัฒน์ ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่มีพ่อแม่หรือผู้ปกครองตามกฎหมายมามอบตัวหยกตามเวลาที่กำหนด
“จากการตรวจสอบ เราพบว่า หยกไม่สามารถติดต่อคุณแม่ได้อีกต่อไป ไม่มีใครติดต่อกับคุณแม่ได้ โรงเรียนเองก็ส่งครูไปที่บ้าน คุณแม่ก็ไม่คุยด้วย เพราะฉะนั้น สถานภาพของหยก พูดง่ายๆ คือ เด็กที่ถูกทอดทิ้ง ในกรณีนี้ โรงเรียนควรเอาสิทธิประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นที่ตั้ง นั่นคือสิทธิในการเข้าถึงการศึกษา เพราะกฎหมายเขียนไว้ว่า ในกรณีที่ไม่มีพ่อแม่ การมอบตัวเป็นผู้อุปการะ หรือคนที่ดูแลอยู่ หรือคนที่เด็กพักอาศัย หรือคนที่ทำงานด้วย มีเงื่อนไขเสริมอีกมากมายถ้าพิสูจน์ตัวได้ว่าเป็นผู้อุปการะอย่างแท้จริง เด็กอยู่ด้วยอย่างแท้จริง แล้วมีความปลอดภัยดูแลกันได้ โรงเรียนก็สามารถอะลุ่มอล่วยได้
“คำถามก็คือ ทำไมโรงเรียนจึงไม่อะลุ่มอล่วยให้ทั้งที่กฎหมายเปิดช่องไว้มากมาย”
พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก 2546 ได้นิยามความหมายของคำว่า ‘ผู้ปกครอง’ ไว้ว่า บิดามารดา ผู้อนุบาล ผู้รับบุตรบุญธรรม และผู้ปกครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และรวมถึงพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยง ผู้ปกครองสวัสดิภาพ นายจ้าง ตลอดจนบุคคลอื่นซึ่งรับเด็กไว้ในความอุปการะเลี้ยงดู หรือซึ่งเด็กอาศัยอยู่ นั่นหมายความว่า กฎหมายเปิดช่องให้ ‘ผู้ปกครอง’ อาจไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อแม่แท้ ๆ ของเด็ก แต่สามารถเป็นผู้ที่อุปการะเลี้ยงดูเด็กหรือผู้ที่เด็กอาศัยอยู่ด้วยก็ได้
หรือหากไปดูตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องการส่งเด็กเข้าเรียนในสถานศึกษา 2546 ได้ให้นิยามไว้ว่า ‘ผู้ปกครอง’ หมายความว่า บิดา มารดา ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือผู้ปกครองตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และหมายความรวมถึงบุคคลที่เด็กอยู่ด้วยเป็นประจำ หรือที่เด็กอยู่รับใช้การงาน
นอกจากนี้ ยังมี พ.ร.บ. การศึกษาภาคบังคับ ที่ก็ได้ให้คำนิยามของผู้ปกครองไว้ในลักษณะที่เป็นไปในทางเดียวกัน คือผู้ปกครองสามารถเป็นผู้ที่อุปการะเลี้ยงดูหรือผู้ที่เด็กอาศัยอยู่ด้วยก็ได้
อีกทั้งตามหลักสากล ในกรณีที่พ่อแม่ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม รัฐจะต้องเข้ามามีบทบาทในการเป็นผู้ปกครองชั่วคราว เพื่อดูแลเด็กให้มีความปลอดภัย จนกว่าเด็กจะได้รับการอุปการะอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
“กรณีของหยกมันตัดตอนกันไปว่า หลังจากสืบเสาะว่าคุณพ่อหาตัวไม่เจอมาหลายปี คุณแม่ก็ตัดการติดต่อไป ญาติไม่มี ฉะนั้น คนใกล้ชิดที่เป็นสายเลือดหยกไม่มีแล้ว ตอนนี้เหมือนเป็นการช่วยกันในทางพฤตินัย ช่วยเฉพาะหน้ากันไปก่อน ทางเลือกที่ดูจะยั่งยืนมากกว่าคือ รัฐจะต้องเข้ามา หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องสวัสดิภาพและสิทธิเด็กจะต้องเข้ามา
“ที่สำคัญ เรายังไม่เห็นนักสิทธิเด็กเลย ซึ่งปกติ นักสิทธิเด็กในประเทศไทยขยันพูด ขยันออกกล้อง ขยันหาแสง แต่งานนี้นักสิทธิเด็กหายหมด เราก็ตั้งคำถามว่า หายไปไหน”
สำหรับทางออกในระยะยาว สุนัยเสนอว่า หากผู้อุปการะต้องการดูแลหยก ควรจะขอต่อศาลเพื่อให้ศาลแต่งตั้งเป็นผู้ปกครองที่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากหยกมีคดีมาตรา 112 ที่อาจถูกสั่งฟ้องหรือออกหมายจับได้อีกในอนาคต แม้โดยหลักปฏิบัติแล้วศาลจะไม่สั่งคุมขังเด็ก แต่จะส่งกลับให้ครอบครัว และเมื่อหยกไม่มีครอบครัวตามกฎหมาย ปลายทางก็อาจลงเอยยังสถานพินิจแห่งใดแห่งหนึ่งดังที่ผ่านมา
ไม่ควรมีเด็กคนใด ถูกผลักออกจากการศึกษา
วรพล ศิริชื่นวิจิตร คุณครูจากโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า การวิพากษ์วิจารณ์ที่รุนแรงในวงกว้างจากกรณีของหยก คือ การปะทะของสองชุดความคิดและอุดมการณ์ทางการเมือง ระหว่างเสรีนิยมประชาธิปไตย และขั้วอนุรักษนิยมที่มองว่า ทุกอย่างควรอยู่คงที่ สวยงาม และดีในแบบของตัวมันเองอยู่แล้ว ดังนั้น การแสดงออกซึ่งสัญญะทางการเมืองของหยก จึงได้เข้าไปสั่นสะเทือนชุดอุดมการณ์อนุรักษนิยมที่คนส่วนใหญ่ในสังคมยึดถือ ผลคือ หยกถูกมองว่าผิดแปลกไปจากบรรทัดฐานเดิมของสังคม หรือผิดไปจากสิ่งที่สังคมมองว่าเป็นสิ่งปกติ หยกจึงกลายเป็น ‘ขบถ’ เป็นความผิดปกติที่ไม่ควรยอมรับ
“แต่ปรากฏว่าตอนคนเถียงกัน กลับไม่ได้เถียงกันในเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง แต่เถียงกันในเรื่องการทำตามกฎ หรือไม่ทำตามกฎของโรงเรียน พอเป็นแบบนี้เถียงกันอย่างไรก็เถียงไม่จบ เพราะตั้งต้นชุดความคิดคนละแบบ”
เขาเฝ้ามอง ‘หยก’ ผ่านหน้าข่าวและโลกโซเชียลดังเช่นคนอื่นๆ เห็นการปะทะกันทางความคิด และเห็นแรงปะทะที่หยกในฐานะเด็กอายุ 15 ได้รับ
วรพลยืนยันว่า โรงเรียนไม่ใช่พื้นที่ที่เมื่อเด็กทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือเด็กทำผิด แล้วผู้ใหญ่จะต้องเหยียบเขาให้จม หรือผลักเด็กออกจากโรงเรียน เขาเชื่อเสมอว่า โรงเรียนที่ปลอดภัยจะยอมรับและช่วยเด็ก ผ่านกระบวนการพูดคุย แลกเปลี่ยน และแนะนำได้ว่า สิ่งที่เด็กกระทำจะกระทบต่อผู้อื่นและตนเองอย่างไร
“โรงเรียนน่าจะเป็นพื้นที่ ที่ให้โอกาสเด็กได้ลองผิด ลองถูก ถ้าเขาผิด เราก็แค่บอกเขาว่าลองใหม่ แต่ก็ที่จะลองตรงนี้สำคัญ ทางเด็กสามารถที่จะสร้างโอกาสและทางเลือกได้มาก เชื่อว่าประสบการณ์ก็จะสอนเขาด้วย”
โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหนึ่งไม่กี่โรงเรียนในประเทศ ที่ออกแบบให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการสร้างธรรมนูญโรงเรียน และให้นักเรียนสามารถแต่งชุดไปรเวทมาโรงเรียนได้ อาทิตย์ละ 3 วัน ไม่บังคับทรงผม บนเงื่อนไขเดียวคือ ผู้เรียนต้องการแต่งกายให้เหมาะกับการเรียน
“หมายความว่า ถ้าเรียนพละ จะใส่กระโปรงหนังชาวร็อก หรือใส่รองเท้าส้นเข็มมาเรียนพละก็ไม่ใช่ ดังนั้นการแต่งกายต้องเหมาะกับการเรียน มีความสุภาพ และสะอาด”
และในฐานะครูที่ทำงานกับนักเรียน ในโรงเรียนที่มีความเชื่อว่า ‘การเรียนรู้’ คือสิ่งที่ประเสริฐที่สุด และทุกคนเรียนร่วมกันได้ โดยมองเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ครูวรพล จึงได้นำปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับ ‘หยก’ ไปเป็นหนึ่งในบทสนทนา เพื่อให้นักเรียนได้คิดวิเคราะห์ แสดงความคิดเห็น และโต้แย้งกัน
“เราพบว่ามีความคิดเห็นแตกต่างหลากหลายมาก บางคนก็มองว่าแล้วสุดท้ายแล้วกฎมันต้องเป็นอย่างไร ตรงนี้ได้ชวนคุยต่อไปว่า เราอย่าลืมว่า กฎถูกสร้างขึ้นด้วย paradigm ความคิดไหน ถ้าเราตั้งคำถามนี้เด็กก็จะเริ่มสนใจต่อว่า กฎถูกสร้างมาด้วยความคิดไหน”
ใช่ว่าโรงเรียนสาธิต มธ. จะไม่มีกฎ แต่กฎนั้นยืนอยู่บนการ ‘ออกแบบร่วม’ และสามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมปัจจุบัน และเห็นประโยชน์สูงสุดของนักเรียนเป็นสำคัญ
“ผมมองว่า ถ้านักเรียนทุกคนคิดแบบหยก และถูกไล่ไปเรียนที่อื่น โรงเรียนผมก็ต้องสร้างตึกเพิ่ม ทำไมเราไม่ทำให้โรงเรียนทุกโรงเรียนเป็นที่ที่เปิดรับทุกชุดความคิด เพื่อตอบรับความหลากหลายของเด็กที่มีมากขึ้นในทุกวัน เราก็ควรทำให้สังคมเปิดกว้างรับความแตกต่างหลากหลาย สังคมไม่ได้มีแค่ขาวกับดำ มันมีหลากหลายสี โลกสร้างทุกคนมาไม่เหมือนกัน ทำไมเราต้องคิดว่าชุดความคิดใดมันดีที่สุดด้วย หรือทำไม่ต้องมีชุดความคิดใดที่ต้องถูกกดให้ต่ำกว่าชุดความคิดอื่นด้วย และใครเป็นคนบอกว่าอะไรดีกว่าอะไร”
อย่าเห็นเด็กเป็นศัตรู เด็กคือคนที่เราต้องบ่มเพาะให้เขาเติบโต … ครูวรพลย้ำ