หน้าแรก Voice TV ‘ก้าวไกล’ เลื่อนถก ‘เพื่อไทย’ ปมประธานสภาฯ พร้อมชู ‘ปดิพัทธ์’ ชิงแคนดิเดตประมุขนิติบัญญัติ

‘ก้าวไกล’ เลื่อนถก ‘เพื่อไทย’ ปมประธานสภาฯ พร้อมชู ‘ปดิพัทธ์’ ชิงแคนดิเดตประมุขนิติบัญญัติ

70
0
‘ก้าวไกล’-เลื่อนถก-‘เพื่อไทย’-ปมประธานสภาฯ-พร้อมชู-‘ปดิพัทธ์’-ชิงแคนดิเดตประมุขนิติบัญญัติ

‘ก้าวไกล’ แจ้งสื่อขอเลื่อนหารือกับ ‘เพื่อไทย’ เคลียร์ปมประธานสภาฯ ออกไปก่อน ขณะเดียวกันยังเสนอ ‘ปดิพัทธ์’ เป็นแคนดิเดตประธานสภาฯ โดยชูวิสัยทัศน์เปลี่ยนรัฐสภาเป็นตัวแทนประชาชน เน้น ‘3 ป.’

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2566 พรรคก้าวไกลได้โพสต์เฟซบุ๊กในช่วงค่ำถึง วิสัยทัศน์แคนดิเดตประธานสภาของพรรคก้าวไกล: สร้างรัฐสภาที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นของประชาชน  โดยพรรคก้าวไกลเสนอชื่อ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล เป็นแคนดิเดตประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยระบุว่า  ในการเลือกตั้ง 2566 ที่เพิ่งผ่านมา กระแสความต้องการการเปลี่ยนแปลง ปรากฏเข้มข้นและชัดเจนอย่างไม่เคยมีมาก่อน จนนำพาพรรคก้าวไกลสู่การเป็นพรรคการเมืองที่ได้เสียงมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร

พี่น้องประชาชนหวังถึงความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่เปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนนายกรัฐมนตรี แต่รวมถึงการเปลี่ยนรัฐสภาด้วย ในฐานะตัวแทนโดยตรงของประชาชน

ปดิพัทธ์ ระบุว่า “ผมมีความตั้งใจที่จะผลักดันรัฐสภาไทยให้เป็นสภาที่ก้าวหน้าที่สุดในเอเชีย ทั้งในแง่การออกกฎหมายและวัฒนธรรมองค์กร รัฐสภาชุดนี้ จะเป็นรัฐสภาของประชาชน และเป็นรัฐสภาที่ไม่ถูกครอบงำโดยฝ่ายบริหาร มีเจตจำนงแน่วแน่ในการใช้อำนาจที่ได้รับมาจากประชาชน รับใช้ประชาชน โดยไม่เลือกปฏิบัติหรือโอนอ่อนตามพรรคการเมืองใด”

ภารกิจของรัฐสภา จะประกอบไปด้วย 3ป. ได้แก่ ประสิทธิภาพ โปร่งใส ประชาชน

“ประสิทธิภาพ”

ประสิทธิภาพในการใช้เวลาการประชุม พิจารณากฎหมาย ข้อร้องเรียน ความเดือดร้อนของประชาชนอย่างรวดเร็ว ไม่เกิดเหตุสภาล่มบ่อยครั้ง

ประสิทธิภาพในการออกกฎหมาย เป็นฝ่ายนิติบัญญัติที่เข้มแข็ง ส่งเสริมให้ ส.ส. เสนอร่างกฎหมายมากขึ้น เพื่อทำหน้าที่นิติบัญญัติอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงรับรองกฎหมายของรัฐบาล

ประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อกับประชาคมโลก แปลกฎหมายเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเอื้อต่อการศึกษา ดูงาน เพิ่มความร่วมมือกับสภาต่างประเทศในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการออกกฎหมายที่ก้าวหน้า

ประสิทธิภาพในการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น การเรียกรัฐมนตรีเข้าตอบกระทู้ และใช้กลไกกรรมาธิการอย่างเข้มแข็ง โดยไม่เลือกปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใด

ประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณ เช่น งบเลี้ยงรับรอง งบดูงานต่างประเทศ เพิ่มงบดูแลสวัสดิการของข้าราชการลูกจ้าง แม่บ้าน ตำรวจสภา ลดงบโครงสร้างพื้นฐานของสภา ไปเพิ่มงบพัฒนาการทำงานวิชาการของสภา ติดตามตรวจสอบการก่อสร้างสภาที่ล่าช้า

“โปร่งใส”

จัดทำระบบเปิดข้อมูลการอภิปราย การทำงาน การเข้าประชุม การลงมติ ของ ส.ส. ให้ประชาชนทั่วไปตรวจสอบได้ง่าย

จัดทำระบบติดตามสถานะของร่างกฎหมาย

การจัดซื้อจัดจ้าง ทำสัญญาจ้างพนักงานอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส

จัดทำระบบแสดงตนที่โปร่งใส ไร้การเสียบบัตรแทนกัน

“ประชาชน”

ให้ประชาชนใช้บริการสภาได้โดยง่าย เข้าถึงทุกบริการอย่างสะดวก เช่นห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ห้องให้นม ห้องเลี้ยงเด็ก

สนามหญ้ารอบสภา จะเป็นที่แสดงออกของคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน

จัดทำสภาเยาวชน เพื่อสะท้อนเสียงและความต้องการของเยาวชนไปถึงผู้บริหารประเทศ

จัดสภาสัญจรไปยังกลุ่มประชาชนที่เข้าไม่ถึงบริการและทรัพยากรรัฐ

สร้างระบบให้ประชาชนเข้าถึง ติดต่อ สอบถามสมาชิกรัฐสภาทุกคนได้ผ่านเว็บไซต์

รัฐสภาคือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะสภาคือศูนย์กลางอำนาจที่สถาปนาโดยประชาชน เป็นตัวแทนของประชาชนเจ้าของประเทศ ประเทศไทยที่เราอยากเห็นจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องเริ่มสร้างจากในรัฐสภาเป็นแห่งแรก รัฐสภายังเป็นหนึ่งในสามอำนาจอธิปไตยของประเทศ ความเป็นนิติรัฐ เป็นประชาธิปไตย ของประเทศ ย่อมขึ้นอยู่กับฝ่ายนิติบัญญัติเป็นสำคัญ

“ผมมุ่งมั่นจะทำให้สภาเป็นเสาหลักของประชาธิปไตย ค้ำจุนประเทศให้ได้ ให้สมกับที่ผู้แทนราษฎรทุกคน ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจแทนประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ” ปดิพัทธ์ ย้ำ

ปดิพัทธ์ สันติภาดา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทันทีที่พรรคเพื่อไทยแถลงยืนยันให้คณะเจรจาของพรรคได้หารือกับพรรคก้าวไกลโดยยืนยันหลักการประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นของพรรคเพื่อไทยและ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นของพรรคก้าวไกลนั้น ทำให้ช่วงดึกคืนวันที่ 27 มิ.ย. 2566 พรรคก้าวไกลได้แจ้งต่อสื่อมวลชนว่า การประชุมระหว่างพรรคก้าวไกล-พรรคเพื่อไทยในวันที่ 28 มิ.ย. 2566 ขอเลื่อนออกไปก่อน หากมีกำหนดการใหม่จะแจ้งให้สื่อมวลชนทราบอีกครั้ง

รายงานข่าวแจ้งว่า มีความเป็นไปได้ว่ากำหนดการประชุมพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลทั้ง 8 พรรค จากเดิมที่กำหนดไว้คือวันที่ 29 มิ.ย.นี้ อาจต้องเลื่อนออกไปก่อน โดยพรรคร่วมรัฐบาลต้องการให้พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยเร่งจบปัญหาตำแหน่งประธานสภาฯ นี้โดยเร็ว เนื่องจากใกล้จะเปิดประชุมสภานัดแรกในวันที่ 4 ก.ค.นี้ แล้ว อีกทั้งยังถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนด้วย และคาดว่าตำแหน่งประธานสภาฯ จะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์นี้

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่