วันนี้ (29 มิ.ย.2566) วิเคราะห์ศึกชิงเก้าอี้ “ประธานสภาฯ” “เพื่อไทย – ก้าวไกล” ขัดแย้ง ผลประโยชน์ไม่ลงตัว ตัวแปรที่ทำให้ดีล MOU ล่มหรือไม่
รศ.ยุทธพร อิสรชัย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงประเด็นโหวตประธานสภาฯ ที่เป็น “โหวตลับ” เดิมทีเพื่อให้การทำงานของประธานสภาฯง่ายขึ้นแต่อีกมุมหนึ่ง “โหวตลับ” จะกลายเป็นปัญหาหรือไม่ นั้น ต้องย้อนมองเจตนารมณ์ของข้อบังคับประธานสภาฯที่ให้มีการโหวตลับเพราะประธานสภาฯ ต้องทำงานร่วมกับพรรคการเมืองรวมถึงวิปฝ่ายค้านรัฐบาล ฉะนั้นมองการโหวตลับจึงจำเป็น เพื่อให้การทำงานราบรื่นและไม่ขัดแย่งกันภายหลัง
การโหวตลับอาจกลายเป็นช่องที่อาจจะมีการใช้เกมทางการเมืองเกิดขึ้นได้ เป็นเหมือนกล่องพิศวงในการเลือกประธานสถาฯ เพราะเมื่อมีการโหวตลับ ตรวจสอบไม่ได้ว่าใครลงคะแนนให้ใคร ไม่เหมือนกับการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ต้องเปิดเผยว่าสมาชิกแต่ละคนเลือกใคร
รศ.ยุทธพร จึงอยากให้การใช้ข้อบังคับจึงควรเป็นไปอย่างสร้างสรรค์มากกว่าในกระบวนการที่จะทำให้เกิด การตกลงและการยอมรับ เพราะหากดูคุณสมบัติสำคัญของ ประธานสภาฯ นอกจากธรรมเนียมปฏิบัติในทางการเมืองระบอบรัฐสภาฯที่คือต้องมาจากพรรคที่ได้ลำดับหนึ่ง แต่ยังมีเงื่อนไขอื่นด้วยเช่นต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล หรือสมาชิกในสภาฯ เพราะต้องทำงานร่วมกัน ดังนั้นแม้จะมีข้อบังคับให้โหวตลับจึงควรจะใช้อย่างสร้างสรรค์
ส่วนเรื่องการเจรจาระหว่างก้าวไกลและเพื่อไทยยังไม่ลงตัว ส.ส.อาจจะต้อง “ฟรีโหวต” นั้น รศ.ยุทธพร มองว่าจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของ 8 พรรคร่วมรัฐบาลก้าวไกล เพราะ 8 พรรคร่วมเป็นลักษณะโครงสร้างรัฐบาลผสมที่ขาดความสมดุล เนื่องจากมีพรรคอันดับ 1 คือ พรรคก้าวไกล พรรคอันดับ 2 เพื่อไทย ส่วนที่เหลือทั้งหมดคือพรรคที่ต่ำ 10 ที่นั่ง ฉะนั้นไม่มีพรรคอันดับ 3 ที่มารองรับ กรณีมีปัญหาการแตกแยกหรือการถอนตัว และจะมีการดึงพรรคการเมืองขนาดกลางหรือขนาดเล็กเพื่อมาพยุงรัฐบาลต่อ
ดังนั้นพรรคก้าวไกลจะอยู่ได้ต้องอาศัยพรรคเพื่อไทย เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยที่จะอยู่ได้ต้องอาศัยพรรคก้าวไกล ทั้ง 2 พรรคจึงต้องพูดคุยกัน แต่หากยังคุยไม่ลงตัวจนต้องนำไปสู่การฟรีโหวตพรรคเพื่อไทยมีโอกาศมากกว่า เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีทางเลือกทางการเมืองที่มากกว่า รวมไปถึงประสบการณ์ทางการเมืองที่มากกว่า ตรงนี้อาจทำให้เกิดความได้เปรียบหากเกิดกรณีฟรีโหวต แต่นั้นจะส่งผลกระทบต่อการเดินหน้าของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล
รศ.ยุทธพร ยังกล่าวถึงเรื่องศรัทธาของประชาชนกับการเลือกตั้งอนาคตก้าวไกล เพื่อไทย ว่า สิ่งสำคัญของระบบรัฐสภาคือการเจรจาต่อรองแต่ละพรรคอยู่บนผลประโยชน์ของพรรค จุดยืนพรรค รวมถึงจุดยืนของผู้สนับสนุน กรณีของพรรคเพื่อไทยผลกระทบจะเกิดขึ้นไม่ว่าจะออกมาในทิศทางใด ก็อาจได้รับผลกระทบทั้งสิ้น ยกตัวอย่าง ฉากทัศน์แรก คือพรรคเพื่อไทยยอมยกตำแหน่งประธานสภา รวมถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้ก้าวไกล ท้ายที่สุดพรรคเพื่อไทยก็อาจขาดพื้นที่ในการที่จะแสดงผลงาน ฟื้นฟูความนิยมของพรรคไปสู่การเลือกตั้งในครั้งหน้า
ฉากทัศน์ 2 คือเป็นพื้นที่ที่พรรคเพื่อไทยนั้นได้ตำแหน่ง ประธานสภาฯ ส่วนตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี เป็นของก้าวไกล ซึ่งฉากทัศน์นี้เพื่อไทยก็เจ็บตัวเช่นกันแต่ก็อาจจะเบากว่า ทำให้เพื่อไทยขยับขึ้นมาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลแทน
ส่วนฉากทัศน์ 3 มองว่าพรรคเพื่อไทยอาจเจ็บตัวหนักเพราะข้ามขั้ว หากไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ หรือกลุ่มขั้วอำนาจเดิม อาจทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนัก
ส่วนฉากทัศน์ สุดท้ายหากเพื่อไทย ไปจับมือกับขั้วอำนาจเดิมแต่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของตัวเองตรงนี้จะได้รับผลกระทบแต่ไม่มากเหมือนฉากทัศน์ที่ 3
รศ.ยุทธพร กล่าวทิ้งท้าย ไม่ว่าจะเป็นทางไหนพรรคเพื่อไทยล้วนได้รับผลกระทบทั้งสิ้น ฉะนั้นวันนี้พรรคเพื่อไทยจึงต้องแสดงความชัดเจน เช่น จะสนับสนุนแคนดิเดตประธานสภาฯ ของพรรคตัวเอง จะเสนอชื่อใคร คุณสมบัติดีกว่า พรรคก้าวไกลอย่างไร ขณะเดียวกันหากจะสนับสนุนพรรคก้าวไกล ก็ต้องชัดเจนเช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ประจักษ์จับประเด็น : ทางเลือกที่ 3 พรรคก้าวไกล
“ปดิพัทธ์” มั่นใจทำหน้าที่ประธานสภาฯ-เชื่อ 2 พรรคเคลียร์จบ
สภาฯ ยังไม่แจ้งประชุมนัดแรกเลือก ปธ.สภาฯ คาดดีลเก้าอี้ยังไม่ลงตัว
“เศรษฐา” ปฏิเสธพลิกขั้วการเมือง “เพื่อไทย-ก้าวไกล” จับมือแน่น