วันนี้ (30 มิ.ย.2566) เมื่อเวลา 10.53 น. รศ.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย ให้สัมภาษณ์ในรายการ จับตาสถานการณ์ ทางไทยพีบีเอส ถึงกระแสข่าวปิดดีลประธานสภาฯ ของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย โดยระบุว่า กระแสข่าวดังกล่าวอาจเป็นความจริงเพราะได้มีการตรวจสอบและได้รับคำตอบยืนยันตรงกันทุกสำนัก
ส่วนตัว รศ.ธนพร คิดว่า เป็นข่าวดีสำหรับการเตรียมพร้อมเดินหน้าโหวตประธานสภาฯในอนาคตอันใกล้ในวันที่ 4 ก.ค.นี้
ฟันธง “ขั้วเก่า-ขั้วใหม่” เสนอท้าชิง “ปธ.สภา”
รศ.ธนพร ยังคาดว่าในการโหวตเลือกประธานสภาฯ ในวันนี้ 4 ก.ค.ว่า จะมีการเสนอ 2 รายชื่อ จากฝ่าย 8 พรรคจัดตั้งรัฐบาล 1 ชื่อ และจากฝ่ายขั้วเก่า 1 ชื่อ โดยฝ่าย 8 พรรคจะชนะและได้เป็นประธานสภาฯแน่นอน ซึ่งประเด็นของประธานสภาฯ มองว่าจบไปแล้ว
ขณะนี้มองข้ามไปถึงวันเลือกนายกฯ เพราะมีเงื่อนไขว่า นายพิธาจะผ่านด่าน ส.ว.ได้หรือไม่ สิ่งที่น่าสนใจ คือ พรรคเพื่อไทยอาจจะได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลแทน
รศ.ธนพร ยังตอบคำถาม กรณีหากพรรคก้าวไกลได้เก้าอี้ประธานสภาฯ จะหมายถึงการได้เป็นนายกฯโดย ระบุว่า ตามหลักในการเลือกนายกฯมีธรรมเนียมการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯขึ้นมา 2 ชื่อ จากทั้ง 2 ขั้ว เช่นเดียวกันกับการโหวตเลือกประธานสภาฯ คงต้องให้ความสนใจไปยัง ส.ว.และ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะทำอย่างไรให้ได้คะแนนเสียง 376 เสียง ซึ่ง รศ.ธนพร มองว่า เป็นเรื่องที่ยากในการจัดตั้งรัฐบาล
รศ.ธนพร สันนิษฐานว่า พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลรับทราบดีว่า การผ่านด่าน ส.ว.นั้นเป็นเรื่องสาหัส ต้องมีการตกลงร่วมกันก่อนว่าเรื่องนี้มีความเสี่ยง ถ้าหากพรรคก้าวไกลบริหารจัดการความเสี่ยงไม่ได้ก็คงจะตกเป็นสิทธิของเพื่อไทย ซึ่งหากพิจารณาจากจุดนี้ต้องยอมรับว่าการที่พรรคก้าวไกลจะได้เสียงจาก ส.ว.ในขณะนี้ เวลานี้นั้นยากเย็นแสนสาหัส แต่ก็ยังคงพอมีเวลา
“พีระพันธุ์” อาจถูกเสนอโหวตเป็นนายกฯ
ในขณะที่อีก 188 เสียง และเหล่า ส.ว.ยังคงสนับสนุนกัน ฉะนั้นก็อาจมีโอกาสได้เห็นนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่ถูกเสนอชื่อ เป็นนายกฯ
จุดยืนของผม คือ การเอาระบบและธรรมเนียมเป็นตัวตั้ง คือ การให้พรรคอันดับ 1 เป็นประธานสภาฯ แต่การโหวตนายกฯ กติกาจะเปลี่ยนเป็นการประชุมร่วมมี ส.ว.และพรรคขั้วเก่า เป็นตัวแปรในการโหวตเลือกนายกฯ
ในขณะนี้พรรคเพื่อไทยรับแรงกดดันมากขึ้น ถึงแม้จะมีกระแสข่าวออกมาถึงการปิดดีลในตำแหน่งประธานสภาฯ ที่ถูกจับตามองว่า เป็นรอยร้าวในกลุ่ม 8 พรรคร่วมประชาธิปไตย โดยถ้อยคำที่ถูกนำเสนอออกมา ชี้ให้เห็นถึงการเจรจาที่จบลงได้ด้วยดี
ทั้งนี้ ยังคงต้องจับตามองถึงการประชุมร่วมกันของ 8 พรรคการเมือง ในวันอาทิตย์ (2 ก.ค.66) ที่จะถึงนี้ เป็นส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางการโหวตเลือกประธานสภาฯ ของประเทศไทย