วันนี้ (1 ก.ค.2566) นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวถึงความเคลื่อนไหวของพรรคว่า ในวันพรุ่งนี้ (2 ก.ค.) เวลา 13.00 น.พรรคได้มีการเรียกประชุม ส.ส.ทั้ง 25 คน โดยมีวาระสำคัญคือการเลือกผู้จะมาเป็นประธาน ส.ส. รองประธาน ส.ส. และเลขานุการประธาน ส.ส. ของพรรค ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติที่พรรคได้ดำเนินการมาตลอดระยะเวลาเมื่อมีสภาชุดใหม่
นอกจากนี้พรรค ได้เชิญเจ้าหน้าที่สภามาให้ข้อมูลแก่ ส.ส. คนใหม่ ที่ได้รับการเลือกตั้งในสมัยแรก เพื่อให้ทราบแนวทางปฏิบัติในเรื่องต่าง ๆ ประกอบในการทำหน้าที่ ส.ส.ในสภา
สำหรับเรื่องที่จะมีการหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในที่ประชุม ส.ส.นั้น นายราเมศ ระบุว่า เป็นเรื่องปกติของการประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่จะมีการหยิบยกประเด็นทางการเมืองขึ้นมาวิเคราะห์สถานการณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องการเลือกประธานสภาฯ ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 4 ก.ค.นี้
ตนเองก็มั่นใจว่า จะเป็นเรื่องที่จะได้นำมาพูดคุยกันในที่ประชุม แต่คาดว่าจะไม่มีการพูดคุยลงรายละเอียดถึงตัวบุคคล เพราะถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องตัวบุคคลที่จะเสนอให้ ส.ส.พิจารณาแต่อย่างใด
นอกจากนี้ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้ระบุถึงความแตกต่างของเรื่องที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุม ส.ส.และที่ประชุมร่วม ส.ส. กับกรรมการบริหารพรรคว่า ในการพิจารณาเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์จะใช้มติของที่ประชุมร่วมกันระหว่าง กรรมการบริหารกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่สำหรับการพิจารณาเลือกประธานสภานั้นจะใช้มติในที่ประชุม ส.ส.ซึ่งก็จะมีการแถลงข่าวผลการประชุมให้ทราบทิศทางต่อไป
ส่วนความคืบหน้าเรื่องการประชุมใหญ่วิสามัญของพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 9 ก.ค. นี้ นายราเมศ กล่าวว่า การประชุมใหญ่ในครั้งนี้ มีวาระสำคัญคือการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ ซึ่งจะประกอบด้วยหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค รวมถึงการเลือกคณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคด้วย
พรรคได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด ประกอบด้วยคณะกรรมการเตรียมการจัดการประชุมใหญ่วิสามัญ ที่มีนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ เป็นประธาน และคณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยกำกับการประสานการประกาศผลการเลือกตั้ง (กกต.ปชป.)
ทั้ง 2 คณะได้มีการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมไปแล้วหลายครั้ง ซึ่งตนเชื่อว่า ในวันดังกล่าวจะมีสมาชิกพรรคทั้งที่เป็นองค์ประชุม และไม่ได้เป็นองค์ประชุมมาติดตามให้ความสนใจในการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ ที่จะจัดขึ้นที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีรายชื่อแคนดิเดตหัวหน้าพรรคแล้วกี่คน มีการเสนอชื่อนายเดชอิศม์ ขาวทอง ด้วยหรือไม่นั้น นายราเมศ กล่าวว่า นายเดชอิศม์ ยังไม่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการ แต่เชื่อว่าจะมีสมาชิกลงแข่งขันกับนายอลงกรณ์ พลบุตร ขณะนี้ตนก็ยังไม่ทราบว่าจะมีการเสนอชื่อใครบ้าง
ในการเสนอชื่อนั้นจะต้องเป็นการเสนอโดยสมาชิกพรรคและมีผู้รับรองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งขององค์ประชุมใหญ่วิสามัญ ก็คือไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน 374 คน โดย กกต. ปชป. จะมีการประชุมในวันจันทร์ที่ 3 ก.ค. นี้ และในวันอังคารที่ 4 ก.ค. คณะกรรมการเตรียมการจัดการประชุมใหญ่วิสามัญ จะเป็นผู้กำหนดว่าจะให้แคนดิเดต หัวหน้าพรรคแสดงวิสัยทัศน์คนละกี่นาที
นายราเมศ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระบวนการเลือกหัวหน้าพรรคของพรรคประชาธิปัตย์นั้น มีการกำหนดกฎเกณฑ์กติกาชัดเจน ตนเชื่อว่า พรรคมีสมาชิกที่มีคุณสมบัติ มีความรู้ความสามารถเข้าสู่กระบวนการแข่งขัน และยึดหลักข้อบังคับอย่างเคร่งครัด ซึ่งข้อบังคับข้อที่ 31 ระบุชัดว่า สมาชิกที่มีคุณสมบัติที่จะได้รับการเลือกตั้งเป็น กก.บห.ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่สมาชิกที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
(1) เป็นหรือเคยเป็นกรรมการบริหารพรรค เช่น ตนเองเคยเป็นโฆษกพรรค เป็น กก.บห. ก็สามารถสมัครเป็น กก.บห. ชุดใหม่ได้
(2) เป็นหรือเคยเป็น คกก.สาขาพรรค กรณีนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกมาครบ 5 ปี ก็สามารถใช้ข้อนี้สมัคร กก.บห.ได้
(3) เป็นหรือเคยเป็น ส.ส.ในนามพรรค
(4) เป็นหรือเคยเป็น รัฐมนตรี ในนามพรรค
(5) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น ที่ลงเลือกตั้งในนามพรรค
(6) สมาชิกที่ที่ประชุมใหญ่มีมติด้วยคะแนนไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของที่ประชุมใหญ่ ให้ลงสมัคร กก.บห.ได้ ข้อนี้ เมื่อคำนวณจากองค์ประชุม 374 คน ก็จะต้องมีมติไม่น้อยกว่า 282 คน
ส่วนคุณสมบัติของผู้ที่จะลงสมัครหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นั้น จะมีรายละเอียดแตกต่างจาก กก.บห. พรรค กล่าวคือ จะต้องเป็นหรือเคยเป็น ส.ส.ในนามพรรค เว้นแต่ได้รับการยกเว้นตามข้อบังคับพรรคข้อที่ 31 (6) คือการใช้เสียง 3 ใน 4 ของที่ประชุมใหญ่ ส่วนการเสนอชื่อนั้นจะต้องมีผู้รับรองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งขององค์ประชุมใหญ่วิสามัญ ก็คือไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน 374 คน