สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ รวมถึงสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการของ สปสช. แล้ว ทำให้สามารถขยายการรองรับการโทรปรึกษาได้มากขึ้น 10% โทรฟรี และหากต้องนัดหมายเข้ารับการบำบัดก็ฟรี
พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ปัจจุบัน พบว่าอัตราค่าเฉลี่ยการฆ่าตัวตายของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 6.4 คน/แสนประชากร แต่หลังโควิด-19 พบว่าเพิ่มขึ้นที่สัดส่วน 7.3 คน/แสนประชากร ขณะที่การฆ่าตัวตายสำเร็จพบมากในกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ที่มีสัดส่วน 9.64 คน/แสนประชากร รองลงมาคือกลุ่มวัยทำงานอายุ 20-59 ปี อยู่ที่ 8.71 คน/แสนประชากร และกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ที่มีสัดส่วน 2.63 คน/แสนประชากร
อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มที่พยายามฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ กลับพบว่า กลุ่มวัยรุ่นจะเจอมากที่สุดถึง 224.38 คน/แสนประชากร ซึ่งเป็นข้อมูลจากการไปพบจิตแพทย์ รวมไปถึงปรึกษากับสายด่วนสุขภาพจิต 1323 และบันทึกเอาไว้ ขณะที่ยังมีอีกจำนวนมากที่ไม่ได้พบจิตแพทย์ซึ่งตัวเลขที่แท้จริงจะมากกว่านี้อย่างแน่นอน
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ รวมถึงสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตผ่านทางโทรศัพท์กับประชาชน โดยเฉพาะกับประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิบัตรทอง โดยจะเป็นการเพิ่มการเข้าถึงบริการให้กับประชาชนมากขึ้น ซึ่งจะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ แต่สถาบันฯ จะสามารถเรียกเก็บค่าบริการจาก สปสช.ได้ หากประชาชนสิทธิบัตรทองมารับบริการ อีกทั้งจะเป็นผลดีเนื่องจากจะสามารถขยายบริการได้มากขึ้น รวมถึงเพิ่มคู่สายในสายด่วนสุขภาพจิต 1323 รวมถึงสามารถเพิ่มนักจิตวิทยาให้มาบริการมากขึ้นอีกด้วย
พญ.วิมลรัตน์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมามีประชาชนต้องการคำปรึกษาจากสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ค่อนข้างมาก แต่ขณะเดียวกันนักจิตวิทยาสามารถดูแลได้เพียงแค่ 20% จากสายที่โทรเข้ามาทั้งหมด เพราะแต่ละสายนักจิตวิทยาต้องให้คำแนะนำ คำปรึกษาอย่างน้อย 30 นาที ซึ่งสายด่วนสุขภาพจิตต้องการให้คำปรึกษากับทุกคน แต่จากปัญหาข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ รวมไปถึงการให้บริการฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถเรียกเก็บจากหน่วยงานใดได้ จึงทำให้ไม่สามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือกับ สปสช. ครั้งนี้ คาดหวังว่าจะทำให้การเข้าถึงบริการปรึกษาสุขภาพจิตของประชาชนได้มากยิ่งขึ้น
“ปัจจุบันสายด่วนสุขภาพจิต 1323 มีนักจิตวิทยา 50 คน รวม 15 คู่สาย คอยให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงโดยจะหมุนเวียนกันทุกช่วงเวลา แต่ช่วงที่จะมีประชาชนโทรเข้ามามากที่สุดคือช่วงเย็นถึงค่ำ ตั้งแต่เวลา 17.00-22.00 น. ที่จะชุกมากที่สุด โดยหลังจากเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการกับ สปสช. แล้วตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ทำให้สายด่วนสุขภาพจิตสามารถให้บริการเพิ่มขึ้นอีก 10% สำหรับการปรึกษาทั่วไป” ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าว
พญ.วิมลรัตน์ กล่าวอีกว่า สำหรับประชาชนสิทธิบัตรทอง รวมถึงประชาชนทุกสิทธิการรักษาที่ต้องการรับคำปรึกษาทางสุขภาพจิต สามารถโทรมายังสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอดเวลา แต่จากนี้จะมีระบบขอให้ลงทะเบียนผ่านเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ซึ่งเป็นการลงทะเบียนตามปกติ หรือยังสามารถนัดหมายรับคำปรึกษาตามช่วงเวลาที่ต้องการได้เช่นกัน ผ่านเว็บไซต์ของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ที่เว็บไซต์ https://1323alltime.camri.go.th/ ซึ่งเป็นระบบนัดออนไลน์ สายด่วนสุขภาพจิต บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตโดยจะมีนักจิตวิทยาติดต่อกลับไปตามนัดหมาย เป็นการบริการที่ไม่ได้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากประชาชน เพียงแต่ขอให้ยืนยันรับคำปรึกษาตามวันและเวลาที่เลือกไว้ เพราะที่ผ่านมามีถึง 30% ที่ยกเลิกนัดหมายเมื่อถึงเวลาทำให้เสียสิทธิการบริการกับประชาชนที่รอคิว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
1.สายด่วน สปสช. 1330
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ