วันนี้ (3 ก.ค.2566) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาในคดีระหว่างอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ จำเลย โดยโจทก์ยื่นฟ้องวันที่ 18 ส.ค.2565 กล่าวหาว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยดำรงตำแหน่ง รมว.มหาดไทย โดยจำเลยรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันเกิดจากการคำนวณเป็นเงินได้ จากบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) (บริษัทจัดการ ) ซึ่งมิใช่ญาติ
โดยรับตั๋วโดยสารเครื่องบินเดินทางไปและกลับระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน อันอาจคำนวณเป็นเงินได้จำนวน 39,300 บาท และรับตั๋วโดยสารเครื่องบินเดินทางไปและกลับระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซียอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จำนวน 20,780 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีราคาเกินกว่า 3,000 บาท อันมิใช่ทรัพย์สินและประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย
ทั้งมิใช่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด โดยธรรมจรรยา ตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด โดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2543 ข้อ 5 ขอให้ลงโทษตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปรับรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 303, 122 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปรับปรามการทุจริตพ.ศ. 2561 มาตรา 4, 128 ,169,194,198
จำเลยไม่มาศาลพิจารณาจึงพิจารณาคดีโดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย จำเลยแต่งตั้งทนายความมาดำเนินการแทนและให้การปฏิเสธ
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิจารณาแล้วเห็นว่า ทางไต่สวนนาย ช. กรรมการบริหารและการลงทุนบริษัทจัดการฯ ขณะเกิดเหตุเบิกความขัดแย้งแตกต่างกันรับฟังไม่ได้แน่ชัดว่า จำเลยทีมงานของจำเลยหรือบุตรชายของจำเลย เป็นผู้นำเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินไปมอบให้พยานไม่อาจรับฟังความเป็นจริงได้
ทั้งคำเบิกความยังขัดแย้งกับคำให้การจำเลยที่ว่า จำเลยให้ทีมงานของจำเลยไป จัดซื้อตั๋วโดยสารเครื่องบิน ด้วยข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยเป็นผู้ชำระค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินหรือให้ทีมงานของจำเลยไปจัดซื้อ
เมื่อพิจารณาถึงข้อ เท็จจริงเกี่ยวกับความเป็นมาของการออกตัวโดยสารเครื่องบินและการชำระเงินได้ความว่า
กรรมการบริหารและการลงทุนบริษัทจัดการฯ เป็นผู้ดำเนินการออกตั๋วโดยสารเครื่องบิน โดยให้บริษัท อ. และบริษัท ร. เป็นผู้จองและออกตั๋วโดยสารเครื่องบินแล้วเรียกเก็บเงินค่าตั๋วโดยสารจากบริษัทจัดการฯ ซึ่งต่อมาบริษัทจัดการฯ อนุมัติให้ชำระเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินดังกล่าวจากเงินค่ารับรองกรรมการ(ตั๋วเครื่องบินรับรองลูกค้าบริษัท) แล้ว พยานหลักฐานที่ไต่สวนจึงรับฟังเป็นความจริงได้ว่า บริษัทจัดการฯ เป็นผู้ชำระเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบิน
แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า บริษัทจัดการฯ ชำระเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินหลังจากที่จำเลยใช้ตั๋วโดยสารเครื่องบินเดินทางก็ตาม แต่เหตุดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากการดำเนินการของบริษัทจัดการฯ ในการเบิกเงินค่ารับรองกรรมการ เพื่อชำระเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินเท่านั้น
ส่วนบริษัท อ. และบริษัท ร. คืนเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินให้แก่บริษัทจัดการฯนั้น ก็เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นหลังจากที่บริษัทจัดการชำระเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินแล้ว กรณีจึงไม่มีผลทำให้บริษัทจัดการฯ มิใช่เป็นผู้ที่ไม่ได้ชำระเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบิน
เมื่อขณะเกิดเหตุจำเลยดำรงตำแหน่ง รมว.มหาดไทย โดยไม่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทจัดการฯและตามรายละเอียดแนวทางการใช้จ่ายค่ารับรองของคณะกรรมการบริษัท บริษัทจัดการฯไม่สามารถเบิกจ่ายเงินค่ารับรองในนามคณะกรรมการบริษัทให้จำเลยได้
ประกอบกับตามหนังสือของกระทรวงมหาดไทยยืนยันว่า ขณะเกิดเหตุในระบบสารบัญของสำนักรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ไม่พบว่า มีการขออนุญาตเดินทางไปราชการต่างประเทศของจำเลย ทำให้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยไม่ได้เดินทางไปราชการที่สาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศมาเลเซียแต่เป็นการเดินทางไปส่วนตัวแล้ว
ทั้งทางไต่สวนได้ความจากคำเบิกความของนาย ช. กรรมการบริหารการลงทุนบริษัทจัดการ ฯ ขณะเกิดเหตุว่า บุตรชายของจำเลยให้ดูแลจำเลยในการเดินทางไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศมาเลเซีย กับเดินทางไปพร้อมจำเลยด้วย จึงเชื่อว่า
จำเลยรู้อยู่แล้วว่า บริษัทจากการฯ เป็นผู้ซื้อตั๋วเครื่องบินโดยสารเครื่องบินให้จำเลย โดยกรรมการบริษัทเป็นผู้ขออนุมัติเบิกเงินจากเงินค่ารับรองกรรมการชำระเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินและการที่จำเลยใช้ตั๋วโดยสารเครื่องบินเดินทางกลับบ่งชี้ได้ว่า จำเลยมีเจตนารับตั๋วเครื่องบินโดยสารเครื่องบินนั้น
เมื่อตั๋วโดยสารเครื่องบินมีราคาเกิน 3,000 บาท ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยรับตั๋วโดยสารเครื่องบินเดินทางไปกลับกรุงเทพ-ปักกิ่ง และกรุงเทพ- กัวลาลัมเปอร์ ซึ่งเป็นประโยชน์อื่นใด ซึ่งมีราคามูลค่าเกิน 3,000 บาท จากบริษัทจัดการฯ ซึ่งมิใช่ญาติจึงเป็นความผิดตามฟ้อง
ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยการป้องกันและปรับรามการทุจริตพ.ศ. 2542 มาตรา 122 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด ไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91
องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมากให้ลงโทษปรับ กระทงละ 60,000 บาท รวม 2 กระทง เป็นเงินปรับ 120,000 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญาในมาตรา 29, 30