วันนี้ (6 ก.ค.2566) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เปิดเผยกับ “ไทยพีบีเอส” เกี่ยวกับ ผลประชุมศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กทม.ครั้งที่ 6/2566 หรือ วอร์รูมต้านโกง กทม.ที่มีนายชัชชาติ เป็นประธานว่า
ที่ประชุมพบประชาชนร้องเรียนเข้ามาในช่วงเดือน มิ.ย.จำนวน 35 เรื่อง เกี่ยวข้องกับ ข้อมูลเบาะแสความไม่โปร่งใส โดยเป็นการร้องเรียนผ่านระบบ Traffy Fondue จำนวน 28 เรื่อง อีก 7 เรื่องร้องเรียนผ่านทางผู้ว่าฯ กทม. และ รองปลัด กทม.
ทั้งนี้ เรื่องร้องเรียน จำนวน 35 เรื่อง เป็นการร้องเรียนฝ่ายโยธาของสำนักงานเขต 6 เรื่อง, ร้องเรียนเกี่ยวกับเทศกิจ 7 เรื่อง, ฝ่ายรายได้ 1 เรื่อง และ เรื่องอื่นอีก ๆ อีก 21 เรื่อง ซึ่งต้องขยายผลว่ามีประเด็นเพิ่มเติมอย่างไรหรือไม่
เรื่องร้องเรียนที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่า เป็นการร้องเรียนเรื่องเดิม ๆ ที่เคยเกิดขึ้น ในกลุ่มงานที่เกี่ยวข้องประจำ ทั้ง ฝ่ายโยธา ฝ่ายรายได้ หรือ ฝ่ายเทศกิจ ยอมรับว่า เป็นปัญหาที่สะสมมานาน การจะสะสางทั้งหมดต้องใช้เวลา
ผู้ว่าฯ กทม.ระบุด้วยว่า กทม.มีข้าราชการ, บุคลากร, ลูกจ้าง ประมาณ 80,000 คน ยังยืนยันว่า ข้าราชการส่วนใหญ่เป็นคนดี มีส่วนน้อยที่ไม่ดี แต่สำคัญคือ กทม.แสดงให้ประชาชนเห็นว่า เอาจริงกับเรื่องปราบทุจริต
ถามว่า ทำไมเราถึงกล้าแตะ กล้าทำเรื่องต้านทุจริตคอร์รัปชัน เพราะตัวเราไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่ผู้บริหารไปรับเงินเกี่ยวกับการทุจริต ลูกน้องต้องส่งตังค์ให้ผู้บริหาร สุดท้ายแล้วเราจะไม่กล้าทำอะไร ถ้าฝ่ายบริหารหรือผู้บริหารไม่รับส่วย เน้นความซื่อสัตย์สุจริต เราจะกล้าไปแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันต่าง ๆ ได้ นี่เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าจริงจัง ประชาชนจะเชื่อมั่น และแจ้งเบาะแสมามากขึ้น
นายชัชชาติ กล่าวด้วยว่า เราให้ความยุติธรรมในการแต่งตั้งไม่เรียกรับเงินในระบบแต่งตั้ง ระบบก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น ดังนั้น ถ้าเราเน้นประชาชนเป็นหลักจะทำให้เราเลือกคนที่ดีที่ซื่อสัตย์สุจริตมาเป็นทีมงาน เรื่องแบบนี้มันอาจไม่ได้แก้ไขภายใน 1 – 2 สัปดาห์
แต่ระยะยาว ถ้าหลักการเรามั่นคง เราเชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้นได้ โดยจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่สามารถแก้ได้ในพริบตา แต่เชื่อว่า สถานการณ์ดีขึ้นแม้แต่ผลสำรวจในขณะนี้ก็ยังเห็นจุดเด่นของ กทม.เรื่องความโปร่งใสของฝ่ายบริหาร ในฐานะเป็นผู้นำของ กทม. ซึ่งพยายามยึดมั่นจุดนี้ถ้าไม่มีข้อบกพร่อง เราก็จะกล้าไปดำเนินการต่าง ๆ ได้ แต่ถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการโกง เราจะไม่กล้าไปจัดการอะไรเลย
กทม.ในยุคนี้ เท่าที่มีเรื่องซึ่งประชาชนกล้าพูดกับเรามากขึ้นหรือว่าชี้เบาะแสกับ กทม.มากขึ้น ช่วงยุคนี้ก็จะได้เห็นการร้องเรียนที่นำไปสู่การแก้ปัญหา ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้น มีทั้งคดีเรียกรับสินบน, เรียกรับผลประโยชน์การประเมินภาษีโรงเรือน, เรียกรับค่าใบอนุญาต, โครงการอาหารกลางวัน ซึ่ง กทม.ต้องแก้ ต้องเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น
สำหรับการดึงหน่วยงาน อย่าง ป.ป.ช และ ป.ป.ท.เข้ามาร่วมในวอร์รูม และเป็นคณะกรรมการต้านโกงตั้งแต่แรก จะเป็นประโยชน์เสมือนป้องปราบเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ กทม.ไปในตัว เพราะทั้ง 2 หน่วยงาน มีประสบการณ์ด้านข้อมูลการทุจริตที่เกิดขึ้นในประเทศมาหลายเรื่อง ทำให้มีตัวอย่างที่สามารถบอกเล่าความเสี่ยง ที่อาจเป็นช่องโหว่ หรือ พฤติกรรม ที่เสี่ยงทุจริตได้ ได้มาบอกเล่าแลกเปลี่ยนข้อมูลให้ กทม.ทราบเพื่อจะได้ไม่ไปปฏิบัติ หรือ ทำพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจไม่รู้ตัวว่าเป็นเรื่องผิด
นอกจากนี้ กทม.จะร่วมกับ ป.ป.ช.มาผูกกับระบบ Traffy Fondue ของ กทม.เพื่อเป็นอีกช่องทางให้ ประชาชนแจ้งเบาะแสเข้ามา และ กทม.สามารถส่งต่อไปยังประชาชนได้แบบไร้รอยต่อ
นายชัชชาติ ยังกล่าวถึงเรื่องที่แกปัญหาการเรียกรับผลประโยชน์จากเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะการดึงระบบออนไลน์มาใช้ในขั้นตอนการออกใบอนุญาตทุกประเภทว่า ยังต้องเน้นให้เป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องทำเพื่อความโปร่งใส และลดการใช้วิจารณญาณระหว่างเจ้าหน้าที่กับตัวบุคคล หากทำได้สำเร็จ ระบบนี้จะเป็นหนึ่งในไฮไลต์ของ กทม.