รายงานข้อมูลจากดาวเทียมของรัฐบาลบราซิล เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (6 ก.ค.) พบว่า การตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่ป่าแอมะซอนในพื้นที่ประเทศบราซิล มีอัตราลดลงกว่า 33.6% ภายหลังการเข้าดำรงตำแหน่ง 6 เดือนแรกของ ลูอิส อินาซิโอ ‘ลูลา’ ดา ซิลวา ประธานาธิบดีบราซิล นับเป็นสัญญาณว่ารัฐบาลบราซิลหันมาให้สนใจด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ตั้งแต่เดือน ม.ค. ถึงเดือน มิ.ย. 2566 มีการพบสัญญาณที่เป็นไปได้ว่า ป่าแอมะซอนมีการตัดไม้ทำลายป่าเป็นจำนวนครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2,560 ตารางกิโลเมตร ซึ่งลดลงจาก 4,000 ตารางกิโลเมตร ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งตรงกับช่วงการบริหารแผ่นดินโดย ฌาอีร์ โบลโซนารู อดีตประธานาธิบดีบราซิล นอกจากนี้ ข้อมูลดังกล่าวยังนับรวมอัตราการตัดไม้ทำลายป่า ที่มักจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูแล้งเดือน มิ.ย. ด้วย
เฌา เปาโล คาโปเบียนโก เลขาธิการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมบราซิล กล่าวว่า รัฐบาลบราซิลชุดปัจจุบันของบราซิลได้ทำให้อัตราการตัดไม้ทำลายป่าลดลงแล้ว อย่างไรก็ดี ยังคงต้องมีการจับตาดูข้อมูลในอีกครึ่งปีหลังต่อไป ซึ่งอาจจะมีช่วงเดือนที่สถิติการตัดไม้ทำลายป่ามีความท้าทายเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
ทั้งนี้ ข้อมูลการตัดไม้ทำลายป่าดังกล่าววัดมาจากระบบที่มีชื่อว่า ดีเทอร์ ซึ่งบริหารจัดการโดยสถาบันวิจัยอวกาศแห่งชาติ (INPE) ซึ่งเป็นระบบในการตรวจจับการตัดไม้ทำลายป่าตามเวลาจริง ซึ่งเป็นผลการประเมินอย่าวคร่าวๆ และจะมีข้อมูลที่ชัดเจนที่สุดซึ่งจะออกทุกๆ รอบปี ที่ได้รับการประเมินจากระบบโพรดส์
อย่างไรก็ดี ข้อมูลดังกล่าวได้บ่งชี้ถึงนโยบายรัฐบาลบราซิล ภายใต้การนำของลูลา ซึ่งมีการให้คำมั่นว่าจะจัดการกับพวกลักลอบตัดไม้ และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากนโยบายที่ไม่ให้ความสนใจด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้การบริหารงานเดิมของรัฐบาลโบลโซนารู ซึ่งเปิดให้มีการพัฒนาพื้นที่ป่าแอมะซอน และส่งผลให้อัตราการตัดไม้ทำลายป่าในป่าแอมะซฮนของบราซิลมีความรุนแรงขึ้น
ฌาอีร์ ชมิทท์ หัวหน้าหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลกลางบราซิล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ณ ตอนนี้ทางหน่วยงานกำลังเน้นการดำเนินงานไปที่การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี ทางหน่วยงานยังมีปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนทรัพยากรบุคคล เนื่องจากในรัฐบาลของโบลโซนาโรไม่มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่คนใหม่แทนเจ้าหน้าที่ที่ลาออกไป ก่อนที่การฟื้นฟูทรัพยากรบุคคลจะได้รับการสนับสนุนจากลูลาใหม่อีกครั้ง
อาเดวาลโด ดียาส เกษตรสวนยางและนักสิทธิชนพื้นเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากการรุกป่าแอมะซอน กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายนั้นไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหา และยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างสายการผลิตที่ยั่งยืน และการสร้างความร่วมมือกับภาคประชาสังคมด้วย
ที่มา: