หน้าแรก Thai PBS “ธาริต” เปิดเบื้องหลังคดี 99 ศพ ก่อนฟังศาลฎีกาวันที่ 10 ก.ค.

“ธาริต” เปิดเบื้องหลังคดี 99 ศพ ก่อนฟังศาลฎีกาวันที่ 10 ก.ค.

47
0
“ธาริต”-เปิดเบื้องหลังคดี-99-ศพ-ก่อนฟังศาลฎีกาวันที่-10-กค.

วันนี้ (8 ก.ค.2566) ที่โรงแรมมิราเคิล นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงเปิดเบื้องหลัง การดำเนินคดีเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 โดยมีรายละเอียดว่า

ประเด็นที่ 1

สืบเนื่องจากเหตุการณ์ชุมนุมของ นปช. เมื่อช่วงเมษายน-พฤษภาคม 2553 ศูนย์ ศอฉ. โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ออกคำสั่งให้ทหารใช้อาวุธสงคราม (เอ็ม 16) เข้าสลายการชุมนุม ซึ่งถือว่าเป็นคำสั่งฆ่าและทำร้ายประชาชน ทำให้มีผู้บาดเจ็บกว่า 2,000 คน และเสียชีวิต 99 ศพ

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษซึ่งมี ผม (นายธาริต) เป็นอธิบดีในขณะนั้น จำเป็นต้องทำหน้าที่เพื่อรักษาความยุติธรรม ด้วยการดำเนินคดีต่อผู้สั่งฆ่าผู้เข้าชุมนุม ในข้อหาตามมาตรา ป.อาญา มาตรา 288-289

จากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ในนามอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในขณะนั้น ส่งผลให้ผู้ต้องหาในคดีคือ นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ยื่นฟ้องพนักงานสอบสวนในคดี ตามมาตรา 157 มาตรา 200 โดยกล่าวหาว่า พนักงานสอบสวนกลั่นแกล้งพวกตนให้ถูกดำเนินคดี

เพื่อรักษาความยุติธรรม ทั้งต่อพนักงานสอบสวน รวมถึงผู้เสียชีวิต 99 ศพ และผู้บาดเจ็บ อีกกว่า 2,000 คน ผมเห็นว่า หากเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดแล้วถูกฟ้องกลับ และถูกดำเนินคดีตาม ป.อาญา มาตรา 157 มาตรา 200 อาจก่อให้เกิดลัทธิเอาอย่างด้วย

การใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย มาตรา 157 มาตรา 200 ฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นแบบอย่างที่กระทำความผิดแล้วไม่ต้องรับผิด เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐกลัวที่อาจจะต้องได้รับโทษอาญาเสียเอง

ผมจึงยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ป.อาญา มาตรา 157 และ มาตรา 200 นั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยยื่นคำร้องผ่านศาลฎีกา

ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ศาลยุติธรรมจะต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ศาลอาญาและศาลฎีกาจะวินิจฉัยเสียเองไม่ได้

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ แถลงเบื้องหลังคดี 99 ศพ จากเหตุการณ์ชุมนุมเดือน พ.ค.2553

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ แถลงเบื้องหลังคดี 99 ศพ จากเหตุการณ์ชุมนุมเดือน พ.ค.2553

ประเด็นที่ 2

ตามที่มีข่าวเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า นายธาริต ได้เลื่อนการฟังคำพิพากษาศาลฎีกาหลายๆ ครั้ง โดยอาจเป็นการหลบเลี่ยงอย่างน่าสงสัยนั้น นายธาริตชี้แจงว่า มีการขอศาลอาญาเลื่อนคดีหลายๆ ครั้งจริง แต่มีสาเหตุมาจากเหตุสำคัญถึง 4 ประการ ได้แก่

(1) การส่งหมายศาลไม่ตรงกับภูมิลำเนาจำเลย
(2) จำเลยเจ็บป่วยเป็นโควิดสองครั้ง ที่โรงพยาบาลพญาไท 2 และเข้ารับการผ่าตัดไตทั้ง 2 ข้าง ที่โรงพยาบาลศิริราช กับเป็นลมหมดสติจริง
(3) มีญาติผู้ตายของ 99 ศพ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามในคดีนี้หลายราย หลายครั้ง และ
(4) จำเลยยื่นขอให้ศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายที่ใช้บังคับกับคดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

ซึ่งเหตุจำเป็นทั้ง 4 ประการดังกล่าว ศาลอาญาต้องเลื่อนการอ่านคำพิพากษา เพราะต้องส่งให้ศาลฎีกาเป็นผู้สั่งคำร้อง

ด้วยเหตุคดีอยู่ในอำนาจของศาลฎีกานั่นเอง การเลื่อนอ่านคำพิพากษาคดีนี้หลายๆ ครั้ง จึงมีเหตุสำคัญและจำเป็นทั้ง 4 ประการ ดังกล่าว ซึ่งเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่ได้เกิดจากนายธาริต เสียทั้งหมด

ประเด็นที่ 3

นายธาริตและญาติของผู้ตายจำนวนมาก มีความกังวลและไม่สบายใจต่อคำพิพากษา ศาลฎีกาที่จะได้มีการอ่านโดยศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) จึงมีการร้องขอโดยญาติผู้ตาย เข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามจำนวนมากหลายราย

ส่วนนายธาริตเอง ก็ได้ร้องขอให้ศาลฎีกาส่งคดีไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 157 มาตรา 200 แห่ง ป.อาญา ที่จะใช้บังคับคดีนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ขณะนี้คำร้องต่าง ๆ ที่กล่าวมายังไม่ทราบผลว่าศาลฎีกาได้สั่งคำร้องอย่างไร โดยเฉพาะได้สั่งให้ส่ง มาตรา 157 และมาตรา 200 ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ แถลงเบื้องหลังคดี 99 ศพ จากเหตุการณ์ชุมนุมเดือน พ.ค.2553

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ แถลงเบื้องหลังคดี 99 ศพ จากเหตุการณ์ชุมนุมเดือน พ.ค.2553

ประเด็นที่ 4

ข้อกังวลและไม่สบายใจของตน (นายธาริต) และญาติผู้ตายคือ หากศาลฎีกาจะพิพากษาลงโทษจำเลย ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว ย่อมเกิดผลอย่างใหญ่หลวงมาก เพราะอาจพิพากษาระบุเช่นเดียวกับศาลอุทธรณ์ว่า

การที่นายธาริตกับพวก พนักงานสอบสวนดีเอสไอ ได้ดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์กับนายสุเทพนั้น ไม่ชอบ เป็นความผิด เพราะนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ กระทำการออกคำสั่ง ศอฉ. ให้ทหารใช้อาวุธสงครามไปยิง ทำร้าย และฆ่าประชาชนนั้น เป็นเหตุร้ายแรงที่สมควรแก่เหตุแล้ว

ผลก็จะเปรียบเสมือนการ “ฟอกขาว” ให้บุคคลทั้งสอง และผู้เกี่ยวข้องในเหตุร้ายแรงนี้เป็น “ผู้บริสุทธิ์” เกิดเป็นบรรทัดฐานแบบอย่าง ผู้ตายทั้ง 99 ศพ พร้อมครอบครัว และผู้บาดเจ็บอีก 2,000 กว่าคน จะเป็นอันสิ้นสุดที่จะได้รับความยุติธรรม และการเยียวยาในความเสียหายทันที

เป็นการโยนตราบาปให้กับผู้ตาย 99 ศพ ว่า เป็นผู้ผิดที่สมควรตาย นานาประเทศจะเกิดข้อสงสัยในกระบวนการยุติธรรมของไทยเป็นอย่างยิ่ง อาจเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงทำนองนี้ได้อีกในประเทศไทย เพราะได้แบบอย่างว่า ทำแล้วไม่ต้องรับผิด และเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งดีเอสไอและหน่วยงานอื่น ๆ จะไม่กล้าดำเนินคดี เพราะอาจต้องติดคุกเสียเอง คำพิพากษาของศาลฎีกาซึ่งถือเป็นบรรทัดฐานในคดีนี้ จึงสำคัญอย่างที่สุด

สรุป

ดังที่ตน (นายธาริต) ได้แถลงชี้แจงมาเป็นลำดับ ก็ด้วยมีความประสงค์จะร้องขอให้ศาลฎีกา ได้โปรดเมตตา คืนความยุติธรรมให้แก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ซึ่งถึงแก่ความตาย 99 ศพ พร้อมครอบครัวผู้สูญเสีย และผู้บาดเจ็บอีก 2,000 คน รวมถึงตนกับพวกที่เป็น เจ้าหน้าที่รัฐผู้รักษากฎหมายด้วย

ในสถานการณ์ของบ้านเมืองเช่นนี้ คงมีแต่ศาลยุติธรรม โดยเฉพาะศาลฎีกาและศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น ที่จะผดุงความยุติธรรมตามความเป็นจริง และความยุติธรรมตามธรรมชาติที่สมควรจะพึงมีอยู่ต่อไป

เมื่อถามว่า ในวันที่ 10 ก.ค.นี้ จะเกิดอะไรขึ้น นายธาริตกล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าสนใจและมีผลต่อความยุติธรรมว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพราะตนได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาส่งเรื่อง ป.อาญา มาตรา 200 ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

คำร้องที่ได้ยื่นเมื่อวันที่ 7 ก.ค.นี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญว่า ศาลอาญาอาจส่งคำร้องไปให้ศาลฎีกาแล้ว และศาลฎีกามีคำสั่งทันที ให้ยกคำร้องที่ขอศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้ว สั่งศาลอาญาอ่านคำพิพากษาจำคุกตน และส่งตัวเข้าคุกทันที หรือศาลฎีกาอาจสั่งให้ส่งคดีไปให้ ศาลรัฐธรรมนูญตีความตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ แถลงเบื้องหลังคดี 99 ศพ จากเหตุการณ์ชุมนุมเดือน พ.ค.2553

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ แถลงเบื้องหลังคดี 99 ศพ จากเหตุการณ์ชุมนุมเดือน พ.ค.2553

แม้ว่าศาลอาญาจะได้พิพากษายกฟ้องตนกับพวก และผู้ตาย 99 ศพ ไม่ใช่ผู้กระทำผิด แต่ศาลอุทธรณ์กลับพิพากษาว่า เป็นความผิด คำพิพากษาดังกล่าวได้เกิดขึ้น ในช่วงที่ประธานศาลอุทธรณ์ เป็นผู้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเคยร่วมชุมนุมกับ กปปส.

และเมื่อคดีของตนกับพวก ขึ้นสู่ศาลฎีกา บุคคลดังกล่าวก็ได้ขยับขึ้นเป็นประธานศาลฎีกาเช่นกัน นายธาริตกล่าวว่า ประเด็นนี้เป็นข้อกังวลอย่างยิ่ง

“หากผมจะต้องติดคุกอีกเหมือนคดีทุจริตโรงพักร้าง ที่ผมก็ได้ทำหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย (แต่กลับถูกนายสุเทพ ฟ้องกลับ) ผมก็จำต้องเคารพและปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกา อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ผมไม่อาจทำใจยอมรับได้ โดยต้องเสียใจอย่างที่สุด และการ ออกมาชี้แจงครั้งนี้ เป็นการใช้สิทธิครั้งสุดท้าย เพื่อความยุติธรรมว่าสมควรมีอยู่จริง” นายธาริตกล่าว

“ธาริต” ระบุถูกขู่จะปฏิวัติถ้าทำคดี 99 ศพ

ในการแถลงข่าว นายธาริตกล่าวด้วยว่า หลังจากเกิดเหตุการสลายชุมนุม ขณะที่เป็นอธิบดีดีเอสไอ มีทหารนายหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร เมื่อปี 2557 เรียกไปเจรจาไม่ให้ดำเนินคดี 99 ศพ

โดยเรียกไปพูดว่า “อย่าดำเนินคดี 99 ศพนะ ถ้าไม่ทำตาม อั๊วจะปฏิวัติ และจะถูกย้ายเป็นคนแรก” หลังจากนั้นตน และนายอรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุด ก็ถูกสั่งย้ายจากตำแหน่งเดิม และหากไม่ทำคดีนี้ก็จะต้องมีคนอื่นทำอย่างแน่นอน และเห็นว่าครั้งนี้เป็นการข่มขู่ครั้งแรกในการทำคดีนี้ ซึ่งไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน

สำหรับคดีการเสียชีวิตของ 99 คน ยังเหลืออายุความอีก 7 ปี นายธาริต เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่งตั้งคณะกรรมาธิการอิสระขึ้นมาแบบระดับ Senior Super Board เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดและให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บทั้งหมด แม้ว่าที่ผ่านมาจะเคยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาในกรณีนี้แล้วก็ตาม

ที่เพิ่งออกมาเคลื่อนไหว และแถลงข่าว เพราะด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่เอื้ออำนวย หากออกมาพูดก็เห็นว่าจะยิ่งทำให้แย่ลง และเห็นว่ากำลังจะมีรัฐบาลใหม่ที่จะสามารถให้ความเป็นธรรมได้ และหากถูกตัดสินจำคุก ก็ยืนยันว่าจะไม่ใช่การติดคุกฟรี จะไม่มีแค่ตัวเองเท่านั้นที่จะต้องติดคุก

“แม่น้องเกด” วอนรัฐบาลใหม่ ทำความจริงให้ปรากฏ

ขณะที่นางพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของ น.ส.กมลเกด อัคฮาด หรือ น้องเกด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม เชื่อว่า สิ่งที่นายธาริตพูดวันนี้ เป็นสิ่งที่อัดอั้นอยู่ภายในใจนายธาริตมานาน 13 ปี ซึ่งเมื่อได้รับฟังก็ทำให้ยิ่งมั่นใจว่า สิ่งที่คิดมาตลอดนั้นไม่ได้คิดไปเอง โดยเชื่อว่าการรัฐประหารปี 2557 ทำให้กระบวนการยุติธรรมพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ จะมีผลต่อคดีการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม ปี 2553

เพราะเจ้าหน้าที่รัฐต้องการปกปิดคดีนี้ เนื่องจากรู้ว่าตัวเองผิดที่ไปฆ่าคนตามคำสั่งของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ดังนั้น ตลอดเวลาที่ตนต่อสู้คดีมาหลังการรัฐประหารปี 2557 จึงถูกรังแกโดยเจ้าหน้าที่รัฐมาตลอด

หากจะมีขบวนการฟอกขาวให้กับนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ อยากฝากไว้ว่า เหตุการณ์ปี 2553 มีคนตายหลักร้อย และคนเจ็บอีกกว่า 2,000 คน ซึ่งคนทั่วโลกมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วบุคคลในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยจะมองเห็นหรือไม่ และก็ขอฝากถึงรัฐบาลใหม่ด้วยว่า ขอให้หันมาให้ความสนใจ และดำเนินการทำให้ความจริงในคดีนี้ปรากฏขึ้นด้วย

สำหรับคดี ของน้องเกด นางพะเยาว์ ระบุว่า หลังจากมีการชี้มูลการเสียชีวิตแล้ว คดีก็เงียบหายไป จึงไปติดตามกับอัยการพิเศษคดีพิเศษ และได้รับแจ้งว่า ส่งสำนวนกลับไปที่ดีเอสไอนานแล้ว แต่เมื่อไปตามคดีที่ดีเอสไอ จึงเพิ่งรู้ว่าดีเอสไอชุดใหม่ หลังการรัฐประหารไม่ได้ทำคดีให้ต่อ จึงร้องให้มีการฟ้องทหาร 8 นาย ที่มีภาพปรากฏถืออาวุธปืนอยู่บนรางรถไฟฟ้า

ดีเอสไอส่งสำนวนให้อัยการศาลทหาร เป็นผู้พิจารณาสำนวน และท้ายสุดอัยการศาลทหารก็มีคำสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐาน ทำให้คดีของน้องเกด ต้องตกไป ญาติจึงต้องเตรียมไปฟ้องร้องคดีใหม่ที่ศาลอาญา

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ แถลงเบื้องหลังคดี 99 ศพ จากเหตุการณ์ชุมนุมเดือน พ.ค.2553

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ แถลงเบื้องหลังคดี 99 ศพ จากเหตุการณ์ชุมนุมเดือน พ.ค.2553

“พี่ชายน้องเกด” บอกยิ่งสู้ ยิ่งถูกฟ้องกลับ

ส่วนนายณัทพัช อัคฮาด พี่ชายของ น.ส.กมลเกด ที่ผ่านมา 13 ปี ได้พยายามเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด แต่ยิ่งเรียกร้องกลับถูกดำเนินคดีกลับ และที่ผ่านมาถูกดำเนินคดีแล้ว 44 คดี รวมทั้งมาตรา 116 ข้อหายุงยง ปลุกปั่น อีกด้วย

นายธาริต กล่าวอีกว่า การที่ญาติจะฟ้องคดีด้วยตนเองนั้น ก็จะทำได้ยาก เพราะต้องหาหลักฐานเองทั้งหมด ซึ่งควรเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องดำเนินคดีให้ประชาชน

ด้านนางอุบลวดี จันทร พี่สาวของนายเสน่ห์ นิลเรือง ที่เสียชีวิตบริเวณแยกบ่อนไก่ กล่าวว่า น้องชายไม่ได้เป็นผู้ร่วมชุมนุม แต่เสียชีวิตขณะกำลังเดินเข้าบ้านที่อยู่ในแฟลตตำรวจ สน.ลุมพินี ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการไต่สวนมูลฟ้อง

หวังว่า หลังจากนี้สถานการณ์จะดีขึ้น และอยากให้นายธาริตไม่ต้องถูกพิพากษาจำคุก จะได้มาช่วยเหลือญาติในการต่อสู้คดีต่อไป

ด้านนายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความที่ทำคดีให้กับญาติผู้เสียชีวิต ระบุว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีการยื่นฟ้องไป 99 คน แต่เพิ่งมีการไต่สวนการเสียชีวิตไปเพียง 27 คดี และยังมีคดีที่ยังอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวนอีกจำนวนมาก

อ่านข่าวอื่นๆ

สั่งย้าย-ตั้งกรรมการสอบ “ตำรวจ” ปมทำปืนลั่นใส่เด็กอายุ 14 ปี

อัพเดทวันที่ 5 “ช้างพลายศักดิ์สุรินทร์” หมอขอ “งดเยี่ยม” ให้ปรับตัวกับควาญใหม่

ชาวรัสเซียตกจากพระธาตุวัดฉลอง จ.ภูเก็ต เสียชีวิต

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่