วันนี้ (9 ก.ค.2566) เวลา 09.00 น. บรรยากาศที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ซึ่งเป็นสถานที่จัดประชุมของประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี ของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค คณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ค่อนข้างคึกคัก
ตั้งแต่ช่วงเช้า นายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมกับแกนนำพรรค ทยอยดินทางมาถึงทักทายลูกพรรคที่สวมเสื้อแจ็กเก็ตสีฟ้าพรึ่บ ท่ามกลางสื่อมวลชนมารอทำข่าวจำนวนมาก
ก่อนการประชุม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เดินทางมาถึง มีสมาชิกพรรคมารอต้อนรับ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ กล่าวสั้นๆ ว่าเคยพูดไปแล้ว ขอให้รอในที่ประชุมอย่างเดียว ส่วนจะได้รับเสียงสนับสนุนในที่ประชุมหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า
ผมพูดไปหมดแล้ว รอในที่ประชุม
“จุรินทร์”ลั่นขอให้สู้-เชื่อปชป.จะกลับมายิ่งใหญ่
ต่อมาเวลา 10.00 น.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดการประชุม พร้อมรายงานว่ามีผู้เข้าประชุม 299 คนถือว่าครบองค์ประชุม สาเหตุเนื่องจากตัวเองได้ขอลาออกจากหัวหน้าพรรคเมื่อ 14 พ.ค.2ที่ผ่านมา ทำให้คณะกรรมการบริหารพรรคทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง
นายจุรินทร์ กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ ขอบคุณคณะทำงาน ขอบคุณอดีต ครม.และขอบคุณคนไทยทั้งประเทศที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะไม่มาก แต่เชื่อพรรคจะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งเหมือนกับ 77 ปีที่ผ่านมา
ขอให้สู้ต่อไปอย่าท้อถอย และขอให้เป็นกำลังใจพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนตัวไม่เคยท้อ และยังนึกถึงบุญคุณพรรคเสมอ พร้อมสนับสนุนพรรค และฝากกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ให้นำพรรคไปในทิศทางที่ถูกต้อง
ปิดห้องประชุมกันสื่อช่วงคุยเปิดอก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนจะเข้าสู่วาระวาระการเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค นายสาธิต ปิตุเตชะ รักษาการรองหัวหน้าพรรค ปชป.หารือว่า ระหว่างที่พรรคจะมีการตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พรรค เพื่อตรวจนับคะแนนนั้น จะขอเสนอญัตติยกเลิกข้อบังคับพรรคที่ 87 ก่อนหรือรอให้มี กกต. พรรคก่อน ซึ่งนายจุรินทร์ ขอให้ กกต.ขึ้นมาทำหน้าที่จะได้เสนอทีเดียว
ในระหว่างนั้นนายธนา ชีรวินิจ อดีตส.ส.กทม.เสนอว่าการประชุมครั้งนี้ อาจจะมีสมาชิกแสดงความคิดเห็นตามความเชื่อ และความคิดของแต่ละคน จึงมองว่าเป็นเรื่องภายในที่จะได้พูดคุยกันอย่างเต็มที่ จึงขอเสนอว่าควรให้สื่อมวลชนออกจากห้องประชุม เพราะสิ่งที่สื่อมวลชนรับทราบระหว่างที่เราพูดคุยกัน อาจจะมีการสื่อสารที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง อาจจะทำให้การสื่อสารไปยังบุคคลภายนอกผิดพลาดได้
ทั้งนี้นายสาธิต ก็เห็นด้วยกับข้อเสนอของนายธนา ทำให้นายจุรินทร์ ได้ขอให้เชิญสื่อมวลชน และผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากที่ประชุมไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมาการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เคยเชิญสื่อออกจากห้องประชุม ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก ที่ไม่อนุญาตให้สื่อเข้าร่วมทำข่าว
นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า พรรคได้จัดที่นั่งให้นายอภิสิทธิ์ ไว้รวมกับอดีตหัวหน้าพรรค ติดกับนายจุรินทร์ แต่นายอภิสิทธิ์ ไปนั่งในส่วนของสมาชิกที่ร่วมประชุม ใกล้กับนายพนิต วิกิตเศรษฐ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ
นอกจากนี้ เป็นที่สังเกตว่า มีสมาชิกระดับอาวุโสหลายคน เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ เช่น นายโพธิพงษ์ ล่ำซำ นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล นายนิพนธ์ ธาราภูมิ และนายไพฑูรย์ แก้วทอง
มัลลิกา-นราพัฒน์ ร่วมชิงหัวหน้าพรรค
ขณะที่น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศตัวลงชิงตำแหน่งเป็น “หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์” ในการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2566 เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ขณะเดียวกัน นายนราพัฒน์ แก้วทอง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะถูกเสนอชื่อลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในครั้งนี้ โดยมีนายเดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าพรรคฯ ร่วมเป็นทีมงานในตำแหน่ง “เลขาธิการพรรคฯ”
อ่านข่าวเพิ่มจับกระแสการเมือง : วันที่ 7 ก.ค.2566 “เปิดหน้าชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค ปชป.” 9 ก.ค.รู้ผลใครมาวิน
“อภิสิทธิ์” ส่อวืดคัมแบ็กนั่งหัวหน้าพรรค
ต่อมาเมื่อเวลา 14.00 น.นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้ที่ประชุมงดเว้นข้อบังคับการประชุม ข้อที่ 37 ที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ในกรณีที่กรรมการบริหารพรรคชุดเก่า พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน เพื่อเลื่อนการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคฯ และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดใหม่ออกไปก่อน
โดยให้เหตุผลว่า หากยังดำเนินการประชุมต่อไป ก็จะทำให้เกิดผลกระทบภายในพรรค ทำให้เกิดผู้แพ้-ผู้ชนะ แต่หากเลื่อนการประชุมออกไปก่อน ให้สมาชิกได้มีการพูดคุยกัน ก็จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ชนะไปด้วยกัน เพื่อปูทางเป็นชัยชนะคู่แข่งทางการเมืองในอนาคต
ยืนยันว่าการเสนอให้เลื่อนการประชุมครั้งนี้ ไม่ได้คำนึงถึงท่าทีรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ เลือกที่จะเป็นฝ่ายค้านแล้วจะให้นายอภิสิทธิ์ กลับมาเป็นผู้นำพรรคอีกครั้ง เพียงแต่เห็นว่าหากมีการพูดคุยกันภายในพรรคให้ตกผลึกมากกว่านี้ ความขัดแย้งต่างๆ ก็จะไม่เกิดขึ้นและทำให้เกิดความร่วมมือกันภายในพรรคให้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้มีการลงมติว่าจะให้งดข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์ข้อดังกล่าว เพื่อเลื่อนการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ออกไปก่อนหรือไม่ โดยผลการลงมติปรากฏว่าสัดส่วนคะแนนมีไม่เพียงพอที่จะเลื่อนการประชุมครั้งนี้ออกไป จึงทำให้ต้องดำเนินการประชุมต่อ
จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาญัตติที่ นายสาธิต รองหัวหน้าพรรคฯ เสนอต่อที่ประชุมให้งดใช้ข้อบังคับพรรคฯ ในข้อที่ 137 ที่กำหนดน้ำหนักคะแนนในการลงมติเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่ง ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ 25 คน
ขณะนี้จะมีน้ำหนักคะแนนร้อยละ 70 แต่อดีต ส.ส.อดีตรัฐมนตรี อดีตผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และอดีตหัวหน้าพรรคฯ จะมีน้ำหนักคะแนนเพียงร้อยละ 30 ผลการลงมติปรากฏว่า สัดส่วนคะแนนมีไม่เพียงพอที่จะปรับสัดส่วนน้ำหนักคะแนน จึงทำให้ผลคะแนนในการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ ยังต้องดำเนินการต่อไปบนสัดส่วนคะแนน 70:30
อย่างไรก็ตาม นายสาธิต ได้กล่าวภายหลังที่ประชุมมีมติดังกล่าวว่า จะทำให้น้ำหนักคะแนนไปขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ ส.ส.ปัจจุบันของพรรค 25 คน ดังนั้น จึงอาจทำให้นายอภิสิทธิ์ อดีตหัวหน้าพรรคฯ ที่จะมีสมาชิกพรรคฯ เสนอชื่อเพื่อกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ได้ แต่ก็จะต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมว่า จะมีการเสนอชื่อผู้ที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรคฯ อย่างไร หรือจะมีใครถอนตัวหรือไม่
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ธาริต” เปิดเบื้องหลังคดี 99 ศพ ก่อนฟังศาลฎีกาวันที่ 10 ก.ค.