หน้าแรก Voice TV ‘ซักเคอร์เบิร์ก’ ปิดหน้าลูกลงโซเชียล แล้วคุณในฐานะพ่อแม่เราควรทำตามไหม?

‘ซักเคอร์เบิร์ก’ ปิดหน้าลูกลงโซเชียล แล้วคุณในฐานะพ่อแม่เราควรทำตามไหม?

78
0
‘ซักเคอร์เบิร์ก’-ปิดหน้าลูกลงโซเชียล-แล้วคุณในฐานะพ่อแม่เราควรทำตามไหม?

เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2566 มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอพันล้านเจ้าของเฟซบุ๊ก ได้โพสต์รูปครอบครัวลงบนอินสตาแกรม ทั้งนี้ในรูปนั้น ซักเคอร์เบิร์กใส่หมวกคาวบอยยืนคู่กับภรรยา ที่กำลังอุ้มลูกสาวตัวน้อย พร้อมกับลูกสาว 2 คนยืนอยู่ด้านหน้า อย่างไรก็ดี ซักเคอร์เบิร์กได้ใช้อิโมจิรูปยิ้มปิดหน้าลูกสาวทั้งสองของเขาเอาไว้

การปิดใบหน้าลูกสาวทั้งสองคนของซักเคอร์เบิร์ก เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมาก เนื่องจากหลายฝ่ายมองว่า การปิดใบหน้าเพื่อความกังวลในประเด็นความเป็นส่วนตัวของลูกสาวของซักเคอร์เบิร์กนั้น ย้อนแย้งกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ซักเคอร์เบิร์กเป็นเจ้าของ และเปิดบริการให้ผู้คนต่างโพสต์รูปครอบครัวของพวกเขาได้

เมต้า บริษัทแม่ของอินสตาแกรม ถูกตรวจสอบมาเป็นเวลานานในเรื่องการจัดการความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน และระบบอัลกอริทึมของแพลตฟอร์ม เนื่องจากนโยบายและระบบของแพลตฟอร์ม สามารถชักจูงผู้ใช้ไปสู่สถานการณ์ หรือเหตุการณ์ที่อาจจะเป็นอันตรายแก่ผู้ใช้เองได้

การตระหนักถึงเรื่องความเป็นส่วนตัวของพ่อแม่ที่มีต่อลูกๆ ในการลงรูปในโซเชียลมีเดีย แสดงให้เห็นถึงความนิยมของผู้ใช้โซเชียลเดีย โดยเฉพาะผู้ที่เป็นบุคคลสำคัญหรือคนดัง ที่มักจะระวังในการลงรูปที่สามารถบ่งชี้ไปถึงตัวตนของลูกๆ ของพวกเขาได้

หลายปีที่ผ่านมา คนดังหลายคน ไม่ว่าจะเป็น คริสเตน เบล, จีจี ฮาดีด, คริส แพรตต์, ออร์แลนโด บลูม รวมถึงซักเคอร์เบิร์ก ต่างเบลอหน้า หรือไม่ก็ใช้อิโมจิปิดใบหน้าของลูกๆ เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของเด็ก โดยก่อนหน้านี้ ซักเคอร์เบิร์กเลือกที่จะลงรูปภาพด้านหลังศีรษะ และรูปด้านข้างของลูกสาวแทนที่จะเปิดให้เห็นหน้าลูกสาวเต็มๆ

อย่างไรก็ดี การตระหนักถึงความเป็นส่วนตัวของผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ยังไม่ได้เป็นที่ระแวดระวังของผู้ใช้บนโลกออนไลน์ทั่วไปมากนัก

“การที่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เป็นแบบอย่างให้เราในการตระหนักถึงความเป็นส่วนตัวของลูกๆ โดยไม่เปิดเผยตัวตนของลูกๆ และสถานที่ ความเป็นอยู่ของครอบครัวเขา อาจจะบ่งบอกว่ามันเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ใช้ ที่จะต้องปกป้องตัวพวกเขาเองในโลกของโซเชียลมีเดีย” อเล็กซานดรา แฮมเล็ต นักจิตวิทยาในนิวยอร์ก ที่กำลังศึกษาผลกระทบจากโซเชียลมีเดียต่อผู้ใช้อย่างใกล้ชิด ระบุ

การเก็บประสบการณ์และความทรงจำของคนเป็นพ่อแม่ ทำได้ในอีกทางผ่านการลงรูปภาพของลูกๆ ที่อาจจะสร้างความหน้าอับอายให้กับเด็กในอนาคต แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พ่อแม่และผู้เชี่ยวชาญเริ่มตระหนัก และให้ความสำคัญกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น จากการลงรูปเหล่านี้ลงบนโซเชียลมีเดีย เพราะรูปเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงต่อเด็ก ในการเปิดเผยตัวตนให้กับโจร หรือเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า รูปภาพเหล่ายังกลายเป็นประวัติในอินเตอร์เน็ตที่สามารถติดตามเด็กเข้าไปสู่วัยผู้ใหญ่ของพวกเขาด้วย

ผู้ปกครองบางคนเลือกที่จะจำกัดการลงรูป หรือเรื่องราวของลูกๆ ไม่ก็ลดการใช้โซเชียลมีเดีย หรือเลือกวิธีที่ชาญฉลาด ด้วยการปิดหน้าลูกของตัวเองลงบนโซเชียลมีเดีย

ลีอาห์ พลังเก็ตต์ นักเขียนเจ้าของหนังสือ ‘Sharenthood: Why We Should Think before We Talk about Our Kids Online’ และ รองคณบดีฝ่ายประสบการณ์การเรียนรู้และนวัตกรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด กล่าวว่า  การปกปิดหน้าของเด็กคือการให้สิทธิโอกาสแก่เด็ก ในการตัดสินในการเล่าเรื่องราวของพวกเขาเอง

“ทุกๆ ครั้งที่คุณลงเรื่องราวเกี่ยวกับลูกของคุณ คุณกำลังตัดโอกาสในการเล่าเรื่องของลูกด้วยตัวลูกเอง ว่าเขาเป็นใคร แล้วอยากจะเป็นอะไร” พลังเก็ตต์ระบุ “เราเติบโตมากับการก่อเรื่องและทำผิดพลาดบ่อยครั้ง และมันก็เป็นเรื่องดีที่เราจะก่อเรื่องผิดพลาดขณะที่เรากำลังโตมา” ถ้าเกิดเราไม่ให้ความอิสระในความส่วนตัวเองของลูกที่จะเล่นและเรียนรู้ ในการใช้ชีวิตผ่านการลองผิดลองถูก เรากำลังทำให้ลูกเสียโอกาสในการเล่าเรื่องราวของพวกเขา ด้วยประสบการ์ณและตัวตนของพวกเขาเอง

สิ่งที่สังเกตเห็นได้จากการโพสต์รูปครอบครัวซักเคอร์เบิร์ก คือ เขาไม่ได้ปิดหน้าลูกสาวตัวน้อยที่ภรรยาเขาอุ้มอยู่ ซึ่งสิ่งนี้อาจจะแสดงให้เห็นถึงข้อกังวลกับการเปิดเผยใบหน้าของเด็กที่โตแล้ว มากกว่าหน้าของเด็กทารก อย่างไรก็ดี พลังเก็ตต์กล่าวว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงหน้าของเด็กทารกได้ แม้ว่าเด็กคนนั้นจะโตขึ้นแล้วก็ตาม

พลังเก็ตต์มองว่า บริษัทโซเชียลมีเดียทั้งหลาย น่าจะสามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ ในประเด็นเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวเองเด็กๆ เช่น การเบลอหน้าเด็กอย่างอัตโนมัติ หรือการป้องกันการนำรูปเด็กมาใช้ในทางโฆษณา อย่างไรก็ดี ภาระหน้าที่ความรับผิดชอบในตอนนี้ยังคงเป็นของผู้ปกครอง ในการให้ความระมัดระวังต่อความเป็นส่วนตัวของลูกๆ

“ไม่ใช่แค่พ่อแม่เท่านั้นที่ต้องตระหนักถึงเรื่องเหล่านี้ ปู่ย่าตายาย โค้ช ครู และคนอื่นๆ ก็ควรระวังเด็กๆ ในภาพถ่ายและวิดีโอด้วย เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัย อนาคต และโอกาสของเด็กๆ เพื่อที่เด็กๆ จะสามารถตัดสินใจในเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเองและเพื่อตัวเอง” พลังเก็ตต์ระบุ

ที่มา:

https://edition.cnn.com/2023/07/09/tech/mark-zuckerberg-emoji-kids-faces/index.html

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่