หน้าแรก Thai PBS จับกระแสการเมือง : วันที่ 13 ก.ค.66 สึนามิลูกแรก “พิธา” ยังคว้างกลางทะเล

จับกระแสการเมือง : วันที่ 13 ก.ค.66 สึนามิลูกแรก “พิธา” ยังคว้างกลางทะเล

77
0
จับกระแสการเมือง-:-วันที่-13-กค.66-สึนามิลูกแรก-“พิธา”-ยังคว้างกลางทะเล

จบโหวตไปแล้วด้วยคะแนนเห็นชอบ 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง และงดออกเสียง 199 คน สรุป “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล สอบไม่ผ่านด่านส.ว. ยังคว้าเก้าอี้นายกฯ คนที่ 30 ไม่ได้ แม้จะได้รับเสียงสนุนจาก 13 ส.ว. ครั้งนี้คะแนนอาจยังไม่ถึง แต่ยังมีโอกาสแก้ตัว “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภา นัดโหวตอีก 2 ครั้ง คือ วันที่ 19 ก.ค. และ 20 ก.ค. นี้

บรรยากาศการประชุมรัฐสภาโหวตนายกฯ

บรรยากาศการประชุมรัฐสภาโหวตนายกฯ

ประดาบก็เลือดเดือด

สีสันการโหวตเลือกนายกฯ นอกจากบรรยากาศในสภาจะมีการอภิปรายชนิดประดาบก็เลือดเดือด ประเดิมที่ ชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ที่ลั่นกลางที่ประชุมสภาว่า

เขาบอกว่า ฝั่งโน้นเป็นฝั่งประชาธิปไตย แล้วฝั่งผมเป็นอะไร ผมก็เลือกตั้งมาเหมือนกัน เป็นโจรเหรอ เป็นโจรก็ยอม เป็นโจรที่รักชาติ รักสถาบัน เป็นโจรที่ปกป้องบ้านเมืองนี้และปกป้องสถาบัน ด้วยหัวใจและเลือดนี้ของผม

ส่วนฟากวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ก็ไม่น้อยหน้า อภิปรายตอนหนึ่งว่า…เราไม่อยากให้แตะต้องมาตรา 112 มันก็เลยเกิดคำนิยามว่า ความไม่ปกติทางการเมือง

…อีกก้าวเดียวก็ถึงนายกรัฐมนตรีแล้ว นายพิธาก็รู้ว่าติดเรื่องอะไร แล้วทุกคนในสภาฯ นี้ก็รู้ สังคมก็รู้ว่าติดเรื่องอะไร ขยับก้าวนั้นเสียได้ไหม มีนโยบาย 300 กว่าข้อ ที่เขียนไว้ ทิ้งหมด ติดใจข้อเดียวตนก็คิดว่าคนอื่นก็ติดใจข้อนี้ข้อเดียวเหมือนกัน ก้าวอีกก้าวเดียวเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว เรื่องง่ายมาก ตัดสินใจเสีย

ขณะเดียวกัน ก็มีเรื่องชวนตื่นเต้น เมื่อ “นพดล มาตรศรี” ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา โหวตเห็นชอบรับ “พิธา” ทำเอา “ท็อป” วราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคฯ มึนตึ้บ แต่เมื่อรู้ตัวว่าพลาด นพดล จึงร้องขอต่อประธานวันนอร์ว่า “โหวตผิด” เปลี่ยนเป็น “งดออกเสียง” เกือบไปแล้ว

เดินทางไกลมาเชียร์

ขณะที่บรรยากาศนอกสภา ก็มี FC ด้อมส้ม แฟนคลับมาให้กำลังใจพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยไม่น้อย นายทวี ไกรคุปต์ บิดาของ “เอ๋” ปารีณา ไกรคุปต์ และ “สีหเดช ไกรคุปต์” แม้ลูกจะเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย แต่พ่อเดินทางไกลจากราชบุรีมาเชียร์ “พิธา” ถึงหน้าสภาเกียกกาย

ทวี บอกว่า ออกจากบ้าน จ.ราชบุรี ตั้งแต่ตี 4 โดยให้คนขับรถพามา ตนสนับสนุนนายพิธาเพราะเป็นคนรุ่นใหม่ ได้รับเสียงสวรรค์จากประชาชน ไม่ใช่การจัดตั้ง ไม่มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียง มีนโยบายปรับปรุงแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และสัปดาห์หน้าก็จะเดินทางมาให้กำลังใจอีกครั้ง

บรรยากาศการประชุมรัฐสภาโหวตนายกฯ

บรรยากาศการประชุมรัฐสภาโหวตนายกฯ

ปิดสวิตช์ตัวเองตลอดไป

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่โหวต ให้พิธา โดยระบุทาง อินสตาแกรมว่า ที่สุดก็ไม่มีคำอธิบายว่าทำไมต้องแก้มาตรา 112 แต่ยิ่งชัดเจนว่า ยืนยันจะแก้ไขแน่นอน ที่สำคัญพรรคต่างๆ ที่ทำข้อตกลงร่วมกันก็ยอมให้พรรคก้าวไกลเสนอแก้มาตรา 112 ได้ การเมืองไทยเป็นเช่นนี้ จึงได้คำตอบว่า ปิดสวิตช์ ตามหลักการเดิม และปิดตลอดไปจนกว่าจะหมดวาระ

หมอพรทิพย์ ตั้งคำถาม 5 ข้อหลักว่า 1.หลักการของประชาธิปไตย คือการเลือกตั้งให้ได้พรรคการเมืองมาบริหารบ้านเมืองให้สังคมมีความยุติธรรม คำนึงเรื่องสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม ความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่การดำเนินการตามนโยบายของพรรคที่ได้เสียงสนับสนุน หรือเสียงข้างมากเป็นหลัก แม้นโยบายจะทำลายชาติ

2.การเลือกตั้งในครั้งนี้มีการกระทำที่ขัดหลักการประชาธิปไตยในประเด็นสำคัญคือการห้ามผู้สมัครใช้อำนาจผ่านสื่อที่ตัวเองเป็นเจ้าของ หรือมีหุ้นเอาเปรียบพรรคอื่นๆ เพียงแต่กฎหมายไทยไม่ได้แก้ไขให้ทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

การชนะในครั้งนี้คือการใช้สื่อโซเชียลปลุกระดมให้ข้อมูลเท็จบ้างจริงบ้างและให้ใช้สื่อละเมิดผู้อื่นที่เรียกว่าด้อม บูลลี่ ตามด่า รวมทั้งการสร้างอวตารเข้าทำอันตรายในทุกช่องทางสื่อสารส่วนตัวด้วยเพราะตัวบทกฎหมายตามไม่ทัน จนกลายเป็นการสร้างความขัดแย้งรุนแรงและแสดงถึงการไม่ยอมรับความเห็นต่าง

บรรยากาศการประชุมรัฐสภาโหวตนายกฯ

บรรยากาศการประชุมรัฐสภาโหวตนายกฯ

3.รัฐธรรมนูญเป็นบทบัญญัติที่มนุษย์ร่วมกันตกลงเขียนขึ้นไม่ใช่หลักธรรมะ จึงอาจเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาแล้วแต่มนุษย์จะตกลง และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ได้มาตามครรลองประชาธิปไตย คือผ่านการลงประชามติ การทำหน้าที่ของ ส.ว.จึงเป็นไปตามบทบาทที่กำหนด

4.ประเด็นสำคัญที่ ส.ว. ติดใจคือการขอแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งจากการหาเสียงมีแนวทางที่กระทบสถาบันพระมหากษัตริย์ กลุ่มที่สนับสนุนสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งล้วนแสดงกิริยาให้ร้ายต่อสถาบัน มีการสนับสนุนให้หมิ่นประมาทตั้งแต่สถาบันไปจนถึงประชาชนคนธรรมดาแปลกที่ว่าที่นายกฯ ไม่ตอบ ไม่อธิบาย แต่ตอบว่าต้องรักษาคำพูด ทั้งๆ ที่ชี้แจงว่าเขาเป็นผู้นำที่รู้จักรุกและถอย แต่เรื่องนี้ไม่ตอบ ไม่อธิบายรายละเอียดใดๆ และไม่ยอมถอย

5.สิ่งสำคัญที่สุดคือหน้าที่ของทุกคน รวมทั้ง ส.ว. คือหน้าที่รักษาชาติ หากอ้างประชาธิปไตย อ้างเสียงสนับสนุน 14 ล้านเสียงว่าต้องรักษาประชาธิปไตยแต่ชาติจะล่มสลาย คงไม่สามารถปล่อยได้

ในช่วงเย็น หลังจากโหวตคะแนนเสร็จ ก่อนเวลาเล็กน้อย “พิธา” และสมาชิกพรรคก้าวไกลเดินออกมาพบแฟนคลับ พร้อมย้ำว่า ยอมรับผลโหวตแต่ยังไม่ยอมแพ้ จะพยายามรวบ รวมเสียงต่อ

ดังนั้นสัปดาห์หน้าต้องจับตาดูไม่พริบว่า ช่วงเวลาที่เหลือ พรรคก้าวไกลจะแก้เกมนี้อย่างไร เพราะนี่แค่ “สึนามิ” ลูกแรกเท่านั้น 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

เปิดรายชื่อ 13 ส.ว. โหวต “เห็นชอบ” พิธานั่งนายกฯ

“พิธา” ยอมรับแต่ไม่ยอมแพ้ ยันเดินหน้าแก้ ม.112

ประชุมสภา : “ส.ว.พีระศักดิ์” โหวตหนุน “พิธา” ยึดหลักโหวตให้เสียงข้างมากของ ส.ส.

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่