หน้าแรก Thai PBS ไขคำตอบ งดออกเสียง = ไม่เห็นด้วย จริงหรือไม่ ?

ไขคำตอบ งดออกเสียง = ไม่เห็นด้วย จริงหรือไม่ ?

47
0
ไขคำตอบ-งดออกเสียง-=-ไม่เห็นด้วย-จริงหรือไม่-?

หลังเสร็จการโหวต “นายกรัฐมนตรี” เมื่อวันที่ 13 ก.ค.2566 ด้วยคะแนน เห็นชอบ 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง และงดออกเสียง 199 คน ทำให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ยังได้รับคะแนนเสียงไม่เพียงพอให้นั่ง “นายกฯ” เนื่องจากเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง คือ 376 เสียง แม้จะได้เสียงสนับสนุนจาก 13 ส.ว. แต่ยังมีโอกาสอีก 2 ครั้ง คือวันที่ 19 ก.ค. และ 20 ก.ค.นี้

มติที่ประชุมครั้งนี้มี ส.ส. และ ส.ว. “ไม่เห็นชอบ” และ “งดออกเสียง” จำนวนมาก ทำให้คนที่ติดตามผลการลงมติ “โหวตนายกฯ” ตั้งคำถามว่า การออกเสียงลงคะแนนแต่ละประเภทมีความหมายอย่างไร โดยเฉพาะคำว่า “งดออกเสียง”

เรื่องนี้ ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ยังได้แสดงความคิดเห็นถึงประเด็นนี้ด้วยว่า “การงดออกเสียงมีผลทางกฎหมายเท่ากับไม่เห็นชอบนั่นเอง แต่พูดให้สวย ๆ ไปหยั่งงั้น”

งดเว้นการออกเสียง เป็นอย่างไร

ข้อมูลจาก หอสมุดรัฐสภา ให้ความหมายของคำว่า งดเว้นการออกเสียง ว่า การที่สมาชิกสภาไม่ออกเสียง หรือ งดการแสดงความเห็น ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับญัตติหรือข้อปรึกษาที่ต้องมีการลงมติในที่ประชุมสภา เมื่อมีการเสนอญัตติหรือข้อปรึกษาต่อสภาที่ต้องมีการลงมติเพื่อให้สภาตัดสินใจหรือวินิจฉัยแล้ว ประธานในที่ประชุมสภาจะถามมติของที่ประชุม และสมาชิกสภาที่อยู่ในที่ประชุมก็จะออกเสียงลงมติว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับญัตตินั้น

แต่ในบางกรณีที่สมาชิกสภาอาจจะยังไม่ตัดสินใจหรือหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น ก็สามารถใช้วิธีการ งดเว้นการออกเสียง ได้ ถือเป็นสิทธิของสมาชิกสภาที่สามารถทำได้ซึ่งไม่ถือว่าขัดข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 แล้วแต่กรณี

หอสมุดรัฐสภา ยังอธิบายการงดเว้นการออกเสียงในการลงมติโดยเปิดเผย ดังนี้

  • การลงมติโดยใช้วิธีการเรียกชื่อสมาชิกสภาเป็นรายบุคคล สมาชิกสภาที่ประสงค์งดเว้นการออกเสียง ต้องกล่าวคำว่า “งดเว้นการออกเสียงหรืองดออกเสียง” เมื่อเลขาธิการสภาเรียกชื่อตน
  • การลงมติโดยใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนน สมาชิกสภาที่ประสงค์งดเว้นการออกเสียงจะต้องสอดบัตรและกดปุ่มงดเว้นการออกเสียง
  • การลงมติโดยใช้วิธีการยกมือพร้อมแสดงบัตรลงคะแนนซึ่งมีเฉพาะในวุฒิสภา สมาชิกวุฒิสภาที่ประสงค์งดเว้นการออกเสียงต้องยกมือพร้อมแสดงบัตรลงคะแนนสีขาว

ส่วนการงดเว้นการออกเสียงในการลงมติเป็นการลับ ทำได้ดังนี้

  • การลงมติโดยใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนน สมาชิกสภาที่ประสงค์งดเว้นการออกเสียงจะต้องสอดบัตรและกดปุ่มงดเว้นการออกเสียง
  • การลงมติโดยใช้บัตรออกเสียงลงคะแนน หากเป็นการลงมติในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเขียนเครื่องหมายกากบาท (x) ลงในช่องทำเครื่องหมายหน้าคำว่างดเว้นการออกเสียงหรืองดออกเสียง
  • แต่หากเป็นการดำเนินการในวุฒิสภาหรือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกรัฐสภาที่ประสงค์งดเว้นการออกเสียงต้องเขียนเครื่องหมายวงกลม (O) บนแผ่นกระดาษใส่ซองที่เจ้าหน้าที่จัดให้

คะแนนเสียงของสมาชิกสภาที่ งดเว้นการออกเสียง ไม่นำมานับรวมเป็นเสียง เห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วย จึงไม่มีผลในทางสนับสนุนหรือคัดค้านฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ในกรณีที่ใช้เสียงข้างมากธรรมดาในการชี้ขาดญัตติหรือข้อปรึกษานั้น

แต่อย่างไรก็ตาม หากเป็นกรณีที่ต้องใช้เสียงข้างมากเด็ดขาดในการชี้ขาด การงดเว้นการออกเสียงก็อาจมีผลเท่ากับเป็นการไม่เห็นด้วยกับญัตตินั้นได้ เช่น ในกรณีการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 151 ซึ่งกำหนดให้มติไม่ไว้วางใจต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

การงดเว้นการออกเสียง จึงทำให้เกิดผลเท่ากับว่า ไม่เห็นด้วย กับญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนั้นนั่นเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับกระแสการเมือง : วันที่ 13 ก.ค.66 สึนามิลูกแรก “พิธา” ยังคว้างกลางทะเล

สภานักศึกษา มช.ออกแถลงการณ์ ไม่เห็นด้วย ส.ว.เหตุไม่เคารพฉันทามติประชาชน

เปิดรายชื่อ 13 ส.ว. โหวต “เห็นชอบ” พิธานั่งนายกฯ

“พิธา” ยอมรับแต่ไม่ยอมแพ้ ยันเดินหน้าแก้ ม.112

ประชุมสภา: ย้อนฟังวิสัยทัศน์ “พิธา” ก่อนโหวตไม่ผ่าน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่