หน้าแรก Voice TV ปมร้อนต้องจับตา สกัดโหวต นายกฯ 19 ก.ค.

ปมร้อนต้องจับตา สกัดโหวต นายกฯ 19 ก.ค.

39
0
ปมร้อนต้องจับตา-สกัดโหวต-นายกฯ-19-กค.

วันพุธที่ 19 ก.ค. นี้จะเป็นเป็นจุดสำคัญของการเมืองไทยอีกครั้ง เพราะจะมีการเปิดประชุมร่วมของรัฐสภาเพื่อขอมติรับรองรายชื่อบุคคลผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2

ไล่เรียงจากการหารือร่วมกันของสองพรรคใหญ่ในวันที่ 14 ก.ค. ยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน คู่ขนานไปกับข่าวลือการดีลเสนอผลประโยชน์ให้บรรดา ส.ส. ทั้งในพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย เพื่อทำให้เสียงข้างน้อยกลายเป็นเสียงข้างมากในที่สุด

ทว่าระหว่างที่อยู่ในช่วงของการทำการกลับไปหารือกันภายในพรรคของทั้งสองพรรคใหญ่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ออกแถลงการณ์ถึงประชาชนใจความว่า พรรคก้าวไกลพร้อมถอยจากการเสนอนายกฯ หากสู้แล้วแพ้ในสองสมรภูมิ คือ การโหวตนายกฯ รัฐมนตรีอีกครั้ง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ปิดสวิตช์ส.ว.โหวตนายกฯ ซึ่งพรรคเพื่อไทยเห็นต่างกับแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญตอนนี้

ล่าสุด 17 ก.ค. การหารือร่วมกันได้ข้อสรุปแล้วว่า จะส่ง ‘พิธา’ อีกครั้ง ส่วนการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 นั้นเป็นการดำเนินการเฉพาะของพรรคก้าวไกล ไม่มีผลผูกมัดพรรคร่วมอื่นอีก 7 พรรค

โจทย์การเมืองในวันที่ 19 ก.ค. นี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องจับตา ท่ามการการเดินเกมของพรรคก้าวไกลที่ยืนยันหลักการว่า ไม่ถอยประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 ตามที่มีการอภิปรายต่อต้านในครั้งเสนอชื่อนายกฯ รอบแรก

2 พรรคใหญ่มองต่าง สมรภูมิแก้ ม. 272 ปิดสวิตช์ ส.ว.

เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ‘พิธา’และพรรคก้าวไกลเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ในการแถลง ‘2 สมรภูมิ’ ดังที่กล่าวไป สุ้มเสียงจากพรรคร่วมอย่างเพื่อไทยในฐานะที่เป็นพรรคอันดับสอง ดูจะยังไม่หักดิบข้อเสนอดังกล่าวในทันที และแกนนำเพื่อไทยระบุพร้อมที่จะยกมือสนับสนุนพิธาอีกครั้ง แต่หากครั้งนี้ไม่มีความเปลี่ยนแปลงของเสียงสนับสนุนอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อไทยเห็นว่า สมรภูมิของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 นั้นไม่น่าจะเป็นหมุดหมายถัดไป เพราะติดกับดัก ส.ว.อยู่ดีและกระบวนการทางกฎหมายใช้เวลาพอสมควร ดังนั้น หาก 19 ก.ค. ชื่อของพิธาถูกปัดตกอีกครั้ง การเดินเกมถัดไปร่วมกันของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลควรจะเปลี่ยนเงื่อนไข เพราะประเทศรอไม่ได้

ภูมิธรรม เวชชยชัย แสดงความไม่เห็นด้วยที่จะรอจนกระบวนการแก้ไขมาตรา 272 สิ้นสุดจึงจะเปลี่ยนมือให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ โดยมีเหตุผลสรุปได้ดังนี้ 

1) ไม่ใช่การตกลงร่วมของ 8 พรรค

2) ไม่ใช่วาระที่จะดำเนินการตอนนี้ วาระหลักคือการจัดตั้งรัฐบาลให้ได้แล้วแก้รัฐธรรมนูญทั้งระบบ โดย สสร. 

3) เป็นการดำเนินการในทาง ‘สัญลักษณ์’ เท่านั้น เพราะโอกาสยากมากที่จะได้เสียงจาก ส.ว. เนื่องด้วยในวาระ 1 ในขั้นรับหลักการ รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องมี ส.ว. ลงมติเห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของวุฒิสภาหรือต้องได้เสียงจาก ส.ว.มากกว่า 83 เสียง

4) ที่ผ่านมาเคยเสนอหลายครั้งแล้วแต่ก็ไม่เคยผ่าน

5) กระบวนการนี้อาจใช้เวลานาน ทำให้การโหวตนายกฯ ซึ่งเป็นวาระเร่งด่วนสะดุด

ขณะที่ก้าวไกลมองว่านี่จะเป็นโอกาสให้พรรคภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ รวมถึงส.ว.บางส่วนที่เคยโหวตปิดสวิตช์ตัวเองได้ยืนยันจุดยืนของตนอีกครั้ง แต่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า การปิดสวิตช์ ส.ว. จะยิ่งทำให้โอกาสในการได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ในการโหวตนายกฯ ยิ่งเป็นไปได้ยากขึ้น 

ด้านเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ จากฝั่งเพื่อไทยยืนยันหนักแน่นว่า หากจะมีการเสนอชื่อตนชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะต้องมีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาลด้วยเท่านั้น

หลังจากแสดงความเห็นแย้งกันตลอด 2-3 วันผ่านสื่อ ล่าสุด 17 ก.ค. การประชุม 8 พรรคได้ข้อสรุปชัดเจนมากขึ้นว่า

  1. ทั้ง 8 พรรค มีมติส่ง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ครั้งที่ 2
  2. หารือเรื่องการยื่นม. 272 เป็นการดำเนินงานของพรรคก้าวไกลเอง ไม่เกี่ยวกับ 7 พรรคที่เหลือ

ส.ว. ใช้ข้อบังคับข้อ 41 ไม่ให้เสนอชื่อซ้ำ 

ในวันที่ 19 ก.ค. คือการที่ ส.ว.จำนวนหนึ่งจะยกประเด็นเรื่องข้อบังคับการประชุม ข้อ 41 ห้ามเสนอญัตติซ้ำที่ถูกตีตกไปแล้วกลับมาพิจาราณราอีกครั้งหนึ่งในสมัยประชุมเดียวกัน 

กรณีนี้มีมีความเห็นแตกต่าง ฝั่งหนึ่งเห็นว่า นี่ไม่ใช่ญัตติทั่วไปตามที่ข้อบังคับกำหนด แต่เป็นเรื่องของการโหวตนายกฯ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด อีกฝั่งหนึ่งเห็นว่า ไม่ว่าโหวตนายกฯ หรือเรื่องใดๆ ก็คือ ‘ญัตติ’ ตามที่ข้อบังคับกำหนดนั่นเอง

“ข้อบังคับ 41 ของการประชุมรัฐสภา ที่มีข่าวว่า ส.ว.จะจุดประเด็นนี้ ทั้ง 8 พรรคหารือทางกฎหมายกันว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ไม่เกี่ยวกับข้อบังคับหรือเป็นญัตติ…พรุ่งนี้ (18 ก.ค.) จะมีประชุมวิปอีกทีหนึ่ง ถ้ามีโอกาสประชุมวิปน่าจะเห็นตรงกันว่าญัตติก็คือญัตติตามข้อบังคับ แต่การเสนอชื่อนายกฯ เป็นคนละหมวดกัน เป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องรอฟังวิปว่าเหตุและผลของอีกฝั่งเป็นอย่างไร เพราะได้เห็นแต่พาดหัวข่าว ไม่เห็นรายละเอียดว่าด้วยเหตุผลอะไรที่เห็นเรื่องนี้เป็นญัตติได้ ทั้งที่มันคนละเรื่องกัน” พิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกลระบุ

ถามว่าข้อขัดแย้งเรื่องนี้ทางออกจะเป็นอย่างไร มีความเห็นแตกต่างออกไปอีกหลายทาง และยังไม่แน่ชัดว่าในสถานการณ์จริงจะดำเนินไปในทางไหน คือ 

1.เป็นอำนาจวินิจฉัยของประธานสภา

2.ประธานสภาไม่มีอำนาจวินิจฉัย ต้องให้สมาชิกรัฐสภาออกเสียงโหวตว่าการเสนอชื่อพิธาอีกครั้งผิดข้อบังคับข้อ 41 หรือไม่  ซึ่งหากผลออกทางที่ต้องโหวต นั่นเท่ากับเป็นการปิดประตูการเสนอชื่อพิธาทันทีเพราะ 188 ส.ส.บวกกับ 250 ส.ว.เสียงจะเกินกึ่งหนึ่งทันที

3.หากไม่สามารถตกลงร่วมกันได้ มีบางสายที่วิเคราะห์ว่า อาจนำไปสู่การยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความก็เป็นได้ ซึ่งจะทำให้เวลาของการโหวตนายกฯ ยืดเยื้อออกไปอีก

ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 41 

ญัตติใดตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ยังมิได้มีการลงมติหรือญัตติที่ประธานรัฐสภาจะอนุญาต ในเมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป 

ศาลรัฐธรรมนูญรับคดีหุ้นของพิธา-สั่งยุติปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งเงื่อนไขที่ต้องจับตาในวันที่ 19 ก.ค. คือ ในช่วงเช้าศาลรัฐธรรมนูญเตรียมประชุมเพื่อพิจารณาคำร้องปมการถือหุ้น ITV ของพิธา ที่ กกต. ยื่นไปเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยมีการคาดการณ์ว่า ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะมีคำสั่งให้พิธายุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ไปจนกว่าจะมีวินิจฉัยเป็นที่สุด

ทั้งนี้  คาดการณ์ได้ไม่ยากว่าหากศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณา เหล่า ส.ว.ก็เตรียมหยิบยกมาเป็นประเด็นสำคัญในการไม่สนับสนุนพิธา จากเดิมที่ใช้เพียงประเด็นเรื่องการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 อีกทั้ง ส.ว.บางคนยังขู่สำทับด้วยว่า หากใครโหวตให้แคนดิเดตนายกฯ ที่รู้อยู่แล้วว่ามีปัญหาลักษณะต้องห้าม จะต้องมีความผิดไปด้วย โดนร้องเรียนแน่นอน

รัฐธรรมนูญ มาตรา 159

ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

การเสนอชื่อตามวรรคหนึ่งต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

อย่าประมาทเสียงข้างน้อยชิงเก้าอี้นายกฯ 

อีกหนึ่งประเด็นที่ต้องจับตาอย่างมาก คือ การชิงเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากกลุ่มพรรคเสียงข้างน้อย โดยเรื่องนี้มีข่าวหนาหูว่าเริ่มมีการพูดคุยกันเป็นเรื่องเป็นราวทันทีหลังการโหวตนายกฯ ครั้งแรก แม้ว่าก่อนหน้านี้หลายฝ่ายในพรรคเสียงข้างน้อยจะปฏิเสธอย่างแข็งขันก็ตาม

ภูมิธรรมเองก็ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า หลังจากการโหวตรอบแรกไม่ผ่าน มีกระแสข่าวว่า ขั้วอำนาจเก่าได้ประสานงานกับบรรดา ส.ส. ทั้งภายในพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย รวมแล้วราว 50 คนแล้วด้วย ทั้งสองพรรคควรต้องเร่งตรวจสอบสภาพ ‘งูเห่า’ หรือ ‘ป่ากล้วย’ ที่อาจกำลังจะเกิดขึ้น 

ประกอบกับมีข่าวการนัดทานข้าวของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับเพื่อนเตรียมทหารรุ่น 6 ซึ่งหลายคนมีบทบาทในฐานะ ส.ว. สำทับอีกเรื่องหนึ่ง 

นี่จึงถือเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่น่าจับตาว่า จะมีการชิงเสนอชื่อแข่งหรือไม่ และมันเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่พรรค 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลต้องหาแนวทางป้องกันร่วมกันเพื่อไม่ให้สถานการณ์เดินไปถึงจุดนั้น เพราะ 188 เสียงของพรรคร่วมเสียงข้างน้อย เมื่อบวกกับ 250 ส.ว. ย่อมคว้าตำแหน่งนายกฯ ได้แน่นอน  

ฉากต่อไปยังต้องลุ้น หากโหวตรอบ 2 ‘พิธา’ ไม่ผ่าน

หากในวันที่ 19 ก.ค. รัฐสภาดำเนินการพิจารณาชื่อพิธาโดยไม่อุปสรรค และไม่มีคู่แข่ง แต่ก็ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาเกินกึ่งหนึ่งอีกครั้ง ฉากต่อไปของการเมืองไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป ?

ประเด็นนี้ยังไม่มีความชัดเจน แต่พอมองเห็นข้อเสนอจากพรรคก้าวไกลที่เผยแพร่ต่อสาธารณชน ตีความได้ว่า หากผลการโหวตครั้งที่ 2 ไม่มีตัวเลขที่เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ สนามถัดไปคือการแก้ไข มาตรา 272 แห่งรัฐธรรมนูญเพื่อปิดสวิตซ์ ส.ว. หากที่สุดแล้วยังพ่ายแพ้ในสองสมรภูมินี้ จะเปิดทางให้มีการเสนอแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทยแทน โดยยังอยู่ภายใต้กรอบ MOU ของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล

“หากเราพบว่าไม่ว่าจะจะพยายามสักเพียงไร ก็ไม่มีโอกาสที่ทั้ง 2 ภารกิจข้างต้นจะสำเร็จลุล่วงไปได้ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม เราก็พร้อมที่จะเสียสละ ถอยออกจากการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เพื่อให้พรรคในลำดับต่อมา ได้เข้าเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลแทน โดยเราพร้อมที่จะร่วมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อให้ 8 พรรคร่วมมีความแน่นแฟ้นกลมเกลียวและสามารถจัดตั้งรัฐบาลผสม 8 พรรค” วิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกลระบุ 

คำถามที่ยังไม่มีคำตอบคือ ค่ากลางของการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของจำนวนเสียง ส.ว. สนับสนุนพิธาอยู่ที่จำนวนเท่าใด ก้าวไกล-เพื่อไทยจะเห็นตรงกันหรือไม่ และหากต้องรอให้การแก้ไข มาตรา 272 ไปสุดทางอาจต้องขยายเวลาในการโหวตนายกฯ ออกไปอีกใช่หรือไม่ แต่ในเบื้องต้นหลังการประชุมร่วม 8 พรรคในวันที่ 17 ก.ค. ดูเหมือนจะชัดเจนแล้วว่า การแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เป็นกระบวนการคู่ขนานไป โดยไม่ต้องรอให้เสร็จสิ้น 

ท้ายที่สุด หากการโหวตรอบที่ 2 ขั้วอำนาจเก่ายังคงสกัดกั้น ‘พิธา’ สำเร็จ จนกระทั่งหารือร่วมกันแล้วมีการเสนอแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าเศรษฐา หรือ แพทองธาร  คำถามคือ  ส.ว. จะโหวตสนับสนุนหรือไม่ หากสมการที่เพื่อไทยนำนั้นยังคงมีพรรคก้าวไกลเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เพราะ ส.ว.ฮาร์ดคอร์หลายคนพยายามสร้างกระแสบีบคั้นถึงขึ้นว่าเหล่า ส.ว.จะไม่โหวตให้ใครทั้งนั้นหากก้าวไกลร่วมรัฐบาล

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่