ซีริล รามาโฟซา ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ กล่าวว่าความพยายามใดๆ ก็ตามที่จะจับกุม วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เมื่อปูตินได้เดินทางมาถึงประเทศ ตามกำหนดการเยือนประเทศแอฟริกาใต้ในเดือนหน้า จะนับเป็นการประกาศสงครามของแอฟริกาใต้ต่อรัสเซีย แม้ว่าแอฟริกาใต้จะมีพันธตามธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ในการจับกุมตัวปูตินก็ตาม
รามาโฟซากล่าวในเอกสารของศาลที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (18 ก.ค.) ว่า “รัสเซียแสดงจุดยืนชัดเจนว่าการจับกุมประธานาธิบดีที่ดำรงตำแหน่งอยู่จะเป็นการประกาศสงคราม” ทั้งนี้ ปูตินได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอด BRICS ที่เมืองโจฮันเนสเบิร์กของแอฟริกาใต้ในเดือนหน้า แต่ปูตินเองมีหมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่แอฟริกาใต้ในฐานะสมาชิกศาลอาญาระหว่างประเทศ จำต้องนำไปบังคับใช้หากเป็นสมาชิก
ภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางการทูตของแอฟริกาใต้กำลังเกิดขึ้นบนชั้นศาลของประเทศ หลังจากพรรคนำฝ่ายค้านของประเทศอย่างพรรคพันธมิตรประชาธิปไตย (DA) กำลังพยายามบีบบังคับให้รัฐบาลปฏิบัติตามข้อบังคับของศาลอาญาระหว่างประเทศที่แอฟริใต้เป็นสมาชิก และรับประกันว่าประธานาธิบดีรัสเซียจะถูกควบคุมตัว และส่งตัวให้กับศาลอาญาระหว่างประเทศ หากปูตินเหยียบเท้าลงบนแผ่นดินแอฟริกาใต้
ในการตอบกลับต่อคำร้องดังกล่าว รามาโฟซากล่าวถึงคำร้องของพรรค DA ว่า “ขาดความรับผิดชอบ” และกล่าวว่าคำร้องดังกล่าวจะทำให้ความมั่นคงของชาติตกอยู่ในความเสี่ยง โดยจากคำกล่าวของรามาโฟซานั้น แอฟริกาใต้กำลังขอการยกเว้นภายใต้กฎของศาลอาญาระหว่างประเทศ เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่าการออกกฎหมายจับกุมอาจคุกคาม “ความมั่นคง ความสงบสุข และความสงบเรียบร้อยของรัฐ”
รามาโฟซายังระบุอีกว่า การจับกุมตัวปูตินตามพันธะของแอฟริกาใต้ภายใต้ศาลอาญาระหว่างประเทศ “จะไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญของเรา ที่จะเสี่ยงต่อการทำสงครามกับรัสเซีย” พร้อมกล่าวเสริมว่ากรณีดังกล่าวจะขัดต่อหน้าที่ของเขาในการปกป้องประเทศ และการจับกุมตัวประธานาธิบดีรัสเซียยังบ่อนทำลายภารกิจที่นำโดยแอฟริกาใต้ ในการยุติสงครามในยูเครน และ การ “ยึดตามแนวทางสันติวิธีใดๆ” ของประเทศ
ทั้งนี้ ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศระบุว่า ประเทศสมาชิกควรปรึกษาศาลเมื่อพบปัญหาที่อาจขัดขวางการดำเนินการตามคำร้องขอ และศาลอาจไม่ดำเนินการร้องขอให้จับกุม หากการดำเนินการนี้จะทำให้รัฐต้องฝ่าฝืนกฎระหว่างประเทศเกี่ยวกับความคุ้มกันทางการทูต
ปัจจุบันนี้ แอฟริกาใต้เป็นประธานของกลุ่ม BRICS ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ซึ่งรวมถึงบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน โดยทางกลุ่มมองว่า พวกเขาเป็นตัวถ่วงดุลอำนาจทางเศรษฐกิจต่อชาติตะวันตก
ในขณะนี้ มีการร้องขอให้มีการจับกุมตัวปูตินตามหมายจับโดยศาลอาญาระหว่างประเทศ เนื่องจากศาลอาญาระหว่างประเทศกล่าวหาว่า รัสเซียทำการเนรเทศเด็กยูเครนโดยมิชอบด้วยกฎหมายไปยังรัสเซีย ซึ่งเป็นความผิดฐานอาชญากรรมสงคราม
พอล มาชาทิเล รองประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นเมื่อเร็วๆ นี้ว่า รัฐบาลแอฟริกาใต้พยายามเกลี้ยกล่อมไม่ให้ปูตินเดินทางมาเยือนแอฟริกาใต้ตามกำหนดการในเดือนหน้า แต่จนถึงตอนนี้ ความพยามยามดังกล่าวยังคงไม่ประสบผลสำเร็จ
ทั้งนี้ คำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรของรามาโฟซา ซึ่งลงนามในเดือน มิ.ย. และระบุในตอนแรกว่า “เป็นความลับ” ถูกเผยแพร่เมื่อวันอังคาร หลังจากศาลตัดสินให้มีการเผยแพร่คำให้การดังกล่าวต่อสาธารณะ
จอห์น สตีนฮุยเซน หัวหน้าพรรค DA กล่าวยกย่องคำตัดสินของศาล โดยอธิบายข้อโต้แย้งของรามาโฟซาที่ว่าแอฟริกาใต้เสี่ยงต่อการประกาศสงครามต่อรัสเซียนั้น “ไร้สาระ” และ “บอบบาง” พร้อมระบุว่า “เมื่อการตัดสินใจเชิงนโยบายต่างประเทศมีความสามารถ ในการทำลายชื่อเสียงระดับนานาชาติของแอฟริกาใต้… และทำให้เศรษฐกิจของเราพังทลาย มันจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องรักษาพันธกรณีในการเปิดเผยและโปร่งใส”
แอฟริกาใต้มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่แข็งแกร่งกับสหรัฐฯ และยุโรป โดยการค้าของแอฟริกาใต้กับรัสเซียมีขนาดเล็กกว่ามาก อย่างไรก็ดี รัฐบาลแอฟริกาใต้มีความสัมพันธ์กับรัฐบาลรัสเซียย้อนหลังไปหลายทศวรรษ เมื่อครั้งที่สำนักประธานาธิบดีรัสเซียสนับสนุนพรรคคองเกรสแห่งชาติแอฟริกันที่เป็นฝ่ายรัฐบาล ในการต่อสู้กับการแบ่งแยกสีผิวของแอฟริกาใต้
เมื่อเดือนที่แล้ว รามาโฟซาได้นำคณะผู้แทนสันติภาพแอฟริกา 7 ประเทศ รวมทั้งผู้แทนจากอียิปต์ เซเนกัล และแซมเบีย ไปเจรจาที่กรุงเคียฟของยูเครน และนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กของรัสเซีย
ทั้งนี้ รามาโฟซาให้ความเห็นเกี่ยวกับคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรต่อศาล ในระหว่างการเฉลิมฉลองวันเนลสัน แมนเดลา ในเมืองคูนูบ้านเกิดของอดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้คนสำคัญผู้ล่วงลับ โดยรามาโฟซากล่าวถึงกรณีนี้ว่าเกี่ยวข้องกับ “ประเด็นทางการทูตที่ซับซ้อน”
ที่มา: