‘สันติ-ธรรมนัส’ เผยผลการหารือ ย้ำไม่ร่วมงาน และไม่สนับสนุนพรรคที่แตะต้อง ม.112 ปฏิเสธร่วมงาน ‘ก้าวไกล’ แทงกั๊กหนุน ‘เศรษฐา’ หรือไม่ ชี้ไม่มีเสนอชื่อ ‘ประวิตร’ หากรวมเสียงข้างมากไม่ได้
วันที่ 23 ก.ค. ที่พรรคพลังประชารัฐ สันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ในฐานะประธานประสานงาน สส. พรรคพลังประชารัฐ และ ไผ่ ลิกค์ สส. กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ แถลงข่าวภายหลังเข้าหารือกับแกนนำพรรคเพื่อไทยถึงประเด็นการขอเสียงโหวตนายกรัฐมนตรี และการจัดตั้งรัฐบาลตามมติ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นการแยกแถลงข่าวหลังกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ทะลุวัง เดินทางมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่พรรคเพื่อไทย
โดย สันติ กล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐ ได้รับเกียรติจากพรรคเพื่อไทยเชิญไปพูดคุยเพื่อแก้วิกฤตของการจัดตั้งรัฐบาล และการบริหารบ้านเมือง เนื่องจากหลังการเลือกตั้งเป็นเวลา 2 เดือนกว่ามีอุปสรรคในการตั้งรัฐบาล บริหารชาติบ้านเมือง หากช้าก็จะกิดปัญหา การพูดคุยในวันนี้ได้รับความรู้สึกที่ดี พูดคุยอย่างตรงไปตรงมา พรรคพลังประชารัฐยืนยันว่า พรรคเรายึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแน่วแน่เพื่อให้ชาติมีความมั่นคง ประชาชนผาสุก
ทั้งนี้ พรรคพลังประชารัฐแจ้งกับพรรคเพื่อไทยว่า สามารถทำงานร่วมกันได้ แต่ต้องเป็นพรรคที่ไม่แตะต้องหรือมีแนวคิดแก้ไขกฎหมาย ม.112 หากพรรคใดมีแนวคิดดังกล่าว เราไม่สามารถที่จะร่วมทำงานหรือบริหารบ้านเมืองด้วยได้ เป็นหลักการสำคัญที่จะปฏิเสธการทำงานร่วมกับพรรคก้าวไกล เพราะพรรคพลังประชารัฐตระหนักว่า เราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เราจึงมีหน้าที่เคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ การแก้ไขกฎหมาย ม. 112 เป็นเรื่องที่พรรคพลังประชารัฐรับไม่ได้
“ผมเป็นประธานกรรมาธิการงบประมาณมา 4 ปี รู้ว่าพรรคนั้นมีแนวคิดอย่างไร เรามีความคิดแน่วแน่ว่าไม่สามารถทำงานร่วมด้วยได้”
สันติ ย้ำอีกว่า การหารือวันนี้ไม่ได้พูดคุยเรื่องการร่วมรัฐบาล แต่เป็นเพียงการแสดงเจตจำนงว่า มีความเห็นอย่างไรในการจัดตั้งรัฐบาล หลังจากนั้นจะมีการคุยในขั้นตอนต่อไป
ด้าน ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า การหารือกับพรรคเพื่อไทยเป็นไปเพื่อหาทางออกแก้วิกฤต ไม่ได้หารือในการจัดตั้งรัฐบาล ไม่มีประเด็นการเชิญจัดตั้งรัฐบาล พรรคเรามีนโยบาย มีแนวทางไม่เหมือนบางพรรค การทำงานด้วยในรัฐบาลเดียวกันถือเป็นปัญหา คณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐมีจุดยืนชัดเจน ว่าหากจะต้องร่วมรัฐบาลกับพรรคที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองต่างกันก็ขอไม่ร่วมดีกว่า
เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยได้ขอให้สนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทยหรือหากเสนอชื่อ เศรษฐา ทวีสิน พรรคพลังประชารัฐพร้อมสนับสนุนหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส ระบุว่า พรรคเพื่อไทยพูดชัดเจนว่าเชิญเข้าไปหารือ หาทางออกให้กับวิกฤตบ้านเมือง
เมื่อถามต่อว่า ได้เสนอทางออกให้พรรคเพื่อไทยหรือไม่ สันติ กล่าวว่าเราแจ้งแนวทางของเราไปแล้ว พรรคใดที่มีแนวคิดว่าจะแก้กฎหมาย ม.112 เราคงร่วมทำงานด้วยไม่ได้ ขณะนี้พรรคเพื่อไทยได้รับฉันทานุมัติเป็นผู้ดำเนินการจัดตั้งรัฐบาล เป็นหน้าที่ต้องมาพูดคุยกับแต่ละพรรค ท้ายที่สุดก็ต้องคุยกับ สว. เพื่อรับรู้ความเห็น ดำเนินการแก้ปัญหาให้บ้านเมือง ทั้งนี้เป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองทุกพรรคที่หลังการเลือกตั้งต้องช่วยกันเร่งรัดจัดตั้งรัฐบาลให้ได้
ส่วนวันที่ 27 ก.ค.นี้ จะเลือกนายกฯ จบในวันนั้นเลยหรือไม่ สันติ กล่าวว่าพรรคเพื่อไทยมีความตั้งใจจะรีบให้มีรัฐบาล จึงรีบเชิญพรรคฝั่ง 188 เสียงไปฟังแนวคิด ส่วนกรณีที่หากไม่มีพรรคก้าวไกล พรรคพลังประชารัฐพร้อมสนับสนุนพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า หลักการของพรรคพลังประชารัฐมีจุดยืนชัดเจนคือ “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” หากร่วมรัฐบาลกับใครแล้วเกิดความแตกแยกในสังคมก็ขอไม่ร่วม
เมื่อถามว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เห็นด้วยหรือไม่ที่พรรคพลังประชารัฐไปคุยกับพรรคเพื่อไทย ร.อ.ธรรมนัส ระบุว่า เราประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค มีจุดยืนว่าจะก้าวข้ามความขัดแย้งบนพื้นฐานอะไรบ้าง ส่วนกระแสหากวันที่ 27 ก.ค.นี้ หากการโหวตเลือกนายกฯ ไม่ลงตัว จะเสนอชื่อพล.อ.ประวิตร หรือไม่
ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาลต้องมีสมาชิกสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่ง หากเสียงไม่พอไม่ควรทำเช่นนั้น เพราะจะเกิดคำวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม พรรคพลังประชารัฐมีมติชัดเจนว่าจะไม่เสนอพลเอกประวิตร หากเสียงสนับสนุนต่ำกว่า 250 เสียง ซึ่งเป็นนโยบายของ พล.อ.ประวิตร ด้วย
สำหรับแนวทางที่พลเอกประวิตร จะลาออกเพื่อเปิดทาง “ไม่มีลุง” เป็นเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น พล.อ.ประวิตร ยังดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค เป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง การรับตำแหน่งใดๆ ในอนาคตเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จะทำอะไรต้องนึกถึงภูมิประวัติที่ท่านได้สร้างมาด้วย
ร.อ.ธรรมนัส ยังเปิดเผยสเปคนายกฯ คนที่ 30 โดยระบุว่า เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องพาบ้านเมืองก้าวข้ามความขัดแย้ง ทุกวันนี้เรายังถกเถียงกันเป็นเรื่องที่ไม่เกิดประโยชน์แก่ประชาชนที่เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า นายกฯ คนต่อไปจะต้องเป็นบุคคลที่มีความพร้อมทุกอย่างทั้งการแก้ปัญหาความแตกแยกในสังคม และนำพาเศรษฐกิจให้รอด