หลายวันก่อนหน้านั้น ชัยธวัชไม่ได้ทำหน้าที่แค่เป็นเลขาธิการพรรคก้าวไกล เขาเป็นทั้งตัวประสานกับพรรคต่าง ๆ เป็นเหมือนโฆษกของพรรค ที่ต้องอธิบายความเคลื่อนไหวให้สื่อเข้าใจ และเป็นคนออกหน้ากับทุกเรื่อง เหมือนแบกรับเต็มที่ในฐานะ “พ่อบ้าน”
ชัยธวัช หรือ ต๋อม อายุ 44 ปี เป็นชาวสงขลา โดยกำเนิด เกิดเมื่อ 15 ต.ค.2521 หลังจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จ.สงขลา จึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ
เข้าเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท ก่อนจะเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม
เริ่มทำกิจกรรมตั้งแต่เข้าเรียนที่เตรียมอุดมฯ และเป็นเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ในปี 2541-2542 หลังจบการศึกษาเข้าทำงานฝ่ายวิชาการ สถาบันพัฒนาการเมือง (2543-2545) ก่อตั้งสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน และเป็นบรรณาธิการ ระหว่างปี 2545-2561
เป็นกรรมการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (2548 – 2549) ปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชีย Asian Public Intellectuals Fellowship Program, The Nippon Foundation และสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2549-2550)
ผู้ประสานงาน ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค.2553 (ศปช.) (2553-2555) ปี 2557-2561 เป็นที่ปรึกษา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (2557-2561)
เข้าสู่การเมืองเต็มตัว เมื่อปี 2561 เป็นรองเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ก่อนจะเป็นเลขาธิการพรรคก้าวไกลตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน
ที่ผ่านมา ธวัชชัยอาจดูเหมือนนักการเมืองหน้าใหม่ ที่ไม่ได้มีบทบาทมากนักกับพรรคที่มีหัวหน้าพรรคมีชื่อเสียง อย่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
แต่เมื่อถึงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวาน ต้องประสานสิบทิศ ทั้งตอบคำถามสื่อ เพื่อ “จัดตั้งรัฐบาล” หรือการลุกขึ้นแสดงความเห็น หรือโต้แย้งในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชัยธวัชกลับตอบคำถามด้วยความสุขุมลุ่มลึกอย่างยิ่ง เหมือนฟังคนอ่านเกมบนกระดานหมากรุก
แม้แต่ในห้วงยามที่อยู่ท่ามกลางเสือสิงห์รุ่นใหญ่ของวงการเมือง ที่แสดงออกว่าต้องการผลัก “ก้าวไกล” ออกไปให้พ้นจากการจัดตั้งรัฐบาล หน้าของชัยธวัชก็ไม่เคยถอดสี หรือพรั่นพรึง แต่กลับยิ่งนิ่งสงบอย่างยากจะตีความ
ถ้าผ่านช่วงเวลาอันสับสนอลหม่านนี้ไปได้ เขาจะเป็น “เลขาธิการพรรคการเมือง” อีกคน ที่น่าจับตามอง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
“วราวุธ” นำทีม ชทพ.ถกเพื่อไทยวันนี้ ระบุไม่ยุ่งพรรคที่แก้ ม.112