หน้าแรก Voice TV วรเจตน์ ภาคีรัตน์ : ข้อบังคับ 41 ไม่เกี่ยวโหวตนายกฯ แต่ผู้มีสิทธิร้องผู้ตรวจการฯ คือ ‘พิธา’

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ : ข้อบังคับ 41 ไม่เกี่ยวโหวตนายกฯ แต่ผู้มีสิทธิร้องผู้ตรวจการฯ คือ ‘พิธา’

43
0
วรเจตน์-ภาคีรัตน์-:-ข้อบังคับ-41-ไม่เกี่ยวโหวตนายกฯ-แต่ผู้มีสิทธิร้องผู้ตรวจการฯ-คือ-‘พิธา’

ความเห็นศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่ามกลางหลากความเห็นกูรูกฎหมาย ในประเด็นที่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญ จะรับคำร้องผู้ตรวจการฯ ที่ส่งหรือไม่ กรณีรัฐสภามีมติเมื่อวันที่ 19 ก.ค. อ้างข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 ว่า การเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ชื่อ พิธา เป็นญัตติซ้ำที่กระทำไม่ได้

ประเด็นล่าสุดของกระบวนการโหวตนายกฯ คือ การที่ ส.ว.ยกข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่ 41 ขึ้นมาว่า การโหวตนายกฯ เป็น ‘ญัตติ’ จึงเข้าข่ายข้อ 41 ที่ระบุว่า ‘ญัตติที่มีหลักการเดียวกันจะเสนอซ้ำไม่ได้’ จึงโหวตพิธาซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ไม่ได้ และท้ายที่สุดจบด้วยการโหวตของสมาชิกรัฐสภา และฝ่าย ส.ว.ผู้ตั้งประเด็นชนะโหวตในที่สุด และต่อมามีผู้ไปร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ตรวจการฯ จึงส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อชี้ว่า มติรัฐสภาดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

เรื่องนี้จึงมีเรื่องต้องถกเถียง 2 ระดับ คือ

1. การโหวตนายกฯ ถือเป็น ‘ญัตติ’ หรือไม่และเข้าเงื่อนไขของข้อบังคับ 41 หรือไม่ ?

2. ศาลรัฐธรรมนูญจะรับเรื่องหรือไม่ หลังจากที่บุคคลทั่วไป หรือ ส.ส.ก้าวไกลจำนวนหนึ่ง ร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน แล้วผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ?

ในเบื้องต้นนักกฎหมายชื่อดังอย่าง ‘บวรศักดิ์ อุวรรณโณ’ อดีตผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ตกไปในเวอร์ชั่นแรก ระบุว่า กระบวนการของผู้ตรวจการนั้นชอบแล้ว ศาลรับพิจารณาได้เพราะรัฐสภาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญเช่นกัน ส่วน ‘จรัญ ภักดีธนากุล’ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า เรื่องนี้ยื่นได้แต่ศาลย่อมไม่อาจรับได้ เพราะไม่อาจก้าวก่ายรัฐสภาซึ่งเป็นอีกหนึ่งอำนาจอธิปไตย

‘วอยซ์’ โดยอธึกกิต แสวงสุข (ใบตองแห้ง) พูดคุยกับ ศ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการตีความเรื่องดังกล่าว

หากสรุปอย่างหยาบที่สุดและสั้นที่สุดจาการให้สัมภาษณ์กว่าชั่วโมง ก็คือ (รายละเอียดเต็มๆ อยู่ถัดไป)

  • 1. ข้อบังคับ 41 ไม่เกี่ยวข้องกับการโหวตนายกฯ เพราะเป็นการเสนอชื่อบุคคล ไม่ใช่ ‘ญัตติซึ่งมีหลักการเดียวกัน’ ตามที่ข้อบังคับ 41 กำหนดไว้ว่าห้ามเสนอซ้ำ ข้อบังคับนี้ใช้กับเรื่องต่างๆ เช่น เสนอญัตติของอนุมัติให้เลือกบุคคลนอกบัญชีแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งเป็นเรื่องหลักการ ไม่ใช่การเสนอบุคคล

“ปัญหาอยู่ที่ตัวบทข้อ 41 เองว่าอยู่ในความหมายของ “ญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกัน” หรือเปล่า ซึ่งผมเห็นว่ามันไม่อยู่ในความหมายของ ‘ญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกัน’ ข้อ 41 มุ่งหมายถึง ‘เรื่อง’ ที่มีการเสนอ แต่กรณีคุณพิธา เป็นการเสนอตัวบุคคลให้มีการโหวต การเสนอตัวบุคคลมันจะมีหลักการได้ยังไง ถ้าเป็น ‘เรื่อง’ มันจะมีตัวกำหนดว่าหลักการเรื่องนั้นคืออะไร แต่นี่ไม่มีหลักการอะไรเลย เป็นเพียงการเสนอชื่อบุคคลเพื่อขอความเห็นชอบจากรัฐสภาให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ กรณีนี้จึงไม่ใช่เรื่องของข้อ 41 เลยตั้งแต่ต้น ต่อให้มองว่าเป็นญัตติก็ตาม มันก็ไม่ใช่เป็นญัตติในความหมายของข้อ 41 หรือโดยความมุ่งหมายของข้อบังคับข้อ 41 เรื่องนี้เห็นได้จากกระบวนการเลือกนายกฯ ถูกเขียนแยกเป็นหมวดๆ หนึ่งในข้อบังคับการประชุม สำหรับตัวบุคคลถ้าจะห้ามเสนอซ้ำ ต้องเขียนห้ามไว้โดยชัดแจ้ง”

  • 2. จากที่มีผู้ให้ความเห็นว่า โดยหลักการศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยก้าวก่ายมติรัฐสภาไม่ได้นั้น เป็นหลักการจริง โดยเฉพาะเมื่อข้อบังคับการประชุมเป็นวงงานของรัฐสภาที่สมาชิกต้องตัดสินใจและโหวตกันเอง ไม่ได้กระทบสิทธิบุคคลใด แต่กรณีการลงมติ ‘ห้ามโหวตซ้ำแคนดิเดตนายกฯ’ นั้นกระทบสิทธิบุคคล
  • 3.บุคคลที่ถูกกระทบสิทธิในกรณีนี้คือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เนื่องจากมติของสภา (ไม่ใช่ตัวข้อบังคับ) มีผลตัดสิทธิการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ อีกครั้ง ซึ่งเรื่องนี้มีรายละเอียดในการพิจารณาอีกหลายประเด็นว่าทำไมจึงไม่นับรวมถึง ส.ส.ก้าวไกลหรือกระทั่งประชาชนทั่วไป ที่จะรู้สึกกระทบสิทธิแล้วไปร้องผู้ตรวจการแผ่นดินได้ การตีความเช่นนี้ยังคงมีความจำเป็น หากตีความกว้างขวาง ประเด็นข้อกฎหมายจะกลายเป็นประเด็นการเมืองไปหมด และจะเกิดนักร้องเต็มแผ่นดิน
  • 4. ดังนั้น ในความเห็นของวรเจตน์ ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะไม่รับคำต้องของผู้ตรวจการฯ ในประเด็นว่า ผู้ร้องไม่ใช่ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่หากเป็นพิธาร้องเองจะมีโอกาสน้อยมากที่ศาลจะไม่รับเรื่องไว้พิจารณา โดยต้องยื่นผู้ตรวจการภายใน 90 วันหลังวันลงมติ (19 ก.ค.)
  • 5. “เวลาเราจะวิเคราะห์กฎหมายตอนนี้เราต้องเข้าใจว่ามันมีข้อจำกัดมากขึ้น เพราะว่าฝ่ายที่เขากุมอำนาจทางการเมือง และกำกับการเขียนกติการัฐธรรมนูญ เขาได้แก้กติกาบางอย่างไปแล้ว การต่อสู้ในสนามกฎหมายเลยมีข้อจำกัดมากขึ้น บางอย่างเราต่อสู้ในสนามกฎหมาย มันสู้ไม่ได้เพราะเขากุมอำนาจการเขียนกฎหมายไว้แล้ว แต่การกุมอำนาจการเขียนมันกุมไม่ได้หมด ยังมีพื้นที่ในการตีความ เถียงกันได้อยู่ แล้วตรงนี้เองหลักวิชาจะช่วยเราได้”

=================

ถาม : มติของรัฐสภาที่โหวตว่า การเสนอชื่อพิธาเป็นแคนดิเดตนายกฯ เป็น ‘ญัตติซ้ำ’ ซึ่งทำไม่ได้ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

วรเจตน์ : ข้อ 41 พูดถึงการเสนอญัตติว่า ‘ญัตติใดตกไปแล้วห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่เป็นญัตติที่ยังไม่ได้มีการลงมติ หรือญัตติที่ประธานสภาจะอนุญาตเมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป’ 

มันต้องเริ่มอย่างนี้ ประเด็นเรื่องเป็นญัตติหรือไม่เป็นญัตติ สำหรับผม ผมว่าไม่ได้เป็นประเด็นหลักเท่าไร ถ้าเราจะบอกว่าการเสนอนายกฯ เป็นญัตติ โดยอ้างอิงกับข้อ 36 ซึ่งมันบ่งชี้แบบนั้นตามที่ สว.อธิบายกันก็พอจะมองได้ แต่ประเด็นน่าจะอยู่ตรงความหมายของข้อบังคับ 41 มากกว่า  

ตอนนี้เราต้องเข้าใจว่ากระบวนการเลือกนายกฯ เป็นกระบวนการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ถึงวิธีการว่าต้องทำโดยเปิดเผยในสภา แต่เดิมไม่มีปัญหานี้ เพราะก่อนปี 2540 การเลือกนายกฯ เป็นการซาวเสียงกันหาตัวนายกฯ ไม่มีการโหวตในสภา แต่หลังจากนั้นมีประเด็นเรื่อง ว่าที่นายกฯ รับประทานแห้ว กรณี พล.อ.อ.สมบุญ ระหงส์ หลังจากนั้นมีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญกันแล้วมีการเขียนเรื่องเลือกนายกฯ ให้ทำโดยเปิดเผยในสภา ปกติจะเป็นอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร แต่คราวนี้ให้วุฒิสมาชิกมาร่วมโหวตด้วย ตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญปี 2560 

แต่กระบวนการขั้นตอนว่าทำยังไง ไม่ได้เขียนรายละเอียดไว้ในตัวรัฐธรรมนูญ ก็ต้องไปว่ากันตามข้อบังคับการประชุมว่าจะเสนอยังไง อภิปรายกันยังไง ประธานก็ดำเนินการประชุมไปตามข้อบังคับการประชุม ฉะนั้น เอาเข้าจริงมันต้องใช้ทั้ง 2 ส่วนประกอบกัน คือ ตัวรัฐธรรมนูญ และตัวข้อบังคับการประชุม 

ประเด็นมีอยู่ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมีการโหวตเลือกคุณพิธาไปแล้ว และไม่ผ่านเกณฑ์กึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ทั้งหมด แล้วก็มีการเสนอชื่อคุณพิธาซ้ำ จึงมาเถียงกันว่าทำซ้ำได้ไหม คนที่เห็นว่าทำซ้ำไม่ได้ยกข้อบังคับข้อ 41 ขึ้นมาบอกว่า อันนี้เป็นญัตติที่ตกไปแล้ว เลยกลายมาเป็นเถียงกันว่าเป็นญัตติหรือไม่เป็นญัตติ  

อย่างที่ผมบอก ถ้าเราดูข้อ 41 แล้วอ่านข้อ 41 ให้ดีๆ ปัญหานี้น่าจะแก้ได้เองจากตัวข้อ 41 

“ญัตติใดตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน” คำว่า “ญัตติที่มีหลักการเช่นเดียวกัน”  หมายความว่ายังไงในแง่ตัวบท

เวลาเราตีความข้อบังคับเราต้องดูวัตถุประสงค์ ข้อ 41 เขามุ่งหมายไม่ให้มีการเสนอเรื่องนั้นซ้ำอีก เรื่องที่เสนอมาแล้วสภามีมติไปแล้ว ก็ไม่ให้เสนอซ้ำอีกในรูปแบบอื่นๆ ไม่อย่างนั้นจะลากวนเสนอเรื่องนั้นได้ตลอดเวลา แล้วเขาก็กำหนดข้อยกเว้นเอาไว้ว่า ถ้าตกไปแล้วจะเสนอได้อีกเมื่อยังไม่ได้ลงมติ หรือประธานรัฐสภาอนุญาตภายใต้เงื่อนไขที่ว่า เหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป อันนี้ยกขึ้นมาใหม่ได้ 

ทางฝั่ง สว.บอกว่า ญัตติที่เสนอคุณพิธาตกไปแล้ว ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไป เสนอซ้ำไม่ได้ ทีนี้ปัญหามันอยู่ที่ตัวบทข้อ 41 เองว่า อันนี้อยู่ในความหมายของ “ญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกัน” หรือเปล่า ซึ่งผมเห็นว่ามันไม่อยู่ในความหมายของ ‘ญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกัน’ 

ข้อ 41 มุ่งหมายถึง ‘เรื่อง’ ที่มีการเสนอ แต่กรณีคุณพิธา เป็นการเสนอตัวบุคคลให้มีการเลือก การเสนอตัวบุคคลมันจะมีหลักการได้ยังไง ถ้าเป็น ‘เรื่อง’ มันจะมีตัวกำหนดว่าหลักการเรื่องนั้นคืออะไร แต่นี่ไม่มีหลักการอะไรเลย เป็นเพียงการเสนอชื่อบุคคลเพื่อขอความเห็นชอบจากรัฐสภาให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ กรณีนี้จึงไม่ใช่เรื่องของข้อ 41 เลยตั้งแต่ต้นความเห็นผม 

ต่อให้มองว่ามันเป็นญัตติก็ตาม มันก็ไม่ใช่เป็นญัตติในความหมายของข้อ 41 หรือโดยความมุ่งหมายของข้อบังคับข้อ 41

เรื่องนี้เห็นได้จากไหน เห็นได้จากกระบวนการเลือกนายกฯ มันถูกเขียนเป็นหมวดๆ หนึ่งในข้อบังคับการประชุม ผมจึงไม่คิดว่าเป็นข้อ 41 เลย ต่อให้คุณมองว่าเป็นญัตติหรือไม่เป็นญัตติ สำหรับผมไม่มีความหมายอะไร วันนี้สภาไปโฟกัสกันว่าเป็นญัตติหรือไม่เป็นญัติทั้งวัน สำหรับผมต่อให้คุณมองว่าเป็นญัตติในความหมายอย่างกว้างเลยก็ได้ ก็ไม่ใช่ญัตติในความหมายของข้อ 41 เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องตัวบุคคล ไม่ใช่เรื่องหลักการ มันจึงไม่ต้องห้ามในการเสนอซ้ำ  

มันแค่ว่าเรื่องนี้เป็น ‘หลักการเดียวกันไหม” อะไรคือหลักการของเรื่องนี้ หลักการก็อย่างเช่น เสนอญัตติของอนุมัติให้เลือกบุคคลนอกบัญชีแคนดิเดตนายกฯ อันนี้เป็นเรื่องหลักการ มันไม่ใช่ตัวคน แต่มันเป็นเนื้อหาของเรื่อง 

ตัวบุคคลถ้าคุณจะห้ามเสนอซ้ำ ต้องเขียนห้ามไว้โดยชัดแจ้งเลย 

ฉะนั้นตัวญัตติของรัฐสภาในวันนั้นจึงมีปัญหา ประเด็นการตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภาในทางที่มีผลในทางทำให้คุณพิธาไม่ได้รับการเสนอชื่ออีกครั้งหนึ่ง มันถูกต้องไหม สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญไหม ผมก็เห็นว่าไม่ถูก แต่เพราะเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับข้อ 41 เลย

ถาม : มีข้อถกเถียงว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะรับเรื่องจากผู้ตรวจการฯ ได้ไหม เพราะมีปัญหาว่าผู้ร้องเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงหรือไม่ และจรัญ ภักดีธนากุล บอกว่าจะให้ศาลตีความก้าวก่ายอำนาจของรัฐสภาไม่ได้ 

วรเจตน์ : เราต้องเริ่มแบบนี้ว่า ในกระบวนการทำงานของรัฐสภาจะมีฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่ายที่จะเห็นแย้งกันอภิปรายแย้งกันเป็นเรื่องปกติ ในบางกรณีก็จะเป็นการอภิปรายแย้งกันในความหมายข้อบังคับการประชุมสภาว่า ข้อบังคับข้อนั้นๆ มีความหมายอย่างไร ถ้าเถียงกันไม่เป็นที่ยุติก็ต้องใช้มติของที่ประชุมในการวินิจฉัยว่าจะให้ความหมายยังไง จะใช้ยังไง 

เป็นไปได้เสมอว่า เรื่องที่ที่ประชุมสภามีมติ อาจมีปัญหาที่คนไม่เห็นด้วยกับมติเช่นนั้น เช่น มติที่เสียงข้างมากที่ลงไปไม่ถูกต้อง เสียงข้างน้อยกรณีนี้ถูกต้องกว่า มันเกิดขึ้นได้เป็นปกติ ตลอดเวลา แต่มันเป็นเรื่องอยู่ในวงงานของตัวสภา เป็นการที่ตัวสภาใช้อำนาจของเขาตัดสินใจเอง แล้วคนอื่นไม่มาเกี่ยวหรือเข้ามาก้าวก่าย แทรกแซงการตัดสินใจตัวสภาไม่ได้ พูดง่ายๆ ว่าการตีความข้อบังคับการประชุมสภาเป็นอัตตาณัติของตัวสภาเอง

ถาม : สิ่งที่ถูกร้องว่าขัดรัฐธรรมนูญคือ ข้อบังคับ หรือมติของรัฐสภา ?

วรเจตน์ : มีคนบอกว่า อันนี้เป็นการที่ ‘ตัวข้อบังคับ’ ขัดรัฐธรรมนูญไหม หรือ ‘การใช้ข้อบังคับ’ ขัดรัฐธรรมนูญหรือเปล่า เราเอาทีละประเด็น

ถามว่าข้อบังคับข้อ 41 ขัดรัฐธรรมนูญไหม ข้อ 41 ไม่มีปัญหาขัดอะไรกับรัฐธรรมนูญเลย แต่ปัญหาก็คือ การนำข้อบังคับข้อ 41 มาใช้แล้วให้ความหมายข้อ 41 ไปในทิศทางที่ทำให้แคนดิเดตนายกฯ ได้รับการเสนอชื่อซ้ำอีกไม่ได้ 

อันนี้เป็นปัญหาขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่แม้เป็นปัญหาแบบนี้ ในเบื้องต้นอำนาจในการตีความยังอยู่ที่ตัวสภาอยู่ ฉะนั้น เรื่องที่อยู่ในอำนาจการตีความของสภา คนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องไม่ได้ การวินิจฉัยก็ยุติในองค์กรเขาเอง 

ผมยกตัวอย่างในสภายุคที่ผ่านมา มีการตีความเรื่อง ‘การนับคะแนนใหม่’ มันมีการโหวตไปแล้ว แล้วตอนหลังก็เถียงกันว่าการโหวตนั้นถูกต้องหรือไม่ ซึ่งขัอบังคับกำหนดว่า ถ้ามีปัญหาก็ให้นับคะแนนใหม่ เลยเถียงกันว่าคำนี้หมายความอย่างไร ฝ่ายรัฐบาลบอกนับคะแนนใหม่คือการออกเสียงลงคะแนนใหม่ อันเก่าไม่เอา โหวตใหม่เลย ส่วนฝ่ายค้านมีความเห็นว่านับคะแนนใหม่คือเอาคะแนนที่โหวตไปแล้วมานับใหม่ ประธานสภาตอนนั้นคือคุณชวน หลีกภัย ก็วินิจฉัยว่านับคะแนนใหม่คือการออกเสียงลงคะแนนใหม่ ซึ่งทำให้คนประท้วง วิจารณ์กันเยอะ

ผมไปอ่านข้อบังคับก็ตีความว่า คำว่า ‘นับคะแนนใหม่’ ในข้อบังคับการประชุมอันนั้นหมายความแบบที่ประธานสภาวินิจฉัยจริง คือ การออกเสียงลงคะแนนใหม่ ความจริงมีเหตุผลสนับสนุนหลายอย่างที่การนับคะแนนใหม่ ซึ่งคนทั่วไปนึกว่าเอาคะแนนเดิมมานับใหม่ มันไม่ได้หมายความแบบนั้น มันมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของตัวข้อบังคับ เขียนลอกกันมาแบบนี้ แต่เขาใช้ในความหมายของการออกเสียงลงคะแนนใหม่ ของเก่าไม่นับ เขาใช้ในความหมายนั้นจริงๆ

สมมติไปอีกว่า วันนั้นประธานวินิจฉัยผิด ถามว่า กรณีแบบนี้ฝ่ายไม่เห็นด้วยสามารถเอาคดีไปฟ้องที่ไหนได้ไหม คำตอบคือ ไม่ได้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องการตีความในวงงานของสภา มันยุติในสภา ศาลเข้ามายุ่งไม่ได้ ฉะนั้นที่บอกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของรัฐสภาเอง มันยุติในสภา ในหลักการนั้นถูกต้อง แต่ไม่ได้หมายความว่าเคสคุณพิธามันถูกด้วย

ผมอธิบายก่อนว่าหลักเป็นแบบนั้นจริงที่ศาลจะมาก้าวก่ายงานรัฐสภาไม่ได้ เว้นแต่รัฐธรรมนูญให้สิทธิฝ่ายข้างน้อยเอาไว้ในการเสนอเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ เช่น กระบวนการตรากฎหมาย เวลาตรา พ.ร.บ. ฝ่ายเสียงข้างน้อยแพ้โหวตในสภา ถ้าเห็นว่า พ.ร.บ.ที่ผ่านการลงมติของสภาขัดรัฐธรรมนูญ เขาสามารถเข้าชื่อกันส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ถามว่าทำไมเขาถึงทำได้แล้วไม่ถือว่า ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาก้าวก่ายงานของสภา คำตอบคือ เพราะกรณีนี้รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองเอาไว้ เป็นการบัญญัติสิทธิฝ่ายข้างน้อย เรื่องนี้เป็นเรื่องกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญและจะต้องมีคนเริ่มเรื่อง คือ ส.ส.หรือ ส.ว. แต่ประชาชนทั่วไปฟ้องไม่ได้ มันทำได้ตามที่กำหนด 

ทีนี้เคสข้อบังคับการประชุม ปกติจะไม่มีการกำหนดสิทธิขอเสียงข้างน้อยไว้ จะให้เป็นไปตามที่ฝ่ายข้างมากวินิจฉัย แล้วก็จบตามนั้น

ฉะนั้น กรณีของพิธา มีคนร้องว่าการกระทำของรัฐสภามีปัญหา ด้านหนึ่งคนที่ไปร้อง เวลาจะฟ้องมันมีช่องทางไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ต้องหาช่องให้ได้ว่าเกี่ยวพันยังไง คนบอกว่าเกี่ยวสิ เพราะเขามีความเห็นว่าการตีความของฝ่ายข้างมากในวันนั้นที่ตีความว่าเรื่องนี้เป็นญัตติแล้วก็เสนอซ้ำไม่ได้มันขัดรัฐธรรมนูญ ดังความเห็นของแถลงการณ์ของ 115 อาจารย์นิติศาสตร์ ฯลฯ คำถามก็คือ คุณที่ไปร้องเกี่ยวพันอะไรกับเรื่องนี้ ซึ่งต้องดูระบบกฎหมายของเรา

ระบบของเรา ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ให้สิทธิบุคคลในการร้องหรือฟ้องคดีไปศาลรัฐธรรมนูญได้ ถ้าเป็นกรณีที่เขาถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองโดยการกระทำของรัฐ หน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานที่ใช้อำนาจรัฐ เพียงแต่ขั้นตอนการร้องต้องไปร้องผู้ตรวจการฯ ก่อน ถ้าผู้ตรวจการฯ ไม่ส่ง เขาจึงสามารถร้องตรงได้ และไม่ใช่ทุกเรื่องที่จะร้องได้ มันจะมี พ.ร.ป.จำกัด เรื่องที่เขาจะร้องไม่ได้ เช่น การกระทำบางอย่างที่เป็นเรื่องทางการเมือง เขาจะร้องไม่ได้ หรือร้องว่าศาลพิพากษาคดีขัดรัฐธรรมนูญร้องไม่ได้ เพราะเขาจะตัดไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญไปตรวจสอบการใช้อำนาจตุลาการ

ทีนี้เรื่องนี้มติของสภาขัดรัฐธรรมนูญ ผมเห็นว่าขัด คุณเห็นว่าขัด ถามว่าเราไปร้องได้ไหม ไม่ได้ เพราะเราไม่เกี่ยว เรื่องนี้เหมือนกรณีที่ผมเคยให้สัมภาษณ์นานมาแล้วเรื่องการถวายสัตย์ฯ ของคุณประยุทธ์ ตอนนั้น ครม.มีการถวายสัตย์ปฏิญาณซึ่งชัดเจนว่าการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณกล่าวไม่ตรงกับที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนขั้นตอนการเข้ารับตำแหน่งในทางรัฐธรรมนูญ สำหรับผมก็เห็นว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่คำถามคือ แล้วยังไงต่อ เราจะฟ้องศาลได้ไหม นี่เป็นอีกคำถามหนึ่งที่เราต้องแยกออกจากกัน คนทั่วนึกว่าถ้าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญปุ๊บฟ้องศาลได้ การกระทำบางอย่างที่เราเห็นว่ามันไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมันอาจฟ้องไม่ได้ก็ได้ อย่างกรณีถวายสัตย์ปฏิญาณมันไม่ได้กระทบสิทธิเสรีภาพของใครเลย ตอนนี้จะมีคนเถียงผมแล้วว่า กระทบสิเพราะผมเป็นคนไทย ผมเป็นประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เสียภาษี ผมบอกว่าเหล่านี้ล้วนไกลไปหมด

ถ้าเราไม่รักษาหลักตีความแบบนี้ไว้ มันจะทำให้ใครก็ได้ฟ้องคดีเต็มไปหมด นักร้องจะเต็มทั้งแผ่นดิน ฉะนั้น กฎหมายจึงบอกว่า บางกรณีคนจะฟ้องได้ต้องเป็นคนที่ถูกกระทบสิทธิ หรือถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพ ฉะนั้นมันจะมีการกระทำบางอย่างที่มันไม่ถูกต้องแหละ แต่มันไม่ได้ละเมิดสิทธิของเรา ในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคลเราก็จะฟ้องไม่ได้ อันนี้สำคัญมาก เพราะถ้าเราไม่ระมัดระวัง อันตรายจะเกิดขึ้น เพราะมันจะทำให้ประเด็นในทางกฎหมายกลายเป็นประเด็นในทางการเมืองได้หมด แล้วจะขยายอำนาจศาลรัฐธรรมนูญมหาศาลมากเลย ถ้าเราไม่รักษาหลักการแบบนี้ 

ถาม : แต่มันก็เกิดแล้วที่คนร้องศาลรัฐธรรมนูญได้เอง เช่นร้องยุบพรรคก้าวไกลจากนโยบายหาเสียงแก้มาตรา 112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ 

วรเจตน์ : ต้องเข้าใจว่าอันนี้เขาขยายมาจากบทเรียนรัฐธรรมนูญปี 2550 ตอนนั้นสภามีการแก้รัฐธรรมนูญกัน มีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ ศาลก็รับ แล้วผมวิจารณ์ศาลว่า รับได้ยังไง ไม่ร้องผ่านอัยการสูงสุด เขาก็เลยไปแก้ไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 เลยว่าให้ร้องอัยการ 15 วัน ถ้าอัยการไม่ทำอะไรร้องตรงกับศาลได้เลย ตัวบทบัญญัติแบบนี้มันไม่ถูกต้อง แต่มันกลายเป็นตัวบทกฎหมายไปแล้ว คนก็ไปร้องได้ เป็นการขยายอำนาจศาลออกไปอีก แล้วอันนี้ไม่ใช่เรื่องละเมิดสิทธิอะไรด้วย ตีความได้กว้างขวางเลย 

ตอนนี้เวลาเราวิเคราะห์ข้อกฎหมาย ผมเข้าใจอยู่ว่าบางครั้งมันสร้างความหงุดหงิด ตลอดระยะเวลา 10-20 ปีมานี้ มีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือจัดการ ตั้งแต่ตุลาการภิวัตน์เรื่อยมา เราต้องเข้าใจว่าเมื่อมีการตัดสินคดีมา อย่างผมหรือนิติราษฎร์วิจารณ์ ข้อวิจารณ์หลายเรื่องว่าคุณตีความแบบนี้ไม่ถูก ตีความรัฐธรรมนูญผิด เขาก็ไปแก้ไขจนตัวกฎหมายเลื่อนไหลไป ทำสิ่งซึ่งผิดให้เป็นสิ่งที่ถูก ทำสิ่งซึ่งไม่ควรจะเป็นให้เป็นเช่นนั้นในทางกฎหมาย

ฉะนั้นเวลาเราจะวิเคราะห์กฎหมายตอนนี้เราต้องเข้าใจว่ามันมีข้อจำกัดมากขึ้น เพราะว่าฝ่ายที่เขากุมอำนาจทางการเมือง และกำกับการเขียนกติการัฐธรรมนูญ เขาได้แก้กติกาบางอย่างไปแล้ว การต่อสู้ในสนามกฎหมายเลยมีข้อจำกัดมากขึ้น บางอย่างเราต่อสู้ในสนามกฎหมาย มันสู้ไม่ได้เพราะเขากุมอำนาจการเขียนกฎหมายไว้แล้ว แต่การกุมอำนาจการเขียนมันกุมไม่ได้หมด ยังมีพื้นที่ในการตีความ เถียงกันได้อยู่ แล้วตรงนี้เองหลักวิชาจะช่วยเราได้ ถ้าเราไม่สนใจหลักวิชา แต่สนใจว่าตีความแบบนี้เราได้ประโยชน์ไหม ถ้าเราได้ประโยชน์เราเอาแบบนี้ เราเสียประโยชน์เราก็ไม่เอา อันนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับคนอื่น 

มันจึงต้องถือหลักว่า คนที่จะร้องต้องถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพถึงจะร้องได้ คำถามคือ เรื่องนี้มีใครถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพบ้าง และสิทธิที่ถูกละเมิดคือสิทธิอะไร อันนี้ยากนะ 

ถาม : แล้วเรื่องนี้มีใครถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพบ้าง และสิทธิที่ถูกละเมิดคือสิทธิอะไร

วรเจตน์ : เราไล่ไปทีละคน กรณีที่มีประชาชน 17 คนไปยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน 17 คนนี้ไม่ใช่ผู้ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพแน่ๆ ถ้าไปอ่านคำแถลงผู้ตรวจการแผ่นดินที่ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดินเขียนกว้างๆ มากเลยว่า เป็นประชาชนคนไทยและถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพตามหมวด 3 แต่ประเด็นมันไม่ได้ง่ายแบบนั้น เวลาจะบอกว่าโดนละเมิดสิทธิเสรีภาพ ต้องถามว่าสิทธิเสรีภาพเรื่องอะไร 

เราพูดกว้างๆ ไม่ได้ สิทธิเสรีภาพมันมีเรื่องของมัน เช่น สิทธิเสรีภาพในชีวิต ในร่างกาย ในทรัพย์สิน ในเคหสถาน ในการชุมนุม มันจะเป็นรายสิทธิไป อันนี้คือข้ออ่อน 

กลุ่มถัดไปถือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีข่าวว่า ส.ส.ก้าวไกลก็ไปร้องผู้ตรวจการแผ่นดินด้วยเหมือนกัน ตัวส.ส.พรรคก้าวไกลในความเห็นผมก็ไม่ใช่คนถูกละเมิดสิทธิ เพราะว่าในการประชุมสภา ส.ส.พรรคก้าวไกลได้โหวตในที่ประชุมสภาด้วย แล้วเป็นฝ่ายข้างน้อยหรือเป็นฝ่ายแพ้ มติก็จบไปตามนั้น เมื่อเขาแพ้มติแล้วจะส่งศาลรัฐธรรมนูญให้มาตัดสินได้ไหม ไม่ได้ เพราะมันไม่ได้กระทบสิทธิอะไรของเขา เขาได้สิทธิในการโหวตแล้วเพียงแต่แพ้โหวต

ต่อมาก็ต้องมาดูว่าสิทธิที่ถูกละเมิดคืออะไร แล้วใครได้รับผลกระทบจากการนี้ วันนั้นคนที่ถูกกระทบเห็นชัดๆ เลยคือ คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เพราะว่ามีการเสนอชื่อคุณพิธา แต่ก่อนจะมีการโหวตรอบที่ 2 มีการเสนอประเด็นว่าอันนี้เป็นมติซ้ำ แล้วสภาก็มีมติว่ามันซ้ำตามข้อ 41 เลยเสนอชื่อไม่ได้ ตัวประธานก็ปิดการประชุม 

เรากำลังพูดเรื่องสิทธิบุคคล คนอยู่ในขอบข่ายต้องพิจารณาก่อนเลยคือ คุณพิธา แล้วสิทธิอะไรที่ถูกละเมิดอันนี้ยากแล้ว ดีเบตตอนนี้ที่พูดกันในแวดวงกฎหมายยังไม่ไปถึงตรงนี้ 

ต้องไล่คำถามก่อนว่าการกระทำอะไรเป็นการกระทำของรัฐ ละเมิดสิทธิใคร แล้วสิทธิอันไหนเป็นสิทธิที่ถูกละเมิด 

อันแรกตัวกระทำของรัฐ คือ มติของรัฐสภา ในทางกฎหมายเมื่อรัฐสภามีมติแล้ว เราไม่สนใจข้างมากข้างน้อยแล้ว มันเป็นการกระทำของรัฐสภาเรียบร้อย เป็น act ในทางกฎหมาย 

การกระทำนี้ไปก้าวล่วงสิทธิของใคร คำตอบก็คือ ยังไม่ก้าวล่วงสิทธิของประชาชนทั่วไป ประชาชนอาจไม่พอใจ คนที่เชียร์พรรคก้าวไกลอาจรู้สึกหงุดหงิด แต่มันไม่ได้กระทบสิทธิของเรา เราไม่ได้พูดเรื่องสิทธิของปวงชนชาวไทย อันนั้นไม่ใช่สิทธิในทางกฎหมาย เป็นความรู้สึก รู้สึกเป็นเจ้าของพรรค รู้สึกว่าเลือกนายกฯ ไปแล้วนายกฯ ของตัวเองถูกกระทำ ไม่ใช่สิทธิในความหมายของกฎหมาย สิทธิในความหมายของกฎหมายคือ สิทธิของคุณพิธา 

สิทธิอะไรของคุณพิธาที่ถูกละเมิด อันนี้ไม่เป็นสิทธิที่เขียนขึ้นโดยตรงในรัฐธรรมนูญ การค้นหาสิทธิอันนี้ต้องเกิดขึ้นจากการตีความรัฐธรรมนูญ แล้วจะเป็นประเด็นที่เถียงกันข้างหน้า ถ้าประเด็นทางกฎหมายไปถึงประเด็นที่พูด 

ความเห็นผม ถูกหรือผิดก็ว่ากัน เราต้องดูก่อนว่า บ้านเราคนที่จะเป็นนายกฯ ไม่ใช่ทุกคนเป็นนายกฯ ได้ ผมเป็นานยกฯ ไม่ได้ เป็นรัฐมนตรีได้ คนที่จะเป็นนายกฯ ได้คือ คนที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอเท่านั้น ขนาดเป็น ส.ส.ก็ไม่ได้ ต้องเป็นแคนดิเดตนายกฯ ที่พรรคการเมืองเสนอชื่อตามกติการัฐธรรมนูญ 2560 ผมบอกก่อนโดยส่วนตัว ผมไม่เห็นด้วยกับกติกานี้เรื่องบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ เลย แต่ว่ามันเป็นตัวกฎเกณฑ์อยู่ บัญชีนี้กำหนดให้พรรคเป็นผู้เสนอ และมีคุณสมบัติด้วย อันนี้จะเป็นปัญหาของคุณพิธาต่อไปอีกข้างหน้า

คนทั่วไปนึกว่ามีปัญหาคดีถือหุ้นสื่อจะหลุดแต่เฉพาะส.ส. ไม่ใช่ มันจะกระทบกับตำแหน่งแคนดิเดตด้วย เพราะคุณสมบัติแคนดิเดตมันผูกกับคุณสมบัติรัฐมนตรี แล้วคุณสมบัติรัฐมนตรีมันผูกกับคุณสมบัติ ส.ส. ฉะนั้นวันหน้า ถ้าสมมติศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคุณพิธาถือหุ้นไอทีวีจริง ก็ต้องพ้นจากส.ส.แล้วก็จะหลุดจากแคนดิเดตนายกฯ ไปด้วย ถ้าเขาตัดสินว่าผิดจริงมันจะย้อนหลังไปในวันยื่นบัญชีลงสมัคร เพราะมันจะผูกคุณสมบัติอยู่ รัฐธรรมนูญจะถือว่าถ้าใครมีปัญหา ถือว่าไม่เคยเสนอชื่อแคนดิเดต เท่ากับก้าวไกลไม่เคยเสนอชื่อพิธาเป็นแคนดิเดต เมื่อไม่เคยเสนอก็เท่ากับไม่มีคุณสมบัติได้รับเลือกเป็นนายกฯ มันจะสะเทือนมากในทางข้างหน้า แต่ตอนนี้ถามว่าคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.สะเทือนแคนดิเดตนายกฯ ไหม คำตอบคือ ไม่ เพราะมันแยกกัน แต่มันจะมีปัญหาในวันหน้าถ้าเกิดวินิจฉัยว่าถือหุ้นจริงตามนั้น แต่ถ้าคุณพิธาเป็นตำแหน่งอื่น และมีข่าวโอนหุ้นแล้วด้วย ดังนั้น คุณพิธาเป็นรองนายกฯ ได้เป็นรัฐมนตรีได้ 

มันแปลว่า การเป็นแคนดิเดตนายกฯ เป็นสิทธิอย่างหนึ่งโดยปริยายของพิธา สิทธิที่มันซ่อนอยู่ในบัญชีรายชื่อนั้น คือ สิทธิในการได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ เป็นสิทธิในทางกระบวนการ ไม่ใช่สิทธิในการเป็นนายกฯ แต่เป็นสิทธิที่จะได้เสนอชื่อเพื่อให้มีการโหวตเป็นนายกฯ 

สมมติว่า มันมีการตีความกันว่า คุณพิธาเสนอไม่ได้เลยแต่แรก เช่น อ้างเรื่องถือหุ้นสื่อ ไปตัดเขาตั้งแต่โหวตครั้งแรกอันนี้ผิดแน่นอน แต่พอโหวตไปแล้วครั้งหนึ่งแล้วไม่ผ่าน พอจะโหวตใหม่เขาเอาข้อ 41 มาตีความว่าเป็นญัตติซ้ำ สำหรับคุณพิธา สิทธิที่จะได้รับการเสนอชื่อมันถูกตัดไปโดยมติรัฐสภา 

ความจริงมติวันนั้นมีข้อน่าสังเกตอยู่ ที่อภิปรายกันตลอดวันที่ 19 ก.ค.เถียงกันว่าเป็นญัตติหรือไม่เป็นญัตติ แต่ตอนลงมติ สังเกตท่านประธานวันนอร์ ประเด็นที่ท่านตั้งไม่ใช่เป็นญัตติหรือไม่เป็นญัตติ แต่ท่านตั้งประเด็นชัดลงไปเลยว่าอันนี้เป็นประเด็นตามข้อบังคับที่ 41 เรื่องเสนอญัตติซ้ำ ที่จะทำให้ไม่สามารถเสนอชื่อพิธาอีกครั้ง เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย คือ เขาตั้งประเด็นแบบนี้ ประเด็นที่ตั้งในวันนั้นข้อเท็จจริงที่เป็นรูปธรรมในเวลานั้นก็คือ การเสนอชื่อพิธามา แล้วโหวตเป็นการโหวตภายใต้บริบทที่คุณรู้เลยว่าเป็นการตัดสิทธิการเสนอชื่อคุณพิธาเป็นนายกฯ ซึ่งสำคัญมากในทางกฎหมาย เพราะหมายถึงการแสดงเจตนา คนโหวตไม่ได้โหวตตีความข้อบังคับการประชุมแบบนามธรรม แต่ข้อเท็จจริงรูปธรรมเกิดขึ้นในสภามีการเสนอชื่อพิธาชัดเจน ดังนั้น การโหวตของสมาชิกรัฐสภาโหวตโดยรู้สำนึกว่า เป็นการโหวตข้อบังคับการประชุมที่จะไปกระทบต่อสิทธิของคนที่เป็นแคนดิเดตคือ พิธา 

การกระทบสิทธิไม่ใช่พิธาคนเดียว จะกระทบกับแคนดิเดตคนอื่นด้วยอีกหลายคนจากหลายพรรค ถ้าใช้บังคับแบบนี้อยู่เขาจะได้รับการเสนอชื่อครั้งเดียว แต่คนเหล่านี้ทั้งหมด เขาจะมีสิทธิยื่นเรื่องไหม อาจยื่นได้ แต่การถูกกระทบสิทธิไม่ชัดเจนเท่าคุณพิธา ซึ่งโหวตไปแล้วหนึ่งครั้ง เท่ากับไปตัดสิทธิของเขาที่จะได้รับการเสนอชื่อ 

พอเป็นการละเมิดสิทธิหรือกระทบสิทธิ แม้จะเป็นสิทธิในขั้นตอนการเสนอชื่อก็ตาม คำถามก็คือ คุณพิธาจะสามารถทำอะไรได้บ้าง การกระทำของพิธาเท่ากับไปดึงเอาศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาวินิจฉัยกิจการทางนิติบัญญัติตามที่มีคนกังวลหรือไม่ อันนี้เป็นประเด็น 

ถาม : ถ้าตีความว่ากรณีนี้เป็นการกระทบสิทธิพิธาที่จะได้เสนอชื่อแคนดิเดตอีกครั้ง จะถือว่าเป็นการดึงเอาศาลรัฐธรรมนูญมาก้าวก่ายรัฐสภาหรือไม่ ?

วรเจตน์ : เรื่องนี้เป็นอย่างนี้ คือ อย่างที่ผมบอกว่า การตีความข้อบังคับการประชุม การตีความจะถูกหรือผิดก็ตาม มันอยู่ในอำนาจของรัฐสภา ฝ่ายข้างน้อยคุณแพ้โหวตก็ต้องรับไปตามมติ แล้วอันนี้ถ้าฝ่ายข้างน้อยแพ้โหวตแล้วร้องศาลเข้ามาเกี่ยวข้อง ถูกต้องเลยศาลเข้ามาเกี่ยวข้องกับกิจการของสภา ซึ่งศาลทำแบบนั้นไม่ได้ รัฐสภามีฐานะเป็นผู้แทนปวงชน เขาเป็นอีกอำนาจหนึ่ง เขามีการบริหารจัดการของเขา เป็นอำนาจโดยแท้ของตัวสภา มันเป็นการกำหนดกระบวนการทำงานของสภา เขาออกเอง เขาตีความเอง องค์กรอื่นก็เหมือนกัน เหมือนศาลเขามีข้อบังคับการทำงานของเขาภายใน คนอื่นจะไปยุ่งไม่ได้ 

ฉะนั้น ร้อยละ 99% มันไม่ได้กระทบสิทธิอะไรกับประชาชน เราอาจไม่พอใจผลการตีความ เพราะเราเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ก็คือเรื่องที่เรามีตัวแทนของเราเข้าไปแล้วเขาโหวต แต่เคสนี้ยากในทางกฎหมายเป็นพิเศษ 

กรณีนี้เราต้องวินิจฉัยแบบนี้ว่า การกระทำของรัฐสภาหรือมติในวันนั้นมันละเมิดสิทธิใคร ถ้าบอกว่ามันละเมิดสิทธิคุณพิธา เมื่อถูกละเมิดสิทธิก็มีสิทธิปกป้องตัวเขาเอง ตัวเขาก็ต้องยื่นคำร้อง คนอื่นยื่นแทนไม่ได้ ถ้าจะมีการยื่นคำร้องและมีโอกาสเป็นไปได้ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับพิจารณาก็คือ คุณพิธาต้องไปยื่นคำร้องภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. แต่ต้องไปยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินก่อน แล้วถ้าผู้การฯ ส่งก็ไปตามส่งก็ตามนั้น ถ้าไม่ส่งคุณพิธาก็ยื่นเองได้ ถ้าเป็นคุณพิธายื่นเอง โอกาสที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับจะน้อยมากในความเห็นผม อย่างน้อยต้องรับแล้วต้องชี้

ผมไม่ได้บอกความเห็นผมต้องเป๊ะตามนี้ ศาลอาจมองไม่เหมือนผมก็ได้ ก็นั่งเถียงกันในวันหน้า แต่ผมมองว่ามันเป็นสิทธิในกระบวนพิจารณาและมันกระทบจริง

ถาม : อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จรัญ ภักดีธนากุล ให้ความเห็นว่า เรื่องนี้จะให้ศาลรธน.เข้าไปก้าวก่ายกิจการของสภา ฉะนั้นศาลจะไม่รับ

วรเจตน์ : อย่างที่ผมวิเคราะห์ว่า เรื่องนี้คนไปยื่นไม่ใช่คนถูกละเมิดหรือกระทบสิทธิ ถ้าจะไม่รับก็ควรไม่รับด้วยเหตุนี้ เพราะว่าไม่เกี่ยวข้อง

ถ้าคุณพิธายื่นต้องรับ เราไม่ถือเป็นการที่ศาลรัฐธรรมนูญก้าวก่ายรัฐสภาเพราะมติรัฐสภาอันนี้ไปละเมิดสิทธิบุคคล กระทบต่อสิทธิของแคนดิเดตในบัญชีรายชื่อที่เขาเห็นว่าควรเสนอได้อีก ซ้ำได้ มันเป็นการตีความก็จริง แต่มันเป็นตีความที่กระทบต่อสิทธิตัวบุคคล วัตถุของคดีที่ถูกตรวจสอบคือ มติของรัฐสภา ไม่ใช่ตัวข้อบังคับการประชุม

อาจมีบางคนไปอ่าน พ.ร.ป. แล้วคิดว่าผมมองข้ามเรื่อง บทบัญญัติอีกอันหนึ่งที่ระบุว่า บุคคลถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพอันเนื่องมาจากบทบัญญัติของกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญก็สามารถร้องได้ หรือเปล่า คุณพิธาใช้ช่องนี้ได้ไหม อันนี้ไม่ได้ เพราะข้อบังคับการประชุมรัฐสภาไม่อยู่ในความหมาย ‘บทบัญญัติแห่งกฎหมาย’ ตาม พ.ร.ป.ฉะนั้นมาตรานี้ทิ้งไป แต่มันคือบทบัญญัติว่าการกระทำของรัฐมันไปละเมิดสิทธิของบุคคล

ท่านที่อาจมองเรื่องการไม่ก้าวก่ายอำนาจรัฐสภา ก็พูดถูกในระดับความสัมพันธ์ของสองอำนาจ แต่อาจลืมนึกไปว่าอันนี้เป็นปัญหาเรื่องสิทธิแล้ว ประเด็นมันขยับไปแล้ว พอเป็นประเด็นที่ยุ่งยากไม่ใช่ใครก็ร้องได้ สมมติว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่รับ แล้วผมให้ความเห็นว่าถูกแล้ว เพราะคนยื่นเรื่องไม่ใช่คนถูกกระทบสิทธิ ผมอาจโดนถล่ม แต่เราอย่าใช้ความรู้สึกทางการเมืองมาตัดสินตรงนี้ เราต้องดูข้อกฎหมาย และถ้าจะสู้ก็สู้ให้ถูก

คนที่บอกว่าศาลไม่ควรก้าวก่ายยุ่งเกี่ยวกับรัฐสภา ถูกแล้ว แต่อย่าลืมว่ามันเคยมีกรณีที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะแก้รัฐธรรมนูญ แล้ว ส.ว.นักร้องไปยื่นศาล สภากำลังจะลงมติ แล้วศาลรัฐธรรมนูญออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ในขณะนั้นไม่มีกฎหมายให้ศาลรัฐธรรมนูญออกคำสั่งแบบนี้ด้วยนะ ศาลยุคนั้นไปอ้างอิงประมวลกฎมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ส่งคำสั่งไปที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรให้ยุติหรือระงับการโหวต ในความเห็นผมคือ เข้ามาแทรกแซงไม่ได้ มายับยั้งการโหวตไม่ได้ แต่ศาลอ้างว่ายับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ไม่ถูกต้องเลย และไม่ได้คุ้มครองสิทธิอะไรใครเลย จึงเห็นได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญในอดีตก็มีคำวินิจฉัยในอดีตที่ทำเรื่องที่เป็นไปไม่ได้มากี่รอบแล้ว ขนาดตอนนั้นจะแก้ให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งนะ แล้วคำสั่งก็ไม่ได้สั่งตัวสภาด้วย แต่สั่งไปตัวเลขาสภา มันก็น่าเศร้าที่ทำไมบางคนพูดเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้

ฉะนั้นตอนนี้ถ้าสู้ในประเด็นข้อกฎหมาย ก็คือ ฝ่ายกฎหมายของคุณพิธาก็ต้องเขียนคำร้อง คำร้องต้องเขียนให้ดี อธิบายว่าให้ตัวการกระทำนี้ของรัฐสภาละเมิดสิทธิอะไร คุณพิธามีสิทธิอะไร สิทธิอันนี้ถูกกระทบหรือละเมิดแบบไหน ให้ศาลวินิจฉัยการใช้ข้อบังคับละเมิดสิทธิบุคคล ซึ่งถ้าข้อบังคับไม่ละเมิดสิทธิบุคคลใด ศาลก็เข้ามาวินิจฉัยไม่ได้

โดยสรุปวิธีการตีความข้อบังคับการประชุมแบบนี้ มันเป็นการตีความที่ทำร้ายกฎหมายใน 2 ระดับ คือ

1.ถ้าคุณไปเปลี่ยนแปลงกติกาในการเสนอชื่อนายกฯ ไป โดยที่รัฐธรรมนูญไม่ให้อำนาจทำแบบนี้ได้ ผ่านการมองว่าอันนี้เป็น ‘ญัตติที่มีหลักการในเรื่องเดียวกัน’ ทั้งที่ความจริง นี่ไม่ใช่ ‘ญัติติที่มีหลักการในเรื่องเดียวกัน’ มันเป็นการเสนอชื่อคน ไม่ใช่เรื่องหลักการ 

2.การที่คุณตีความแบบนี้ คุณเปิดทางให้กับตัวพวกคุณเองได้อีก ถ้าคุณจะให้เสนอชื่อในครั้งที่ 2 ได้ คุณก็อ้างข้อยกเว้นว่า ‘เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป’ ถ้าประธานวินิจฉัยเช่นนั้น  

ถาม : สมมติว่า พิธายื่นเรื่องแล้วศาลรับ แล้วตัดสินอย่างที่อาจารย์เสนอความเห็น จะมีผลเปลี่ยนแปลงมติที่ประชุมรัฐสภาหรือไม่ อย่างไร

วรเจตน์ : คำถามนี้ตอบยาก แต่ผมจะลองตอบดู มันไม่เคยมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศไหนเลยเพราะมันเป็นสิทธิที่จะได้รับการเสนอชื่อจากบัญชีแคนดิเดตนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญไทย สมมติถ้าคุณพิธายื่นคำร้อง ผู้ตรวจการฯ ส่ง หรือถึงไม่ส่งคุณพิธาก็ไปยื่นเองแล้วศาลรับ แล้วศาลเกิดเห็นอย่างที่ผมเห็นว่ามันกระทบสิทธิแม้จะเป็นสิทธิในการพิจารณาก็ตาม คำถามมีต่อไปว่า กว่าศาลจะตัดสิน มันใช้เวลา เราจะเบรคกระบวนการเลือกนายกฯ เพื่อรอการตัดสินหรือ จริงๆ แล้วมันไม่เกี่ยว เรื่องโหวตก็โหวตไป

อันนี้จะเป็นปัญหานิดหนึ่ง ปกติการเยียวยาสิทธิมันต้องเยียวยาให้ทันเวลา แต่กรณีนี้กรณีคุณพิธานี้ไม่ได้เป็นสิทธิในสารบัญญัติ คือ ไม่ได้เป็นสิทธิในร่างกาย ในชีวิต การละเมิดสิทธิเสรีภาพไม่ได้ละเมิดสิทธิในสารบัญญัติ ซึ่งสั่งได้ทันที ทีนี้เรื่องคุณพิธามันซับซ้อน คือ หนึ่งต้องดูว่า มันเป็นสิทธิของคุณพิธาหรือเปล่า ผมเห็นว่าใช่ คนอื่นอาจเห็นว่าไม่ใช่ แต่สิทธิอันนี้ไม่ใช่สิทธิในสารบัญญัติคือ พิธาไม่ได้มีสิทธินั่งเก้าอี้นายกฯ แน่ๆ แต่เป็นสิทธิในการเสนอชื่อ เสนอชื่อแล้วเขาอาจจะไม่ถูกเลือกก็ได้ ฉะนั้นดูน้ำหนักแล้ว เรื่องนี้คุ้มครองชั่วคราว หยุดกระบวนการโหวตนายกฯ ไม่ได้ มันจึงเป็นเรื่องของการยืนยัน คือ ศาลก็ดำเนินกระบวนพิจารณาไป แล้วคำพิพากษาตอนจบก็ควรเป็นคำวินิจฉัยแค่การประกาศว่า มติของสภาวันนั้นเป็นเรื่องขัดรัฐธรรมนูญ คราวหน้าใครจะเสนอชื่อกี่ครั้งก็ได้ แต่จะไม่ย้อนไปกระทบสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้ว เพราะตัวสิทธิไม่ใช่สิทธิใน material แต่เป็นสิทธิใน procedure   

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่