เจ้าหน้าที่ของสิงคโปร์รายงานยืนยันว่า ทางการสิงคโปร์ประหารชีวิตผู้หญิงเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปี เมื่อช่วงวันศุกร์นี้ (28 ก.ค.)
สาริเดวี ยามานี หญิงสัญชาติสิงคโปร์ วัย 45 ปี ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานค้าเฮโรอีนปริมาณ 30 กรัม เมื่อปี 2561 ทั้งนี้ สาริเดวีเป็นนักโทษคดียาเสพติดคนที่ 2 ที่ถูกประหารชีวิตในสัปดาห์นี้ ตามหลัง โมห์ด อาซิซ บิน ฮุสเซน ผู้ร่วมกระทำความผิดสัญชาติสิงคโปร์ และยังนับเป็นนักโทษที่ถูกประหารชีวิตคนที่ 15 นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2565
สิงคโปร์มีกฎหมายต่อต้านยาเสพติดที่เข้มงวดที่สุดในโลก ด้วยข้ออ้างว่ากฎหมายที่รุนแรงมีความจำเป็น เพื่อปกป้องสังคมจากยาเสพติด ทั้งนี้ กฎหมายของสิงคโปร์ระบุว่า ผู้ใดก็ตามที่ถูกจับได้ว่าค้ากัญชามากกว่า 500 กรัม หรือเฮโรอีนมากกว่า 15 กรัม จะต้องถูกบังคับใช้โทษประหารชีวิต
สำนักงานปราบปรามยาเสพติดกลางของสิงคโปร์ (CNB) กล่าวในแถลงการณ์ว่า สาริเดวีซึ่งถูกตัดสินประหารชีวิตเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา ได้รับโทษตาม “กระบวนการอันชอบธรรมโดยสมบูรณ์” ภายใต้กฎหมาย ทั้งนี้ ศาลฎีกาสิงคโปร์ได้ยกคำร้องอุทธรณ์ต่อคำตัดสินเดิมของสาริเดวี เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ปีที่แล้ว ทางการสิงคโปร์ยังระบุอีกว่า การยื่นขออภัยโทษของสาริเดวีจากประธานาธิบดีสิงคโปร์ ไม่ประสบผลสำเร็จเช่นกัน
การประหารชีวิตสาริเดวีมีขึ้นเพียง 2 วันหลังจากอาซิซถูกแขวนคอเมื่อวันพุธ (26 ก.ค.) หลังจากเขาถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานค้าเฮโรอีนปริมาณ 50 กรัมในปี 2560 ทั้งนี้ เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ทางการสิงคโปร์ประหารชีวิต ตังการาจู ศุภเปียห์ ชายสัญชาติสิงคโปร์อีกคน ในข้อหาค้ากัญชาปริมาณ 1 กิโลกรัม ที่เขาไม่เคยแตะต้องมันมาก่อน แต่เจ้าหน้าที่อ้างว่า ตังการาจูเป็นผู้ประสานงานการขายกัญชาปริมาณดังกล่าวผ่านทางโทรศัพท์มือถือ
ตามรายงานของ Transformative Justice Collective ซึ่งเป็นกลุ่มสิทธิมนุษยชนในสิงคโปร์ สาริเดวีเป็น 1 ใน 2 ของหญิงสิงคโปร์ที่ต้องโทษประหารชีวิต ทั้งนี้ เธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่ถูกประหารชีวิตบนเกาะแห่งนี้ นับตั้งแต่ เหยินเมเหวิน ช่างทำผมหญิงถูกประหารชีวิตในปี 2547 ทั้งนี้ เหยินยังถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาค้ายาเสพติดด้วยเช่นกัน
สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ซีคีออน ผู้พิพากษาระบุว่า สาริเดวีให้การในระหว่างการพิจารณาคดีของเธอว่า เธอเก็บเฮโรอีนเอาไว้ใช้ส่วนตัวในช่วงเดือนถือศีลอดของศาสนาอิสลาม แม้ว่าเธอจะไม่ปฏิเสธการขายยาเสพติด เช่น เฮโรอีนและเมทแอมเฟตามีนที่ถูกตรวจพบในแฟลตของเธอ แต่เธอไม่ได้ให้ความสนใจในการขายยาเหล่านั้น
ทางการให้เหตุผลว่ากฎหมายยาเสพติดที่เข้มงวด ช่วยให้สิงคโปร์เป็นหนึ่งในสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดในโลก และการลงโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชนอย่างกว้างขวาง
อย่างไรก็ดี ผู้ต่อต้านโทษประหารชีวิตได้โต้แย้งข้ออ้างของสิงคโปร์นี้ “ไม่มีหลักฐานว่าโทษประหารชีวิตมีผลยับยั้งเฉพาะ หรือมีผลกระทบต่อการใช้และการใช้ยาเสพติด” เคียรา ซันจอร์จิโอ จากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวในแถลงการณ์ “ข้อความเดียวที่การประหารชีวิตเหล่านี้ส่งมาคือ รัฐบาลสิงคโปร์เต็มใจที่จะท้าทายมาตรการป้องกันระหว่างประเทศ เกี่ยวกับการใช้โทษประหารชีวิตอีกครั้ง” ซันจอร์จิโอระบุ
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ตั้งข้อสังเกตว่า สิงคโปร์เป็น 1 ใน 4 ประเทศที่ดำเนินการประหารชีวิตต่อผู้ต้องโทษที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเมื่อไม่นานนี้ นอกเหนือจากจีน อิหร่าน และซาอุดีอาระเบีย
ที่มา: