หน้าแรก Voice TV พบศพนักปีนเขาสูญหาย 37 ปีก่อน หลังธารน้ำแข็งสวิสละลายเร็วจากพิษโลกร้อน

พบศพนักปีนเขาสูญหาย 37 ปีก่อน หลังธารน้ำแข็งสวิสละลายเร็วจากพิษโลกร้อน

209
0
พบศพนักปีนเขาสูญหาย-37-ปีก่อน-หลังธารน้ำแข็งสวิสละลายเร็วจากพิษโลกร้อน

ซากร่างกายมนุษย์ที่ถูกพบบริเวณธารน้ำแข็งใกล้กับยอดเขาแมตเทอร์ฮอร์นของสวิตเซอร์แลนด์ ได้รับการยืนยันว่าเป็นร่างของนักปีนเขาชาวเยอรมันที่สูญหายเมื่อปี 2529 หรือราว 37 ปีที่แล้ว

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ระหว่างที่นักปีนเขากลุ่มหนึ่งใช้เส้นทางข้ามธารน้ำแข็งธีโอดูล บนเทือกเขาในเมืองเซอร์แมต ทางตอนใต้ของสวิตเซอร์แลนด์ พวกเขาได้พบร่างนักปีนเขาชาวเยอรมันคนนี้ จากการสังเกตเห็นรองเท้าบูตปีนเขา และฟันเหล็กของยางรัดพื้นรองเท้าโผล่ออกมาจากพื้นน้ำแข็ง

เจ้าหน้าที่ตำรวจ เปิดเผยว่า ผลการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลด้วยดีเอ็นเอจากศพ ยืนยันได้ว่าเป็นร่างของนักปีนเขาชาวเยอรมัน อายุ 38 ปี ที่สูญหายเมื่อ 37 ปีที่แล้ว ซึ่งในตอนนั้น มีปฏิบัติการค้นหากู้ภัยครั้งใหญ่ แต่ก็ประสบกับความล้มเหลว ไม่พบร่องรอยของนักปีนเขารายนี้แต่อย่างใด

สำหรับธารน้ำแข็งธีโอดูล หนึ่งในธารน้ำแข็งที่ปกคลุมเทือกเขาแอลป์ละลายอย่างรวดเร็วจนเริ่มหดสั้นลงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งธารน้ำแข็งแห่งนี้มีชื่อเสียงมาก ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับการเล่นสกีในเมืองเซอร์แมท เมืองที่สูงสุดในยุโรป

อย่างไรก็ดี ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาแอลป์ล้วนได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิของโลกที่ร้อนขึ้น หากย้อนกลับไปช่วงปี 2523 จะเห็นว่า ธารน้ำแข็งธีโอดูลยังคงเชื่อมติดกับธารน้ำแข็งกอร์เนอร์ที่อยู่ใกล้กัน แต่ในปัจจุบัน ธารน้ำแข็งทั้งสองได้แยกตัวออกจากกันแล้ว

แทบจะทุกฤดูร้อน น้ำแข็งที่ละลายจะทำให้สิ่งของหรือร่างของมนุษย์ที่สูญหายไปหลายทศวรรษถูกพบ เช่น เมื่อปีที่แล้ว ซากของเครื่องบินที่ตกในปี 2511 ก็ถูกพบบริเวณธารน้ำแข็งอาเล็ทช์ ทางตอนกลางสวิตเซอร์แลนด์

หรือในปี 2557 ร่างของ โจนาธาน คอนวิลล์ นักปีนเขาชาวอังกฤษที่หายไปตั้งแต่ปี 2522 ถูกค้นพบโดยนักบินเฮลิคอปเตอร์ ที่กำลังส่งเสบียงไปยังที่หลบภัยบนเขาแมตเทอร์ฮอร์น หลังเขาเห็นสิ่งผิดปกติบนพื้นหิมะด้านล่าง

ปี 2558 ร่างของนักปีนเขาชาวญี่ปุ่น 2 คน ถูกพบที่บริเวณขอบของธารน้ำแข็งแมตเทอร์ฮอร์น หลังทั้งคู่สูญหายจากพายุหิมะในปี 2513

นอกจากนี้ น้ำแข็งที่ละลายตัวลงยังส่งผลให้เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างสวิตเซอร์แลนด์และอิตาลีเปลี่ยนแปลงไปเมื่อปีที่ผ่านมา แต่เดิม เส้นแบ่งเขตแดนถูกกำหนดด้วยพิกัดของช่องระบายน้ำระหว่างธารน้ำแข็ง ซึ่งเป็นจุดที่น้ำแข็งจะละลายไหลลงสู่ประเทศใดประเทศหนึ่ง

แต่ธารน้ำแข็งที่ละลายและสั้นลง ทำให้จุดทางแยกระบายน้ำยกตัวขึ้น ทำให้ในทางเทคนิค ภูเขาริฟูจิโอ กิเด เดล เชร์วิโน (Rifugio Guide del Cervino) แหล่งเล่นสกีและปีนเขาชื่อดังของอิตาลี เคลื่อนไปอยู่ในเขตแดนของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งประเด็นนี้ ทางรัฐบาลอิตาลีและสวิตเซอร์แลนด์ ได้เปิดการเจรจาเพื่อพิจารณาการแบ่งเขตแดนระหว่างกันใหม่แล้ว

อย่างไรก็ดี การละลายของธารน้ำแข็ง มีผลกระทบมากกว่าเรื่องทางการทูต หรือการค้นพบร่างของนักปีนเขาที่สูญหาย

ธารน้ำแข็งอัลไพน์ เป็นหัวใจสำคัญของสิ่งแวดล้อมทวีปยุโรป เพราะหิมะในช่วงฤดูหนาวเป็นแหล่งกำเนิดน้ำในแม่น้ำของยุโรป อาทิ แม่น้ำไรน์ แม่น้ำดานูบ ซึ่งหล่อเลี้ยงการเพาะปลูกในภูมิภาค รวมถึงระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ผลกระทบดังกล่าวปรากฏชัดกับแม่น้ำไรน์ แม่น้ำสายหลักของยุโรปที่มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาแอลป์ ไหลผ่านตอนกลางของทวีปยุโรป 6 ประเทศ โดยตั้งแต่ปีที่่แล้วจนถึงปีนี้ ระดับน้ำในแม่น้ำไรน์ลดต่ำลงจนกระทบต่อการเดินเรือขนส่งสินค้าจากเนเธอร์แลนด์ ผ่านเยอรมนี ไปยังสวิตเซอร์แลนด์

น้ำจากธารน้ำแข็งที่ละลายยังทำให้อุณหภูมิของแม่น้ำเย็นลง หากไม่มีความเย็น น้ำจะอุ่นเกินไปจนอาจทำให้ปลาในแม่น้ำตาย

เมื่อปีที่แล้ว ผู้เชี่ยวชาญที่ติดตามความเปลี่ยนแปลงของธารน้ำแข็งในสวิตเซอร์แลนด์ พบว่า ธารน้ำแข็งหดตัวลงทำให้ปริมาณของน้ำแข็งหายไปครึ่งหนึ่งนับจากปี 2474 เร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์เอาไว้มาก ซึ่งหากน้ำแข็งยังละลายตัวลงด้วยความเร็วในระดับนี้ ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาแอลป์เกือบทั้งหมดจะหายไปภายใน 80 ปีข้างหน้า.

ที่มา : BBC

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่