หน้าแรก Voice TV 'แอชตัน อโศก' อาจไม่ต้องทุบทิ้ง หลัง กทม.เปิดช่องขอใบแจ้งก่อสร้างใหม่ได้

'แอชตัน อโศก' อาจไม่ต้องทุบทิ้ง หลัง กทม.เปิดช่องขอใบแจ้งก่อสร้างใหม่ได้

69
0
'แอชตัน-อโศก'-อาจไม่ต้องทุบทิ้ง-หลัง-กทม.เปิดช่องขอใบแจ้งก่อสร้างใหม่ได้

‘แอชตัน อโศก’ ไม่ต้องทุบทิ้ง กทม.เปิดช่องแก้ไข ให้มีใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ได้ ปรับทางเข้า-ออกใหม่ ยื่นขอใบแจ้งก่อสร้างได้ ‘ชัชชาติ’ จ่อแถลง 3 ส.ค.นี้

กรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา ยืนตามศาลปกครองกลาง สั่งเพิกถอนใบรับแจ้งการก่อสร้างคอนโดมิเนียม “แอชตัน อโศก สุขุมวิท 21” เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยเจ้าของห้องชุด 668 ห้อง ที่โอนกรรมสิทธิ์และเข้าอยู่อาศัยไม่ต่ำกว่า 4 ปี ต่างกังวลใจ ล่าสุดทางกทม.เผย น้อมรับคำสั่งศาลปกครอง เตรียมสั่งให้เจ้าของอาคารดำเนินการแก้ไขอาคารให้ถูกต้องตามกฎหมายควบคุมอาคาร โดยทำทางผ่านเข้า-ออกให้ถูกต้องต่อไป

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กำกับดูแลสำนักการโยธา เปิดเผยว่า ประเด็น แอชตัน อโศก ที่ฟ้องร้องดำเนินคดีเป็นเวลายาวนาน โดยผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ สั่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ

สำหรับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ยืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง (ศาลปกครองชั้นต้นในกรุงเทพฯ) ในการเพิกถอนใบรับแจ้งการก่อสร้างคอนโดฯ แอชตัน อโศก โดยให้มีผลย้อนหลังนั้น ขอให้รอ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เป็นผู้แถลงรายละเอียด ซึ่งกำหนดแถลงข่าววันที่ 3 ส.ค.นี้ ทั้งนี้ ในเบื้องต้น จากการพูดคุยกับ ชัชชาติ ทาง กทม.พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่เพิกถอนใบรับแจ้งการก่อสร้างคอนโดฯ แอชตัน อโศก

ขั้นตอนหลังจากนี้ กทม. โดยสำนักงานเขตวัฒนา ในฐานะเจ้าของพื้นที่ เตรียมส่งหนังสือถึง บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด (บริษัทร่วมทุนระหว่าง บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ถือหุ้น 51% และบริษัท มิตซุย ฟุโดซัง จากประเทศญี่ปุ่น ถือหุ้น 49%) เจ้าของโครงการแอชตัน อโศก ในการออกคำสั่งให้เจ้าของอาคารดำเนินการแก้ไขอาคารให้ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม การเพิกถอนใบรับแจ้งการก่อสร้างดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่าคอนโดฯ แอชตัน อโศก จะต้องรื้อถอนอาคาร โดยยังมีแนวทางบริษัทผู้เป็นเจ้าของโครงการ สามารถยื่นขอใบแจ้งก่อสร้างใหม่ได้ที่สำนักงานเขตวัฒนา

โดยบริษัทจะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามที่ศาลสั่ง ซึ่งก็คือเพิ่มทางเข้า-ออกโครงการให้มีความกว้างของถนน 12 เมตร และอยู่ติดกับถนนสาธารณะที่มีความกว้าง 18 เมตร ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายควบคุมอาคารและกฎหมายผังเมืองกำหนด

หากบริษัทเจ้าของโครงการสามารถปรับปรุงแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางเข้า-ออกแล้วเสร็จ ก็สามารถยื่นขอใบแจ้งก่อสร้างได้

“สำหรับกรณีนี้ขอเวลาให้ทีมกฎหมายของกรุงเทพมหานครพิจารณารายละเอียด ตามคำพิพากษาอย่างถี่ถ้วน เนื่องจากมีผลกระทบกับพี่น้องประชาชนอย่างสูง” รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวในตอนท้าย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ บริษัทอนันดาฯ กำลังพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาหลายแนวทาง รวมถึงแนวทางปรับปรุงแก้ไขทาง เข้า-ออกโครงการ เพื่อให้โครงการแอชตัน อโศก ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายควบคุมอาคารต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่