หน้าแรก Voice TV 'กัณวีร์' ร้องทบทวนกฎหมาย-ภาคปฏิบัติ ควบคุมโรงงานพลุ

'กัณวีร์' ร้องทบทวนกฎหมาย-ภาคปฏิบัติ ควบคุมโรงงานพลุ

64
0
'กัณวีร์'-ร้องทบทวนกฎหมาย-ภาคปฏิบัติ-ควบคุมโรงงานพลุ

‘กัณวีร์’ ร้องทบทวนกฎหมาย-ภาคปฏิบัติ ควบคุมโรงงานพลุ หลังเกิดเหตุการณ์ระเบิดเกือบ 100 ครั้งในรอบกว่า 10 ปี

วันที่ 31 ก.ค. 2566 กัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ก่อนผมจะลงไปดูพื้นที่จริงพรุ่งนี้ ผมมีข้อมูลบางส่วนที่อยากแชร์ให้พี่น้องประชาชนครับ

กรณีโกดังพลุมูโนะระเบิดที่ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส ไม่ใช่เหตุการณ์ครั้งแรกและจะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายหากเรายังไม่มีการตรวจสอบแก้ไขอย่างจริงจัง

ในช่วงปี 2549 – 2559 จากการรายงานข่าวมีจำนวนสถานการณ์เกิดขึ้นประมาณเกือบ 80 ครั้ง หากนับจนถึงปัจจุบันคงมีเหตุการณ์เกือบ 100 ครั้งแน่นอน

เหตุการณ์แหล่งผลิตหรือจัดเก็บพลุระเบิด ไม่ใช่ปัญหาที่นิ่งนอนใจเพิกเฉยได้ เพราะเป็นภัยอันตรายใกล้ตัวชุมชนอยู่เรื่อยมา ไม่ใช่ว่าเราไม่มีกฎหมายและระเบียบทางราชการนะครับ ในเรื่องนี้เรามีกฎหมายในหลายกระทรวงที่ครอบคลุม ทั้ง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนฯ 2490 พ.ร.บ. ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 และยังมีของ สธ. และ กห. อีกต่างหากด้วย

จึงเป็นที่มาของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจึงได้จัดทำแนวทางปฏิบัติขึ้นมาสำหรับส่วนราชการระดับพื้นที่ ในการจะสามารถปฏิบัติหน้าที่กำกับควบคุมโรงผลิตและเก็บดอกไม้เพลิงได้ครบถ้วนทุกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แนวปฏิบัติที่ว่านี้เรียกว่า “ประกาศกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์การควบคุมและการกำกับดูแลการผลิต การค้า การครอบครอง การขนส่งดอกไม้เพลิงและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตดอกไม้เพลิง พ.ศ.2547”

คำถามคือ ทำไมถึงยังมีเหตุการณ์แบบไม่หยุดหย่อน ทั้งๆ ที่มีกฎหมายหลายฉบับบที่ครอบคลุม รวมถึงแนวทางปฏิบัติแบบบูรณาการ?

ผมขอสรุปปัญหาอย่างนี้ครับ ปัญหาคือการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมกำกับในทางปฏิบัติ ที่จำเป็นต้องมีการทบทวนแนวปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกันที่ส่วนราชการระดับพื้นที่ และกระจายให้เห็นถึงกระบวนการในการกำกับควบคุม ตั้งแต่ต้นทางของการจะตั้งสถานประกอบการ ระบบป้องกันที่มีมาตรฐาน ระดับสากล ไปจนถึงแผนเตรียมความพร้อมรับมือและเยียวยาฟื้นฟู

หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด การทบทวนแนวปฏิบัติตรงนี้เป็นขั้นตอนแรกที่จำเป็นต้องเดินคู่ขนานไปกับการเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ เพราะจะทำให้เราเห็นถึงช่องว่างที่อาจเป็นการทับซ้อนเหลื่อมกันของกฎหมายแต่ละฉบับของแต่ละส่วนราชการ หรืออาจเป็นช่องโหว่ของการดำเนินการที่ยังไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขั้นตอนแรกสุดของกระบวนการกำกับควบคุม คือ หลักเกณฑ์กำกับสถานที่ตั้งของสถานประกอบการ ที่จะต้องมีระยะห่าง และมั่นใจได้ว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนที่ห้อมล้อม ขั้นตอนนี้เองควรเป็นกติกาเดียวกับการพิจารณาจัดตั้งสถานประกอบการอุตสาหกรรมอื่น ๆ ด้วย ที่จะต้องเปิดพื้นที่ให้ชุมชนมามีส่วนร่วมตัดสินใจการใช้ประโยชน์ที่ดินในชุมชนของพวกเขา จัดกระบวนการปรึกษาหารือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ เพื่อตกลงใจเรื่องประโยชน์และความเสี่ยงที่จะแบ่งปันร่วมกันในฐานะส่วนหนึ่งของชุมชน

หากทำเช่นนี้แล้วเราสามารถหาทางนำไปสู่ 2 อย่าง คือ การกำหนดกติกากำกับโดยชุมชนในรูปของธรรมนูญชุมชน ที่จะต้องได้รับการรับรองสถานะในทางกฎหมายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นขั้นต่ำ และการทำประชาพิจารณ์ให้ชุมชนตัดสินใจร่วมกันก่อนการจัดตั้งสถานประกอบการดอกไม้เพลิง

โดยข้อเท็จจริง เราจะพบว่า บางชุมชนมีลักษณะเป็นชุมชนผลิตดอกไม้เพลิง คือ ประกอบอาชีพนี้กันเป็นจำนวนมาก เช่นบางตำบลในอำเภอพระนครศรีอยุธยา กระบวนการกำกับควบคุมก็ต้องไปเน้นน้ำหนักในอีกขั้นตอนหนึ่ง นั่นคือ การมีแผนลดและป้องกันความเสี่ยงที่เข้มแข็ง ที่จะต้องอยู่ในแผนพัฒนาจังหวัดและอำนวยการโดยกลไกของคณะกรรมการรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของจังหวัด ที่อาจพิจารณาจัดตั้งคณะอนุกรรมการควบคุมกำกับขึ้นมาเป็นการเฉพาะ เพราะถือเป็นกิจการที่มีความเสี่ยงสูง มีผลกระทบรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

ข้อเสนอเหล่านี้เป็นเพียงสารตั้งต้นครับ ที่จะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องครุ่นคิดถกแถลงกันเพื่อวางโครงสร้างของระบบควบคุมกำกับที่ดียิ่งขึ้นไปกว่าปัจจุบัน ซึ่งเราต้องถอดบทเรียนร่วมกันอย่างจริงจังเสียทีครับ

ขอแสดงความเสียใจและเป็นกำลังใจให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกท่านอีกครั้งครับ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่