หน้าแรก Thai PBS “ปณิธาน” ชี้เป็นสิทธิ “ทักษิณ” กลับไทย แนะขยับออกจากการเมือง

“ปณิธาน” ชี้เป็นสิทธิ “ทักษิณ” กลับไทย แนะขยับออกจากการเมือง

79
0
“ปณิธาน”-ชี้เป็นสิทธิ-“ทักษิณ”-กลับไทย-แนะขยับออกจากการเมือง

วันนี้ (2 ส.ค.2566) รศ.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการอิสระด้านความมั่นคงและการเมือง เปิดเผยถึงการเดินทางกลับประเทศของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 10 ส.ค. ว่าเป็นสิทธิที่จะเดินทางกลับประเทศไทยได้ในฐานะคนไทย แต่ต้องเข้าสู่กระบวนการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม ซึ่งการเตรียมจัดการในเรื่องการเดินทางกลับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องบริหารจัดการ แล้วต้องดูว่าเป็นกระบวนการที่ประชาชนรับได้หรือไม่เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่จะห้ามให้คนพอใจหรือไม่พอใจไม่ได้ โดยเฉพาะการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างไรน่าจะได้รับการตรวจสอบจากหลายฝ่าย

รศ.ปณิธาน ยังเห็นว่าความเคลื่อนไหวที่กระทบต่อพัฒนาการทางการเมือง ในช่วงนี้นอกจากจะมีการเลือกนายกรัฐมนตรีแล้วต้องมีการตั้งคณะรัฐมนตรี มาบริหารประเทศ และในภาพรวมยังมีความคิดเห็น ที่แตกต่างกันอยู่ในแง่ของการกลับมาของอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งที่จริงแล้วไม่ควรจะเกี่ยวข้องกัน ดังนั้นเงื่อนไขทางกฎหมายจะต้องชัดเจนว่าไม่เกี่ยวกัน อย่างไรก็ตามหลังตั้งรัฐบาลบริหารประเทศต้องมีระยะห่างและข้อกำหนดอย่างไร ซึ่งทั้งหมดฝ่ายความมั่นคงต้องช่วยบริหารจัดการตามหน้าที่ และรักษาเสถียรภาพของ สถานการณ์และพร้อมที่จะเข้ามาดูแลสถานการณ์หากเกิดเหตุการณ์ ในการเผชิญหน้ากัน หรือขัดแย้งกัน

รศ.ปณิธาน กล่าวอีกว่า ถ้านายทักษิณกลับมาแล้วยังย้อนอดีตหรือเกิดความขัดแย้งแบบเดิมก็จะไม่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่ถ้ากลับมาแล้วมองไปข้างหน้าไม่มองอดีตบางอย่างมาเผชิญหน้ากันจะเป็นเรื่องดี แต่ก็เข้าใจว่ายังมีคดีในระบบที่เราฟ้องยังไม่ตัดสิน ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะเป็นเงื่อนไขที่ต้องบริหารจัดการเพื่อไม่ให้กระทบทางการเมือง

ส่วนความพยายามโยงนายทักษิณกับการเมือง รศ.ปณิธาน เชื่อว่าถ้ากลับมาก็จะมีคนติดตามเข้าเยี่ยมขอความคิดเห็น ซึ่งบทบาทอยู่ที่ตัวนายทักษิณและอยู่ที่ศาลรวมถึงเงื่อนไขทางกฎหมายและสังคม รวมถึงขึ้นอยู่ที่ตัวของนายทักษิณเองว่าจะวางตัวให้เหมาะสม

จัดตั้งรัฐบาลขั้วเสรีนิยม-อนุรักษ์นิยม 

ส่วนขั้วการเมืองใหม่ ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย ทั้งขั้วเสรีนิยมกับอนุรักษ์นิยม จะผสมผสานเป็นเนื้อเดียวกัน ระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมเหลืองและแดงนั้น รศ.ปณิธาน มองว่า พัฒนาการทางการเมือง เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมา มีการทำข้อตกลง MOU ที่จะเกาะกลุ่มกันของเสรีนิยมประชาธิปไตยและอนุรักษ์นิยม โดยหลังการเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 ทั้ง 2 ขั้วคลายตัวลงและมีการพัฒนาเป็นอนุรักษ์นิยมแบบหัวก้าวหน้า ส่วนเสรีนิยมที่ต้องการยกเลิกทุกระบบไม่ว่าจะเป็นระบบความมั่นคงการเมืองการต่างประเทศและเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม มาเป็นเสรีนิยมแบบก้าวหน้า หรือซ้ายจัดซ้ายสุดโต่ง และยังมีกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าเสรีนิยมประชาธิปไตยแบบตะวันตก ที่มีการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจอย่างเข้มข้น

รศ.ปณิธาน กล่าวว่าหากมีการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จเราอาจจะเห็นเสรีนิยมแบบปานกลาง ขึ้นมาอีกกลุ่ม เพราะการทำงานจริงบางเรื่องจะต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง จะไปพลิกแผ่นดินหรือยกเลิกแนวทางโครงสร้างหลายแนวทาง ในช่วงข้ามคืน ปัญหาจะตามมาทันที ทั้งนี้คนไทยอาจเห็นทางเลือกพรรคการเมืองรวมตัวกันหลวมๆ 4-6 กลุ่ม ที่กำลังเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลต้องดูแนวทางการทำงานร่วมกัน มีความคาดหวังว่าถ้ากลุ่มอนุรักษ์นิยมเข้ามา กลุ่มเสรีนิยมก็ไปตรวจสอบ หรือผสมกันใน 6 กลุ่มจับมือกันหลวมๆหรือออกไปตรวจสอบโดยมีการเป็นกลุ่มอนุรักษ์หรือเสรีนิยมเข้าไปทำหน้าที่ถ่วงดุลตรวจสอบผ่านอำนาจบริหารประเทศ

ถ้าเป็นเช่นนั้นจะเท่ากับว่าการเมืองไทยกำลังเข้าสู่ ระบบใหม่ บริบทใหม่หลังพัฒนามาเกือบร้อยปี แล้วจะเป็นระบบพัฒนารวดเร็ว ฝ่ายความมั่นคงต้องพัฒนาปรับตัวรองรับการบริหารจัดการเรื่องการชุมนุมให้ดีขึ้น ไม่ให้กระทบหลักสากลตามกติกาของเหล่าสิทธิมนุษยชน อาจจะเห็นคดีความการถอดถอนมากขึ้น และในที่สุดอาจจะมีการออกกฎหมายใหม่เพื่อยกเลิกกฎหมายเก่าอีกหลายฉบับเพื่อให้โครงสร้างรองรับพลวัตใหม่ซึ่งถ้าทำได้ดีจะทำให้ไทยเดินหน้าไปไกลกว่าหลายประเทศที่ยังติดกับดักอยู่

หลายประเทศจับตามอง “ทักษิณ” กลับไทย

ส่วนกรณีที่หลายประเทศจับตามองการเดินทางกลับของนายทักษิณนั้น รศ.ปณิธาน กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่จะสนใจและเห็นว่าหลายประเทศก็ติดตาม และผลักดันทิศทางการเมืองไทยให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของประเทศเขา เพราะถ้าเสถียรภาพการเมืองของไทยดีก็จะทำงานร่วมกันเพื่อรักษาผลประโยชน์ ของแต่ละประเทศได้ และเมื่อตั้งรัฐบาลได้แล้วก็อาจจะมีแนวทางสนับสนุนกลุ่มที่สามารถรักษาผลประโยชน์ ให้เขาได้ ซึ่งต้องระวังให้อย่าเผชิญหน้ากับกลุ่มที่ขัดแย้งกันอยู่ แต่ในภาพรวมประเทศไทยสามารถรักษามิตรภาพไว้ได้เกือบทุกกลุ่ม มีศัตรูระหว่างประเทศน้อยมาก

รศ.ปณิธาน มองพัฒนาการการเมืองไทยแบ่งเป็นอนุรักษ์นิยมหลากหลายปานกลางและสุดขั้ว และเสรีนิยมแบบสุดขั้วและปานกลางและหลากหลายขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับพรรคเพื่อไทย ที่ได้รับคำแนะนำจากหลายฝ่ายรวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรีว่าจะสามารถปรับบทบาทตัวเองให้สอดคล้องกับพลวัตใหม่ตรงนี้ได้ และสามารถทำงานกับทุกฝ่ายได้ จะเป็นจุดยืนใหม่ที่พรรคเพื่อไทย มีโอกาสเข้ามาร่วมงานบริหารประเทศหลังจากที่ห่างเหินมาหลายปี ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญ ไม่น่าจะมีใครบังคับ ให้เกิดบทบาทเหล่านี้ได้แม้จะมีการพูดถึงการตกลงกัน และทำให้หลายกลุ่มไม่พอใจ เพราะมีความพยายาม ทำอะไร นอกกรอบ แต่ทั้งหมดเป็นพลวัต

ส่วนกรณีอดีตนายกรัฐมนตรีมีประสบการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะ ที่เคยเผชิญกับความแตกแยก และเผชิญหน้ากันยาวนาน จึงน่าจะสามารถสรุปบทเรียนได้ และต้องใช้วิจารณญาณให้ดีไม่ถูกกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งกดดัน ถ้าทำตามเงื่อนไขของศาลได้และขยับตัวออกจากการเมืองอย่างที่เคยตั้งใจไว้ โดยไม่มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเข้าไปประชิดตัวหรือให้ข้อมูลที่อาจทำให้เกิดปัญหาอีก ก็น่าจะเป็นประโยชน์ได้เหมือนกัน แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่ที่คนไทยหลายกลุ่มหรือคนไทยส่วนใหญ่รับได้หรือไม่กับบทบาทเหล่านี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

“ชูวิทย์” ย้ำ “ทักษิณ” ดีลล่มไม่กลับไทย 10 ส.ค. ไม่โกรธ “อิ๊งค์” ติงเพ้อเจ้อ

“จตุพร” ไม่เชื่อ “ทักษิณ” กลับไทย 10 ส.ค.นี้

จับกระแสการเมือง : วันที่ 1 สิงหาคม 2566 ดีลตั้งรัฐบาล มรสุมการเมือง “เพื่อไทย”

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่