ทางการสหรัฐฯ ได้ออกคำเชิญ หวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่คนเดิมของจีน เพื่อการเดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน ดี. ซี. อย่างเป็นทางการ ในขณะที่เจ้าหน้าที่ของทั้ง 2 ประเทศยังคงมีการพบปะกันอยู่เป็นประจำ ท่ามกลางการแข่งขันที่ทวีความรุนแรง
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยืนยันคำเชิญต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน เมื่อช่วงวันอังคาร (1 ส.ค.) พร้อมกล่าวว่าทางการสหรัฐฯ คาดว่าทางการจีนจะตอบรับคำเชิญในครั้งนี้ แม้จะยังไม่ได้ระบุวันในการเยือนก็ตาม
ทั้งนี้ การออกคำเชิญจากสหรัฐฯ ต่อจีนในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่หวังได้รับการแต่งตั้ง ให้กลับมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนอีกครั้ง สืบเนื่องจากการปลด ฉินกัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนคนก่อน ที่หายตัวไปและถูกปลดลงอย่างลึกลับ ทั้งที่ฉินดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้เพียงแค่ 7 เดือนเท่านั้น โดยการปลดฉินถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการกวาดล้างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนอีกครั้ง
“ในการประชุมเมื่อวานนี้ เราได้ขยายคำเชิญที่เคยส่งไปยัง ฉินกัง อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ และระบุชัดเจนว่าคำเชิญนั้นได้ถ่ายโอนไปยังรัฐมนตรี (หวัง) อี้” แมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันอังคาร ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ได้ต้อนรับ หยางเถา นักการทูตอาวุโสของจีนที่กระทรวงการต่างประเทศเมื่อวันก่อน (31 ก.ค.)
หลังจากหยางเข้าพบกับเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันจันทร์ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่าทั้งสองฝ่ายจัด “การหารืออย่างตรงไปตรงมา มีสาระ และมีประสิทธิผล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างต่อเนื่อง ในการรักษาช่องทางการสื่อสารแบบเปิด และจัดการกับความสัมพันธ์ทวิภาคีด้วยความรับผิดชอบ”
เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา ฉินซึ่งเคยเป็นอดีตเอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐฯ ถูกปลดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนอย่างกะทันหันโดยไม่มีการระบุเหตุผลใดๆ และต่อมาทางการจีนได้แต่งตั้งหวังกลับเข้ามาทำหน้าที่เดิมแทน ทั้งนี้ ฉินในวัย 57 ปี ไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณชนเลยนับตั้งแต่ปลายเดือน มิ.ย.
ทั้งนี้ หวังเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนก่อนหน้าฉิน ก่อนที่เขาจะได้รับการแต่งตั้งใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้ หวังยังเป็นผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกิจการต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และจะยังคงทำหน้าที่นั้นต่อไป อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์มองว่า การเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนในครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อกรอบนโยบายการต่างประเทศของจีน
ก่อนหน้านี้ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้พบกับหวัง ก่อนที่หวังจะได้รับการแต่งตั้ง ให้กลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนในครั้งล่าสุด ในการหารือนอกรอบการประชุมสุดยอดสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่อินโดนีเซียเมื่อเดือนที่แล้ว
“การประชุมเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างต่อเนื่อง ในการรักษาช่องทางการสื่อสารแบบเปิด เพื่อชี้แจงผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในประเด็นต่างๆ ที่หลากหลาย และเพื่อจัดการการแข่งขันด้วยความรับผิดชอบ โดยลดความเสี่ยงของการเข้าใจผิดและการคำนวณผิดพลาด” มิลเลอร์กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 13 ก.ค.
บลิงเคนได้ขยายคำเชิญเดิมไปยังฉิน ขณะที่เขาเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นการเดินทางระหว่างที่บลิงเคนได้เข้าพบกับ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และจีนยังได้จัดการประชุมระดับสูงหลายครั้งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการเดินทางเยือนจีนของ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ และ จอห์น เคอร์รี ทูตด้านสภาพอากาศของประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา
ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศย่ำแย่ลงเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมานี้ หลังจากสหรัฐฯ กล่าวหาว่าจีนทำการบินบอลลูนสอดแนมในระดับความสูงเหนือดินแดนของสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ทางการจีนยืนยันว่าบอลลูนดังกล่าว เป็นบอลลูนตรวจสภาพอากาศที่ลอยออกนอกเส้นทาง ทั้งนี้ ความตึงเครียดของทั้งสองชาติยิ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อกองทัพสหรัฐฯ ยิงบอลลูนดังกล่าวของจีนตก
เมื่อเดือนที่แล้ว ความตึงเครียดของสองชาติยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอีกครั้ง หลังจากไมโครซอฟต์ บริษัทด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ออกมากล่าวหาว่าแฮกเกอร์ที่เชื่อมโยงกับจีน ได้เข้าถึงอีเมลของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และชาติตะวันตกอื่นๆ ทั้งนี้ ทางการจีนตอบโต้ด้วยการปฏิเสธอย่างฉุนเฉียวว่า พวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการแฮกข้อมูล และเรียกสหรัฐฯ ว่าเป็น “อาณาจักรแฮกที่ใหญ่ที่สุดในโลก และโจรกรรมทางไซเบอร์ระดับโลก”
สหรัฐฯ และจีน ซึ่งเป็นสองประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก มีความขัดแย้งกันในหลายประเด็นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รวมถึงประเด็นด้านการค้า สถานะของไต้หวัน การอ้างสิทธิ์ของจีนในทะเลจีนใต้ และการที่สหรัฐฯ ผลักดันอย่างต่อเนื่อง เพื่อต่อต้านอิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อย่างไรก็ดี ผู้นำสหรัฐฯ และจีนกล่าวว่า พวกเขาไม่ได้แสวงหาหนทางที่จะนำทั้งสองไปสู่การเผชิญหน้าหรือสงครามเย็นครั้งใหม่
ที่มา: