ผู้นำการรัฐประหารของไนเจอร์ประกาศว่า เขาจะไม่ยอมอ่อนข้อให้กับแรงกดดันในการคืนสถานะแก่ โมฮาเหม็ด บาซูม ประธานาธิบดีพลเรือนของไนเจอร์ ที่ถูกปลดหลังการยึดอำนาจ โดยผู้นำรัฐประหารวิจารณ์การคว่ำบาตรที่ผู้นำแอฟริกาตะวันตกประกาศว่าเป็นเรื่อง “ผิดกฎหมาย” และ “ไร้มนุษยธรรม” และกระตุ้นให้เพื่อนร่วมชาติของเขาเตรียมพร้อมที่จะปกป้องประเทศของตัวเอง
พล.อ.อับดูราห์มาเน ชีอานี ผู้นำรัฐประหารไนเจอร์ ออกมาให้ความเห็นดังกล่าวเมื่อช่วงวันพุธ (2 ส.ค.) โดยความเห็นดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่หัวหน้าฝ่ายกลาโหมของประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐแอฟริกาตะวันตก (ECOWAS) เข้าพบเพื่อประชุมกันในไนจีเรีย ประเทศเพื่อนบ้านของไนเจอร์ เพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤตการรัฐประหารในไนเจอร์
หลังการรัฐประหาร ECOWAS ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงต่อไนเจอร์ และขู่ว่าจะใช้กำลังหากคณะรัฐประหารไม่คืนตำแหน่งประธานาธิบดีแก่บาซูม ภายในวันที่ 6 ส.ค. นอกจากนี้ ECOWAS ยังส่งคณะผู้แทนไปยังไนเจอร์ ซึ่งนำโดยอดีตผู้นำไนจีเรียอย่าง อับดุลสาลามี อาบูบักร์ เพื่อเจรจากับทหารที่ยึดอำนาจ อย่างไรก็ดี ชีอานียังคงท้าทายท่าทีของ ECOWAS
ชีอานีซึ่งประกาศตัวเองขึ้นเป็นผู้นำระบุว่า กองทัพไนเจอร์ “ปฏิเสธการคว่ำบาตรเหล่านี้โดยสิ้นเชิง และปฏิเสธที่จะยอมแพ้ต่อภัยคุกคามใดๆ ไม่ว่าจะมาจากที่ใดก็ตาม เราปฏิเสธการแทรกแซงกิจการภายในของไนเจอร์” พร้อมกล่าวเสริมว่า “ดังนั้น เราขอเรียกร้องแก่ชาวไนเจอร์ทั้งชาติ และความสามัคคีของพวกเขา ให้เอาชนะผู้ที่ต้องการสร้างความทุกข์ทรมานที่ไม่สามารถบรรยายได้ กับประชากรที่ทำงานหนักของเราและทำให้ประเทศของเราไม่มั่นคง”
ชีอานี ซึ่งเป็นผู้บัญชาการกองกำลังป้องกันประธานาธิบดีของไนเจอร์ กล่าวเตือนถึงช่วงเวลาที่ยากลำบากในอนาคต และกล่าวว่าทัศนคติที่ “เป็นศัตรูและรุนแรง” ของผู้ที่ต่อต้านการปกครองของเขา ไม่ได้ให้คุณค่าใดๆ เพิ่มเติมต่อการตัดสินใจของเขา และการคว่ำบาตรที่กำหนดโดย ECOWAS นั้น “ผิดกฎหมาย ไม่ยุติธรรม ไร้มนุษยธรรม และไม่เคยมีมาก่อน”
ท่าทีที่เกิดขึ้นสะท้อนภาพความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นของไนเจอร์กับสมิก ECOWAS 15 ประเทศ ซึ่งพยายามอย่างมากในการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยในแอฟริกาตะวันตกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่เกิดการเข้ายึดอำนาจของทหารในประเทศสมาชิกอย่างมาลี บูร์กินาฟาโซ และกินี รวมถึงความพยายามในการทำรัฐประหารในกินี-บิสเซา
ในกรุงอาบูจา เมืองหลวงของไนจีเรีย อับเดล-ฟาตูอา มูซาห์ กรรมาธิการ ECOWAS ด้านการเมือง สันติภาพและความมั่นคง กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันพุธว่า “ทางเลือกทางทหารเป็นทางเลือกสุดท้ายบนโต๊ะ” แต่กลุ่มต้อง “เตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์” พร้อมย้ำว่ามีความ “จำเป็นต้องแสดงให้เห็นว่าเราไม่เพียงแต่เห่าได้ แต่สามารถกัดได้”
ในส่วนหนึ่งของมาตรการการคว่ำบาตรไนเจอร์ ไนจีเรียยังประกาศตัดการส่งไฟฟ้าไปยังไนเจอร์เมื่อวันพุธ ทั้งนี้ ไนเจอร์เป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก และเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาไนจีเรียถึง 70% ของพลังงานทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณของแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นต่อกองทัพ หลังจากธนาคารโลกได้ประกาศระงับการจ่ายเงินให้ไนเจอร์จนกว่าจะมีประกาศเพิ่มเติม
“ภารกิจในการฟื้นฟูการปกครองแบบประชาธิปไตยในไนเจอร์นั้น เต็มไปด้วยอุปสรรคและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น” พล.อ.คริสโตเฟอร์ มูซา หัวหน้าฝ่ายกลาโหมของไนจีเรีย และประธานหัวหน้าฝ่ายกลาโหมของ ECOWAS กล่าว “การตัดสินใจของเราจะส่งสัญญาณที่ชัดเจน เกี่ยวกับความมุ่งมั่นของเราต่อประชาธิปไตย การไม่ยอมรับต่อการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และการอุทิศตนเพื่อเสถียรภาพในภูมิภาค”
แม้ว่า ECOWAS จะตอบโต้การรัฐประหารในไนเจอร์อย่างแข็งกร้าว แต่รัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากทหารในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก ได้ประกาศการสนับสนุนต่อชีอานี โดยมาลีและบูร์กินาฟาโซกล่าวว่า การแทรกแซงของต่างชาติในไนเจอร์ จะถือเป็นการประกาศสงครามกับพวกเขาเช่นกัน ในขณะเดียวกัน เมื่อวันพุธ พล.อ. ซาลิฟู โมดี หนึ่งในผู้นำการรัฐประหารของไนเจอร์ เดินทางมาถึงกรุงบามาโก เมืองหลวงของมาลีพร้อมกับคณะผู้แทน โดยเขาให้สัมภาษณ์ผ่านทางโทรทัศน์ของรัฐบาลมาลี เพื่อเน้นย้ำถึงความจำเป็นของความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศ
รัสเซีย ซึ่งเข้าไปมีบทบาททั้งในมาลีและบูร์กินาฟาโซหลังการรัฐประหารของทั้งสองประเทศ ได้ออกมาเรียกร้องให้มี “การเจรจาระดับชาติอย่างเร่งด่วน” ในไนเจอร์ โดยสำนักประธานาธิบดีรัสเซียเตือนเมื่อวันพุธว่า การขู่แทรกแซง “จะไม่ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด หรือทำให้สถานการณ์ภายในประเทศสงบลง”
อย่างไรก็ดี ประเทศตะวันตกประณามการรัฐประหาร 26 ก.ค.ในไนเจอร์อย่างรุนแรง โดยหลายชาติเห็นว่า ไนเจอร์เป็นพันธมิตรสุดท้ายที่น่าเชื่อถือสำหรับตะวันตก ในความพยายามต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธที่เชื่อมโยงกับอัลกออิดะห์และไอซิส (ISIS) ในภูมิภาคซาเฮลของแอฟริกา และพวกเขากลัวว่าความไม่มั่นคงในไนเจอร์อาจทำให้กองกำลังเข้ามายึดครองพื้นที่ได้
ท่ามกลางความตึงเครียด สหรัฐฯ ซึ่งมีฐานโดรนและกองทหารในไนเจอร์ ประกาศว่าพวกเขาจะอพยพเจ้าหน้าที่และครอบครัวบางส่วนออกจากสถานทูตในไนเจอร์ อย่างไรก็ดี ภารกิจดังกล่าวจะยังคงดำเนินการอยู่ และผู้นำระดับสูงจะยังคงทำงานที่นั่นต่อไป ในขณะที่ประเทศต่างๆ ในยุโรป รวมทั้งฝรั่งเศส อิตาลี และเยอรมนี ได้อพยพประชาชนของตัวเองเช่นกัน โดยเครื่องบินทหารลำแรกที่บรรทุกผู้อพยพได้ลงจอดที่กรุงปารีสและกรุงโรมเมื่อวันพุธแล้ว
ที่มา: