วันนี้ (4 ส.ค.2566) นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมสรรพากร ขอให้ตรวจสอบการเสียภาษีอากรกรณีการซื้อขายที่ดินระหว่าง บริษัท แสนสิริ จํากัด (มหาชน) ผู้ซื้อ และนางประไพ ชินพิลาศ กับพวก ผู้ขาย พร้อมแนบเอกสารหลักฐาน เช่น สําเนาโฉนดที่ดินเลขที่ 16515 ขนาด 0-3-99.7 ไร่ ถ.สารสิน, สําเนาคัดย่อรายงานการประชุมอนุมัติการซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 16515 จํานวน 12 ฉบับ ลงลายมือชื่อรับรองโดยนายเศรษฐา ทวีสิน และเอกสารหลักฐานการโอนที่ดิน การซื้อขายอีกหลายรายการ
นายชูวิทย์ ระบุคำกล่าวอ้างไว้ในหนังสือ ด้วยว่า ได้พบหลักฐานการชําระภาษีที่ดินที่ผิดปกติในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างบริษัท แสนสิริ จํากัด (มหาชน) ผู้ซื้อและนางประไพ ชินพิลาศ กับพวก ผู้ขาย ณ สํานักงานที่ดินเขตพระนคร รายละเอียดดังนี้
เปิดรายละเอียดซื้อขายที่ดิน พบพิรุธโอน 12 วันติด
เมื่อปี 2562 บริษัท แสนสิริ จํากัด (มหาชน) ได้ทําการซื้อที่ดินบนถนนสารสิน โฉนดเลขที่ 16515 ขนาดพื้นที่ 0-3-99.7 ไร่ จากบุคคลจํานวน 12 ราย (ปรากฎตามสิ่งที่ส่งมาด้วยลําดับ ที่ 1) ซึ่งถือครองที่ดินแปลงดังกล่าวในลักษณะกรรมสิทธิ์รวมตามมาตรา 1356 แห่งประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,570,821,000 บาท (ปรากฎตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ลําดับที่ 2, 3 และ 4)
กลุ่มผู้ขายได้รับที่ดินมาจากการจดทะเบียนเลิกบริษัท ประไพทรัพย์ จํากัด เมื่อเดือน พ.ย.2561 และแบ่งคืนที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินของบริษัทตามสัดส่วนหุ้นของ ผู้ถือหุ้นแต่ละรายโดยมิได้มีการจดทะเบียนบรรยายถึงว่า ของใครอยู่ส่วนไหนเป็นจํานวนเนื้อที่เท่าใดชัดแจ้ง และที่ดินผืนดังกล่าวยังติดภาระเช่า กรณีถือได้ว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม และรับผลประโยชน์ร่วมกัน ย่อมต้องทําธุรกรรมซื้อขายที่ดินเป็นคณะบุคคล หรือห้างหุ้น ส่วนสามัญไม่จดทะเบียนตามแนววินิจฉัยกรมสรรพากร อ้างอิงถึงหนังสือตอบข้อหารือ เลขที่ กค 0811/02985 ลงวันที่ 31 มี.ค.2542 ซึ่งกลุ่มผู้ขายทั้ง 12 ราย จะมีภาระต้องชําระ ภาษีและที่ค่าธรรมเนียมที่สํานักงานที่ดิน รวมทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90) จากส่วนแบ่งกําไรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ.2481 เป็นจํานวนเงินรวมทั้งสิ้น 580,378,106.05 บาท
แต่กลุ่มผู้ขายได้ร่วมมือกับ บริษัท แสนสิริฯ ทํานิติกรรมอําพรางเพื่อหลบเลี่ยงภาษีที่พึงชําระอย่างเป็น กระบวนการ ดังนี้
เมื่อวันพุธที่ 14 ส.ค.2562 บริษัท แสนสิริฯ จัดการประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 9/2562 บรรจุวาระการประชุมข้อ 10.5 เพื่อพิจารณาอนุมัติการซื้อที่ดิน (ระหว่างเช่า) บริเวณถนนสารสิน แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เพื่อนํามาพัฒนาเป็นโครงการอาคารชุดอยู่อาศัย โดยที่ประชุมนําโดยนายอภิชาติ จูตระกูล ประธานในที่ประชุม, นายวันจักร์ บุรณศิริ กรรมการและประธานผู้บริหารสายงาน การเงินและสนับสนุนธุรกิจ และนายเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ พร้อมกรรมการรายอื่น มีการลงมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติการซื้อที่ดินดังกล่าว โดยแบ่งการซื้อและการโอนจากผู้ครอบครองที่ดินทั้ง 12 ราย เป็นรายคนตามสัดส่วนหุ้น ปรากฎตามเอกสารหมายเลข 7 ของสําเนาคัดย่อเฉพาะวาระรายงานการประชุม คณะกรรมการ บริษัท แสนสิริฯ ทั้ง 12 ฉบับ ลงลายมือชื่อรับรองโดย นายเศรษฐา นายอภิชาติ และนายวันจักร์ (ปรากฎตามสิ่งที่ส่งมาด้วยลําดับที่ 2)
“ชูวิทย์” ชี้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษี 521 ล้าน
หลังจากคณะกรรมการ บริษัท แสนสิริฯ มีมติอนุมัติการซื้อที่ดินดังกล่าว และจัดเตรียมสําเนาคัดย่อเฉพาะวาระฯ แยกตามผู้ขายทั้ง 12 ราย เป็นรายคนแล้ว บริษัท แสนสิริฯ ได้ทําการนัดหมายผู้ขายแต่ละรายเพื่อชําระเงินและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดัวกล่าวที่ สํานักงานที่ดินเขตพระนคร โดยใช้วิธีการนัดหมายวันละ 1 ราย ติดต่อกัน 12 วัน แบ่งเป็นวันพฤหัสบดีที่ 22 – วันศุกร์ที่ 23 ส.ค.2562, วันจันทร์ที่ 26 – วันศุกร์ที่ 30 ส.ค.2562 และวันจันทร์ที่ 2 – วันศุกร์ที่ 6 ก.ย.2562 (ปรากฎตามสิ่งที่ ส่งมาด้วยลําดับที่ 3 และ 4)
การกระทําดังกล่าวเป็นการทํานิติกรรมอําพรางเพื่อให้เข้าใจว่าผู้ขายทั้ง 12 ราย ต่างคนต่างขายที่ดินให้กับบริษัท แสนสิริฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการขายที่ดินเป็นคณะบุคคลในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมตามมาตรา 1356 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทําให้ผู้ขายทั้ง 12 ราย ต่างคนต่างชําระภาษีและค่าธรรมเนียมเฉพาะที่สํานักงานที่ดินฯ เป็นเงินรวมกันเพียง 59,247,317 บาท ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วการขายที่ดินดังกล่าวเข้าลักษณะการขายในรูปแบบคณะบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ซึ่งผู้ขายทั้ง 12 ราย จะมีภาระค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปีจากการแบ่งกําไรตามอัตราก้าวหน้าสูงสุดร้อยละ 35
แต่บริษัท แสนสิริฯ โดยนายเศรษฐา กับพวก กลับร่วมกันกับกลุ่มผู้ขายในการหลีกเลี่ยงภาษีดังกล่าว ส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีที่พึงชําระเป็นเงินทั้งสิ้น 521,130,789.05 บาท
หลังจากบริษัทแสนสิริฯ และผู้ขายกระทํานิติกรรมอําพรางตามข้อ2 แล้ว วันจันทร์ที่ 24 ก.ย.2562 บริษัท แสนสิริฯ ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 10/2562 ลงมติอนุมัตินําที่ดินแปลงดังกล่าวจํานองทั้งแปลงแก่ผู้รับจํานอง คือ บริษัท ธนาคารกสิกรไทย จํากัด (มหาชน) เพื่อเป็นประกันหนี้สินของ บริษัท แสนสิริฯ อันจะพึงมีต่อบริษัท ธนาคารกสิกรไทยฯ เป็นจํานวนเงิน 1,103,000,000.00 บาท (ปรากฎตามสิ่งที่ส่งมาด้วยลําดับที่ 5) อันเป็นการผิดวิสัยของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ทั่วไปที่โดยปกติจะชําระเงินมัดจําแก่ผู้ขายเพื่อนําโฉนดที่ดินทั้งแปลงเข้าจดจํานองเป็นหลักประกันเงินกู้กับสถาบันการเงิน และนําเงินกู้จํานวนดังกล่าวมาชําระเป็นค่าที่ดินบางส่วน
แต่เนื่องจากพฤติการณ์ร่วมกันทํานิติกรรมอําพรางระหว่างบริษัท แสนสิริฯ และผู้ขาย ที่กระทําการหลบเลี่ยงภาษีโดยการแบ่งชําระและโอนดที่ดินแบบแบ่งเป็น รายบุคคลแยกกันไปในแต่ละวัน จะทําให้สถาบันการเงินทั่วไปไม่สามารถออกแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายแยกเป็นรายคนได้เนื่องจากเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน จึงทําให้ บริษัท แสนสิริฯ จําเป็นต้องสั่งจ่ายเช็ค และเงินสดบางส่วนให้แก่ผู้ขายไปก่อน อันแสดงให้เห็นถึงเจตนาอันไม่บริสุทธิ์ของบริษัท แสนสิริฯ ที่ร่วมกันกับผู้ซื้อในการหลบเลี่ยงค่า ภาษีอากรอันพึงชําระ
“ชูวิทย์” ชี้นิติกรรมอำพราง ผิดหลักธรรมาภิบาลบริษัทมหาชน
ทั้งนี้ เป็นการกระทำผิดหลักธรรมาภิบาลของบริษัทมหาชน และเป็นความผิดตาม มาตรา 37 (2) แห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ.2481 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 อีกทั้งยังร่วมกันสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่สํานักงานที่ดินในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86
นายชูวิทย์ จึงขอให้อธิบดีกรมสรรพากร ดําเนินการตรวจสอบการชําระภาษอีากรของที่ดินแปลงดังกล่าวว่า กระทําโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทํานองเดียวกัน หลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรหรือไม่
ขณะที่บริษัท แสนสิริ ออกเอกสารชี้แจงว่า “ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทได้พิจารณาและมีการอนุมัติซื้อที่ดินดังกล่าวทั้งแปลง โดยมีการแยกราคาตามส่วนกรรมสิทธิ์ของผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวตามที่ผู้ขายแจ้งความประสงค์ซึ่งกรณีนี้เป็นการลงมติอนุมัติเป็นมติที่ประชุมเพียงมิติเดียว”
ส่วนการนำสำเนารายงานการประชุมไปใช้ในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์นั้นด้วยแนวปฏิบัติตามปกติบริษัทจัดพิมพ์เป็นรายงานการประชุมฉบับคัดย่อ โดยคัดข้อความเฉพาะวาระที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปใช้ประกอบการจดทะเบียนโอนในครั้งนั้น
แนะ “เศรษฐา” ถอยแคนดิเดตนายกฯ
นายชูวิทย์ เปิดเผยหลังยื่นหนังสือว่า ที่ออกมาพูดตอนนี้ เพราะนายเศรษฐากำลังจะได้รับเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี จึงอยากถามประชาชนว่าอยากได้นายกรัฐมนตรีแบบไหน แบบเลี่ยงภาษีหรือไม่ แม้นายเศรษฐาจะอ้างว่า มีหน้าที่เซ็นอนุมัติอย่างเดียว ไม่มีส่วนรู้เห็นในรายละเอียดการโอน ก็อยากถามว่าหากได้เป็นนายก ในอนาคต และต้องเซ็นอนุมัติโครงการบางอย่างไป สามารถที่จะไม่รับผิดชอบผลที่จะตามมาได้หรือไม่ พร้อมแนะนำให้ไปถาม นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เซ็นอนุมัติโครงการรับจำนำข้าว
นายชูวิทย์ ยังแนะนำให้นายเศรษฐาถอยจากการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะไม่มีคุณสมบัติและไม่เหมาะสม ซึ่งพรรคเพื่อไทยยังเหลือแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี อีก 2 คน คือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และนายชัยเกษม นิติสิริ