หน้าแรก Thai PBS สัญญาณแตกหัก 2 ขั้ว ปชป. ดีลร่วม “รัฐบาลเพื่อไทย”

สัญญาณแตกหัก 2 ขั้ว ปชป. ดีลร่วม “รัฐบาลเพื่อไทย”

95
0
สัญญาณแตกหัก-2-ขั้ว-ปชป.-ดีลร่วม-“รัฐบาลเพื่อไทย”

ส่งสัญญาณแตกหักหรือไม่ ไม่มีใครรู้ นอกจาก “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ทันควัน หลังองค์ประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ล่ม เหตุองค์ประชุมไม่ครบ ตามข้อบังคับพรรคเป็นครั้งที่ 2 ด้วยถ้อยคำรุนแรง

“สันดาน… “สามัญสำนึก” ล้มประชุม ไม่เคารพ กติกาของพรรค ปากบอกพื้นที่ของคนรุ่นใหม่ แต่ คนรุ่นใหญ่ จะขวางทุกเรื่อง ไม่ได้”

เราต้องให้ “คนรุ่นใหม่” มีพื้นที่คิด มีพื้นที่ทำงาน มีความสุข สนุกกับการทำงาน และทำงานเป็นทีมได้ ไม่ใช่ “ห้ามไปทุกเรื่อง” ห้าม ๆ ๆ ๆ ๆ จนทีมแตก

“คนรุ่นใหญ่” ทั้งหมดควรเป็นที่ปรึกษา และเป็นอาจารย์ทางการเมืองของ น้องๆ สส. รุ่นใหม่ ไม่ใช่ ครอบตลอดเวลา

หากจับสัญญาณล่มองค์ประชุมจากคน 2 ขั้วค่ายสีฟ้าจะเห็นได้ว่า ก่อนหน้านี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อวันที่ 9 ก.ค.2566 หลังมีกระแสข่าวการล็อบบี้ ไม่ให้โหวตเตอร์เข้าร่วมประชุม ทำให้ต้องนัดประชุมใหม่เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งบรรดาแฟนคลับและคอการเมืองที่ยังเชียร์ค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผม ต่างสังเกตเห็นความผิดปกติได้ชัดเจน

ประเด็นบ่งชี้ ไม่ใช่เพียง 2 ขั้วข้อขัดแย้ง ระหว่างคนรุ่นเก่า-รุ่นใหม่ภายในพรรคเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยที่เป็นตัวแปรสำคัญคือ การเข้าร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยด้วย เพราะในข้อเท็จจริงปฏิเสธไม่ได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของ “เสี่ยต่อ” หรือ กลุ่มเพื่อนเฉลิมชัยนั้นมีถึง 21 เสียง

แม้ทั้งพรรค จะมี สส.ทั้งหมด 25 เสียง แต่มีแนวโน้มว่า อาจจะเข้าร่วมกับพรรคเพื่อไทยมากถึง 19 เสียง

โดยเฉพาะกลุ่มเพื่อนเฉลิมชัย มี 3 แกนนนำหลัก คือ เฉลิมชัย ศรีอ่อน, นราพัฒน์ แก้วทอง อดีตกรรมการผู้ช่วยรมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งปัจจุบันถูกเสนอชื่อลงแข่งเป็นหัวหน้าพรรคปชป. และ เดชอิศร์ ขาวทอง สส.สงขลา รักษาการรองหัวหน้าพรรคฯ ที่ก่อนหน้านี้ มีข่าวว่าพาภรรยาบินไปไหว้พระแก้บนที่ฮ่องกงและไม่ได้ปฎิเสธว่า เข้าพบ ทักษิณ ชินวัตร หรือไม่

นอกจากนี้ยังมีฝั่ง สส.ใต้ จากพัทลุง, นครศรีธรรมราชและสงขลา เช่น สุพัชรี ธรรมเพชร, ชัยชนะ เดชเตโช, พิทักษ์เดช เดชเดโช, สมยศ พลายด้วง, พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ และ ศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง 

ขณะที่ฝั่งที่ถูกเรียกว่า “คนรุ่นเก่า” นำทีม โดย ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน, นิพนธ์ บุญญามณี, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังไม่มีเสียงตอบโต้ใดๆ ออกมา

ยกเว้น “หมอตี๋” สาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าภาคกลางพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยืนยันว่า สถานการณ์การเมืองเช่นนี้ อภิสิทธิ์ ยังเหมาะสมในการกลับมากอบกู้พรรคฯ และกลุ่มของตนก็มีจุดยืนว่าจะไม่เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย จะขอทำพื้นที่ตัวเองให้ดีและเสนอตัวใหม่ อีกครั้งในโอกาสถัดไป

แม้ นราพัฒน์ ตัวเต็ง หัวหน้าพรรค ปชป. ที่ส่งเข้าประกวดโดย “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย จะระบุว่า การเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่เข้าร่วม ต้องเป็นมติพรรค และการเปลี่ยนหัวหน้าพรรคฯ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเข้าร่วมรัฐบาลก็จริง

แต่การที่ เดชอิศร์ ไม่ได้ปฎิเสธว่า “ไม่ได้เดินทางไปพบทักษิณที่ฮ่องกง” อาจทำให้ฝั่งขั้วที่ถูกเรียก “กลุ่มอาวุโส” อดมองพรรคฯ ด้วยความเป็นห่วงไม่ได้

ชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ บอกว่า แม้จะยังไม่มีการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ แต่กรรมการบริหารพรรคชุดเดิมยังรักษาการอยู่ ยังสามารถตัดสินใจได้อยู่ทุกอย่าง เช่น ตัดสินใจว่าจะร่วมรัฐบาลหรือไม่ กรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบันเขาสามารถทำได้ โดยต้องหารือกัน

ถ้าต่างคนต่างอยู่ไม่หารือกัน ก็เลื่อนลอย อย่าไปปล่อยให้คนใดคนหนึ่งไปทำอะไรด้วยตัวเอง มันเสียหายต่อภาพพจน์พรรคฯ ที่พรรคฯ เป็นสถาบันมาได้ ไม่ใช่เพราะอยู่นานอย่างเดียว แต่ต้องรักษาหลักการด้วย

ฉะนั้น การตัดสินใจจะทำอะไร ต้องประกอบไปด้วยกรรมการบริหารพรรคให้ความเห็นชอบ เป็นมติว่าอะไรเป็นอย่างไร ถึงจะเลื่อนประชุมออกไป ก็ตามแต่กรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบันก็ต้องทำงาน

โดยความเป็นห่วงของกลุ่มอาวุโส ยังมองไกลในระยะยาวว่า หากต้องการฟื้นให้พรรคประชาธิปัตย์กลับมาได้รับความน่าเชื่อถือ ควรทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายค้านตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลมากกว่าเข้าร่วมกับเพื่อไทย ซึ่งประเมินแล้วว่า ไม่น่าจะอยู่ครบเทอมยาวไปถึง 4 ปี และยังต้องเผชิญกับการชุมนุมประท้วง อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ นราพัฒน์-เดชอิศร์ ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรรคและเลขาธิการพรรคฯ ถูกมองว่ายังอ่อนชื่อชั้นทางการเมือง และไม่สามารถเรียกศรัทธาแฟนคลับและแฟนเก่าของประชาธิปัตย์กลับคืนได้ในระยะยาว

ในขณะที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ในพรรคฯ ต่างเห็นแย้ง โดยระบุว่าพรรคฯ มีกฎข้อบังคับที่ต้องปรับ โดยเฉพาะการขึ้นหัวหน้าพรรคฯ จะต้องเป็นสมาชิกมาก่อน ไม่น้อยกว่า 5 ปี

แม้จะยังไม่ชัดว่า พรรคประชาธิปัตย์จะได้รับเทียบเชิญจากพรรคเพื่อไทยให้ร่วมรัฐบาลหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือ รอยร้าว และสัญญาณแตกหัก ได้เกิดขึ้นแล้ว จึงน่าติดตามว่าความเห็นต่างของคน 2 ขั้วจะได้ข้อยุติหรือไม่ หรือรอยร้าวจะขยายจนแตกยับเยิน

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่