“การที่จะแก้วิกฤตครั้งนี้ได้ ต้องสลายขั้วการเมือง ดึงความร่วมมือจากทุกพรรคทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม ทุกคน เพื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทย และนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำ เพื่อนำรัฐธรรมนูญออกจากวิกฤต เพื่อนำประชาชนให้พ้นทุกข์ เพื่อสร้างความสามัคคี สมานฉันท์ โดยถือเป็นวาระประเทศที่สำคัญอย่างสูงสุด”
“เราอยากขอวิงวอน ให้พี่น้องประชาชนมั่นใจในพรรคเพื่อไทย และพรรคการเมืองที่ให้การสนับสนุนในครั้งนี้ เราจะช่วยกันฝ่าวิฤตเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ และประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชนทุกคน”
เป็นคำแถลงการณ์ร่วมกันของพรรคเพื่อไทยและอีก 6 พรรคการเมืองเพื่อร่วมจัดตั้งรัฐบาล เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2566 หลังก่อนหน้านี้ ‘พรรคเพื่อไทย’ ได้ประกาศจับมือกับ ‘พรรคภูมิใจไทย’ เป็นสารตั้งต้น 212 เสียงในการจัดตั้งรัฐบาล
เป็นการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่มีเสียง สส.จำนวน 228 เสียง และวันที่ 10 ส.ค. 2566 ก็จะแถลงประกาศจัดตั้งรัฐบาลกับ ‘พรรคชาติไทยพัฒนา’ ที่มี สส. 10 เสียง รวมมี 9 พรรค 238 เสียง ซึ่งยังมีเสียง สส.ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้งยังมีเสียงไม่ถึงมติของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในการลงมติเห็นชอบให้ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรีได้
การเดินเกมของ ‘เพื่อไทย’ จึงต้องวางหมากใหม่ ด้วยการขอแรงสนับสนุนจาก สส.และ สว.เพิ่มขึ้น
เพราะถ้ายังคงยึดคำประกาศไม่เอาพรรค 2 ลุง คือ พรรคพลังประชารัฐ ที่มี 40 สส. และ พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มี 36 สส.
แน่นอนว่า ‘เพื่อไทย’ หากดึง พรรคการเมืองใดไม่ว่าจะเป็น ‘พลังประชารัฐ’ หรือ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ว่า ย่อมได้เสียงของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ตามมาด้วยเมื่อนั้นในการผ่านความเห็นชอบนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย
แต่การดึง 2 ลุงมา ไม่เป็นผลดีต่อ ‘เพื่อไทย’ แถมยังหนีไม่พ้นกระแสรุมถล่มเพิ่มขึ้นอีก
ไล่ดูเสียงของพรรคการเมืองที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลทั้ง 9 พรรคการเมือง มีเพียง 238 เสียง ประกอบด้วย
1.เพื่อไทย 141 สส. (เขต 112 / บัญชีรายชื่อ 29)
2.ภูมิใจไทย 71 สส. (เขต 68 / บัญชีรายชื่อ 3)
3.ชาติไทยพัฒนา 10 สส. (เขต 9 / บัญชีรายชื่อ 1 )
4.ประชาชาติ 9 สส. (เขต 7 / บัญชีรายชื่อ 2)
5.ชาติพัฒนากล้า 2 สส. (เขต 1 / บัญชีรายชื่อ 1)
6.เพื่อไทรวมพลัง 2 สส. (เขต)
7.เสรีรวมไทย 1 สส. (บัญชีรายชื่อ)
8.พลังสังคมใหม่ 1 สส. (บัญชีรายชื่อ)
9.ท้องที่ไทย 1 สส. (บัญชีรายชื่อ)
ขณะที่ ‘พรรคก้าวไกล‘ มี สส.ทั้งหมด 150 คน โดย ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ สส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถูกคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ทำให้เหลือ สส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 149 คน
‘พรรคไทยสร้างไทย’ มี 6 สส. ‘พรรคเป็นธรรม’ 1 สส.พร้อมจับมือกับพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้านร่วมกัน
ส่วนสมการตัวแปรที่สำคัญ และถูกมองว่ากำลังรอ ‘พรรคเพื่อไทย’ ทาบทามให้ไปร่วมรัฐบาล กลับเลือกเล่นบทนิ่งเฉยทางการเมือง
ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ 25 สส. ในจำนวนนี้มีประมาณ 21 สส. ซึ่งถูกมองว่าเป็นสายของ ‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’ รักษาการเลขาธิการพรรค ที่ไร้ข้อหาเคยเป่านกหวีดกับ กปปส. พร้อมที่จะรอร่วมรัฐบาลกับ ‘เพื่อไทย’ เพียงแต่ปัญหาภายในพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ยังไม่เป็นข้อยุติ
พรรคพลังประชารัฐ 40 สส. ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั้น ว่ากันว่ามี สส.ในสายของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ และเลขาธิการพรรค ไม่ต่ำกว่า 10 กว่าเสียง พร้อมอยู่ในที่ตั้งยกมือสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย
อีกทั้งยังมี สส.1 เสียง 3 พรรค คือ พรรคใหม่ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน และพรรคประชาธิปไตยใหม่ ที่พร้อมเล่นบทตาม ร.อ.ธรรมนัส ได้อยู่ทุกเมื่อ
พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 สส. ที่ประกาศชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศวางมือทางการเมือง
‘รวมไทยสร้างชาติ’ มีออฟชั่นที่น่าสนใจคือ ดึงพรรคที่ประกาศว่า ‘ไม่มีลุง’ แล้ว ไปร่วมจะได้ สว.ภายใต้คอนเนคชั่น พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต่ำกว่า 100 เสียงพร้อมลุกขึ้นเปล่งเสียงกลางรัฐสภาว่า ‘เห็นชอบ’ นายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย และจะทำให้พรรคเพื่อไทยมีพรรคร่วมรัฐบาลจำนวน 278 เสียง ในสภาฯ
เช่นเดียวกัน หากดึง ‘พลังประชารัฐ’ ไปทั้งพรรค จะทำให้พรรคเพื่อไทยมีเสียงในรัฐบาล 278-281 เสียง พร้อมได้เสียง สว.อีกกว่า 50-60 เสียงร่วมโหวตเห็นชอบนายกฯ แต่แนวทางนี้ก็ไม่ง่ายนัก เพราะ ยังขาดเสียงสนับสนุนในการลงมติเห็นชอบนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย ซึ่ง ‘พรรคเพื่อไทย’ จะต้องออกแรงดัน สว.เพิ่มและหาเสียง สส.เพิ่มเติมอีก
สูตรการจัดตั้งรัฐบาล ‘เพื่อไทย’ ไม่มี 2 ลุง ทำให้ต้องขอแรงสนับสนุนจาก ‘ก้าวไกล’ ซึ่งมี สส.ในมือ 150 เสียง และเพียงพอในการหนุนส่งให้ ‘เพื่อไทย’ ฝ่าด่านโหวตนายกรัฐมนตรีและเดินบันไดขั้นต่อไปในการจัดรัฐบาลเพื่อเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจและเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นฉบับประชาชน
เพียงแต่การขอเสียงจาก ‘ก้าวไกล’ ไม่ง่ายดาย เพราะ ‘ก้าวไกล’ ไม่ใช่พรรคร่วมรัฐบาล
หากย้อนไปในการโหวตสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกลก่อนหน้านี้ ‘เพื่อไทย’ ไม่แตกแถวเทให้ 141 เสียง
การใช้เกมด้วยการเดินหน้าเจรจาขอเสียงจาก ‘ก้าวไกล’ ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งเพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้
แต่หาก ‘ก้าวไกล’ ไม่ออกแรงสนับสนุน ‘เพื่อไทย’
ก็เป็นเรื่องไม่ง่ายที่ ‘เพื่อไทย’ จะฝ่าด่านโหวตนายกฯได้
เพราะไม่มีทางที่ สว.จะเทเสียงให้จำนวนมากให้กับแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย โดยที่ไม่มี ‘พลังประชารัฐ’ หรือ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ ร่วมสมการตั้งรัฐบาล
ยิ่งคิดสมการดึงพรรคการเมืองเพิ่มเติมร่วมวงมากเท่าไร เก้าอี้รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่เป็นโควต้าของ ‘เพื่อไทย’ ก็จะยิ่งเหลือน้อยและอาจภูกต่อรองไม่ได้กระทรวงสำคัญในการผลักดันวิกฤตเศรษฐกิจเพื่อทำผลงานให้กับประชาชนได้
เป็นโจทย์ใหญ่ของ ‘เพื่อไทย’ ที่ต้องเร่งทำผลงานให้เข้าตาประชาชนด้วยอีกทางหนึ่ง และอีกทางหนึ่งก็ต้องสู้เพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่า ‘เพื่อไทย’ ยังครองความนิยมในใจประชาชนได้อยู่หรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง