‘สว.มณเฑียร’ หารือปมปรับหลักเกณฑ์เบี้ยคนชรา หวั่นเปิดช่องระบบอุปถัมภ์เส้นสาย แนะรัฐบาลควรตั้งเป้าเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า แล้วค่อยคัดคนขาดคุณสมบัติออก ง่ายกว่าคัดคนเข้า
วันที่ 15 ส.ค. ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 9 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 มณเฑียร บุญตัน สว. ได้ลุกขึ้นหารือสืบเนื่องจากกรณีมีการปรับหลักเกณฑ์ของกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับการจ่ายเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค. เป็นต้นไป โดยกำหนดคุณสมบัติผู้สูงอายุ พี่จะได้รับเบี้ยยังชีพว่าต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กว้างขวาง
มณเฑียร กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันแล้วว่าการใช้ระบบคัดกรองเพื่อให้บุคคลเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ มีปัญหามาโดยตลอด สิ่งที่ประชาชนไม่เคยเข้าใจและเชื่อมั่นคือ ผู้ที่ได้รับการคัดกรองว่าเป็นผู้มีคุณสมบัตินั้นเป็นผู้มีคุณสมบัติอย่างแท้จริง
“เพราะในอดีตที่ผ่านมาผู้ที่จะได้รับการคัดกรองให้ได้รับสิทธิประโยชน์ ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ เป็นวงศ์วานว่านเครือของนักการเมืองท้องถิ่น ข้าราชการ หรืออยู่ใกล้ปืนเที่ยง ส่วนคนที่ต่ำต้อยติดดินระดับรากหญ้า เข้าไม่ถึงข้อมูล ก็มักจะถูกคัดออกโดยปริยาย”
มณเฑียร ชี้ให้เห็นว่า การติดต่อขอรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ก็เป็นตัวอย่างที่มีปรากฏกันมากมาย ว่ามีผู้คนที่ไม่สามารถเข้าถึงและรับประโยชน์ดังกล่าว จึงเกรงว่าการกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่จะเป็นการเปิดศักราชขอลการเลือกปฏิบัติ ระบบอุปถัมภ์ และการใช้เส้นสาย
“สังคมไทยเราแม้จะเป็นสังคมที่มีน้ำใจงดงาม แต่ก็เจือปนไปด้วยความอิจฉาตาร้อน เลือกปฏิบัติ เลือกที่รักมักที่ชัง เล่นพรรคเล่นพวก มีระบบอุปถัมภ์ ลูกพี่ลูกน้อง ใช้เส้นสายกันเต็มไปหมด ผมจึงอยากให้รัฐบาลได้ใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งในการที่จะออกระเบียบ เพื่อใช้อธิบายว่าใครจะเป็นคนที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ หรือถ้าจะให้ดีที่สุดควรจะมีการทบทวน”
มณเฑียร เสนอว่า แทนที่จะคัดคนเข้า เราควรตั้งเป้าไว้ตั้งแต่แรกว่าสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับประชาชน เพราะถือว่าเป็นผู้สูงวัยแล้ว แต่ให้ไปกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติ คือใครที่ไม่ประสงค์จะขอรับ และบุคคลอื่นที่ไม่มีคุณสมบัติก็จะถูกคัดออก จะเป็นวิธีการง่ายกว่า พร้อมมองว่า การคัดคนเข้านั้นยากแต่คัดคนออก พอจะมีหนทาง
ทั้งนี้ มณเฑียร ได้เน้นย้ำว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นการหารือโดยความเห็นส่วนตัว และโดยสุจริต ไม่มีจุดประสงค์ที่จะให้นำไปขยายผลทางการเมืองใดๆ