หน้าแรก Voice TV ครม.ไฟเขียวใช้พื้นที่ลุ่มน้ำ จ.เชียงราย สร้างอุโมงทางวิ่งรถไฟ

ครม.ไฟเขียวใช้พื้นที่ลุ่มน้ำ จ.เชียงราย สร้างอุโมงทางวิ่งรถไฟ

52
0
ครมไฟเขียวใช้พื้นที่ลุ่มน้ำ-จ.เชียงราย-สร้างอุโมงทางวิ่งรถไฟ

ครม. อนุมัติผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ในเขต จ.เชียงราย รวม 52 ไร่ 2 งาน 57 ตารางวา เพื่อก่อสร้างอุโมงทางวิ่งรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ คาดโครงการก่อสร้างเสร็จเปิดให้บริการปี 2571

ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 15 ส.ค. 2566 ได้อนุมัติผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่1 เอ เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ซึ่งเป็นหนึ่งในทางรถไฟสายใหม่ระยะเร่งด่วน ภายใต้โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-65 ซึ่งโครงการฯ ได้รับอนุมัติจาก ครม. เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2561

การขอ ครม. เพื่อผ่อนผันครั้งนี้ เนื่องด้วยโครงการฯ มีงานก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งรถไฟที่มีส่วนพาดผ่านลุ่มน้ำชั้นที่1 เอ ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงเหนือ บริเวณตำบลโชคชัย อำเภอดอยหลวง และ ตำบลห้วยซ้อ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย รวมระยะทาง 2,376 เมตร หรือคิดเป็นพื้นที่รวม 52 ไร่ 2 งาน 57 ตารางวา ซึ่งรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงาน EIA) ของโครงการฯ ได้ผ่านความเห็นขอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้วเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2560 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแหงชาติ(สศช.) ได้ให้การเห็นชอบด้วยแล้ว

ไตรศุลี กล่าวว่า โครงการรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ในพื้นที่จังหวัดแพร่ จังหวัดลำปาง จังหวัดพะเยา และจังหวัดเชียงราย ระยะทางประมาณ 323.10 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นของการก่อสร้างที่สถานีรถไฟเด่นชัย จังหวัดแพร่ และมีสุดสิ้นสุดที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย กรอบวงเงินลงทุน 85,345 ล้านบาท มีระยะเวลาการก่อสร้างตั้งแต่ 15 ก.พ. 2565 ถึง 14 ม.ค. 2571 และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2571

มีงานก่อสร้างประกอบด้วย 1)ทางรถไฟคู่ใหม่ 2 เส้นทาง (รางกว้าง 1 เมตร) 2) สถานีรถไฟ 26 สถานี (สถานีขนาดใหญ่ 4 สถานี ขนาดเล็ก 9 สถานี และป้ายหยุดรถไฟ 13 สถานี) 3)อุโมงค์ทางวิ่งรถไฟและงานระบบภายในอุโมงค์ จำนวน 4 แห่ง 4) ลานขนถ่ายสินค้าและบรรทุกตู้สินค้า (container yard)จำนวน 5 แห่ง  5)สะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ(overpass) จำนวน 40 แห่ง และถนนลอดใต้ทางรถไฟ (underpass) จำนวน 102 แห่ง 6) งานโยธาอื่นๆ เช่นระบบระบายน้ำ สะพานลอยคนข้าม

โครงการฯนี้ เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่จะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายของแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย พ.ศ.2566-70 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก:การสร้างโครงข่ายการเชื่อมโยงการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ ระหว่างท่าเรือ รถไฟ ถนน และท่าอากาศยานอย่างครอบคลุม เชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจ พื้นที่อุตสาหกรรมและด่านชายแดนสำคัญ มีเป้าหมายหลักในการลดต้นทุนการขนส่งสินค้าทั้งหมดจากเฉลี่ยร้อยละ 0.10 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 7 ในปี 2570

โดย ครม. ได้มอบหมายให้หน่วยงานเจ้าของโครงการ ดำเนินตามมติ ครม. วันที่ 9 ส.ค. 2565 กรณีการดำเนินโครงการใดๆ ของหน่วยงานของรัฐที่มีความจำเป็นต้องเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่า ต้องมีการปลูกป่าทดแทนเพื่อการอนุรักษ์ หรือรักษาสภาพแวดล้อมของพื้นที่ดังกล่าวอย่างเคร่งครัด โดยให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณตามโครงการ แต่หากการดำเนินการดังกล่าวมีผลทำให้กรอบวงงเงินของโครงการเปลี่ยนแปลงไปจากวงเงินที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. ให้กระทรวงคมนาคมเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

พร้อมกำชับให้ รฟท. เร่งดำเนินโครงการดังกล่าวให้เป็นไปตามแผนดำเนินงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงการพัฒนาศูนย์บริการโลจิสติกส์และการปรับปรุงด่านชายแดนที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Modal Shift) และการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าให้สามารถแข่งขันได้ทั้งภายในและระหว่างประเทศและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการระบบโลจิสติกส์

อนุมัติหลักกำหนดลักษณะเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 60 ปี มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ

นอกจากนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 15 ส.ค. 66 ได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 60 ปี มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ… มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ชนิดราคา 20 บาท เพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสครบรอบ 60 ปี มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ในวันที่ 23 ส.ค. 2566

ทั้งนี้ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2506 ก่อตั้งโดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ และประชาชนที่ได้รับความทุกข์ยากเดือดร้อน รวมถึงสงเคราะห์ด้านการศึกษาอันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติส่วนรวม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่10 ได้มีพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอดการดำเนินงานของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ให้มีความต่อเนื่องเป็นไปโดยความเรียบร้อย

ไตรศุลี กล่าวว่า ในโอกาสครบรอบ 60 ปีในวันที่ 23 ส.ค. นี้ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ จึงขอความร่วมมือกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเผยแพร่พระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทั้ง 2 พระองค์ทรงห่วงใยราษฎรที่ได้รับความทุกข์ยากทั่วราชอาณาจักร และพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย พร้อมทั้งพระราชทานทุนการศึกษาเพื่อเป็นขวัญกำลังใจและเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายด้วยพระมหากรุณาธิคุณและพระบารมีของทั้ง 2 พระองค์เป็นที่ประจักษ์อย่างหาที่สุดมิได้

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกในโอกาสดังกล่าว และได้รับพระราชทานพระบรมราชนุญาตให้จัดทำตามรูปแบบที่นำความกราบบังคมทูลประกอบพระบรมราชวินิจฉัยแล้ว ซึ่งแบบของเหรียญนั้น ด้านหน้าเหรียญมีพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนด้านหลัง มีตราสัญลักษณ์มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ พร้อมข้อความแสดงการครบรอบ 60 ปี และ มูลค่ายี่สิบบาททั้งตัวเลขไทยและเลขอารบิก

ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง สร้างความปลอดภัย

ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 15 สิงหาคม 2566 ว่า ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 (แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 39 (พ.ศ. 2537) ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เพื่อปรับปรุงแก้ไขข้อกำหนดบางประการเพื่อให้อาคารที่จะก่อสร้างขึ้นใหม่มีความปลอดภัยต่อการใช้สอยเทียบเท่าหรือมากกว่าอาคารเก่าและมีจำนวนห้องน้ำและห้องส้วมเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมอาคาร ครั้งที่ 1490-3/65 มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงดังกล่าวด้วยแล้ว และกระทรวงมหาดไทยได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าว รวมทั้งได้จัดทาสรุป ผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย และเปิดเผยเอกสารดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ด้วยแล้ว

ทิพานัน กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงนี้มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 39 (พ.ศ. 2537) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 63 (พ.ศ. 2551) ออกตามความใน พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เพื่อปรับปรุงแก้ไขข้อกำหนดบางประการด้านระบบความปลอดภัยเกี่ยวกับอัคคีภัย และข้อกำหนดเกี่ยวกับแบบและจำนวนของห้องน้ำและห้องส้วมให้เหมาะสมและสอดคล้องกับลักษณะการใช้งานของอาคารแต่ละประเภทในสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้อาคารที่จะก่อสร้างขึ้นใหม่มีความปลอดภัยต่อการใช้สอยเทียบเท่าหรือมากกว่าอาคารเก่าและมีจำนวนห้องน้าห้องส้วมเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมีการแก้ไขในประเด็นสำคัญ เช่น

1. กำหนดคำนิยาม เช่น คำว่า “อาคารสาธารณะ”, “การกั้นแยก” “สุขภัณฑ์”, “ที่ปัสสาวะ” โดยกำหนดบทนิยามให้เป็นมาตรฐานใกล้เคียงกับศัพท์สามัญ โดยสัมพันธ์กับศัพท์ภาษาอังกฤษ ที่ใช้ใน Building Code เช่น “สุขภัณฑ์” = fixture, plumbing fixture

2. ตัดและเพิ่มประเภทอาคาร เช่น ตัดอาคารประเภท “โรงมหรสพและสถานบริการ” เนื่องจากมีกฎหมายเฉพาะหรือมีความซ้ำซ้อน และเพิ่มอาคารประเภท “คลังสินค้าและอาคารชุด” ที่เห็นว่าจำเป็นต้องมีการควบคุม

3. เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบัน จึงแก้ไขข้อความเรื่องระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ เช่น ระบบสัญญาณเตือนฯ อย่างน้อยต้องประกอบด้วยอุปกรณ์ตรวจจับอัตโนมัติ หรืออุปกรณ์แจ้งเหตุที่มีทั้งระบบแจ้งเหตุอัตโนมัติและระบบแจ้งเหตุที่ใช้มือ, เพิ่มเติมข้อกำหนดเรื่องการอุดปิดล้อมช่องท่อและช่องว่างระหว่างท่อที่ผ่านพื้นหรือผนังเพื่อป้องกันไม่ให้ควันและไฟลุกลาม และเพิ่มเติมข้อกำหนดเรื่องที่ตั้งของห้องน้ำต้องจัดอยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงได้สะดวก โดยทางเดินสู่ห้องน้ำต้องไม่ผ่านเข้าไปในพื้นที่ห้องครัวและไม่มีสิ่งกีดขวาง หรือกิจกรรมอันอาจเป็นอุปสรรคต่อการสัญจร และมีระยะทางเดินจากจุดใด ๆ ในอาคารตามที่กำหนด เช่น ศูนย์การค้าไม่เกิน 90 เมตร

4. เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เช่น กำหนดให้มีการกั้นแยกบางส่วนของอาคาร (เช่น อาคารสาธารณะ คลังสินค้า ที่มีห้องเก็บสิ่งของหรือวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงได้ ห้องเครื่องหรือห้องควบคุมระบบอุปกรณ์ของอาคารต้องจัดให้มีการกั้นแยกพื้นที่) โดยมีอัตราการทนไฟไม่น้อยกว่า 1 ชม. เพื่อป้องกันการลุกลามของไฟ และกำหนดวิธีคิดจำนวนที่สาหรับที่ปัสสาวะกรณีมีลักษณะเป็นราง

“นอกจากจะห่วงใยในการดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนแล้ว รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังดำเนินการต่อเนื่องตลอดมาในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อลดภาระของประชาชน ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้จึงยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อลดภาระประชาชนเนื่องจากกฎหมายเดิมสร้างภาระให้แก่ประชาชนมากเกินไป เช่น การกำหนดให้ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว และบ้านแฝด ไม่จำเป็นต้องติดตั้งระบบแจ้งเหตุที่ใช้มือ เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้อาคารดังกล่าวต้องใช้ระบบสัญญาณเตือนฯ แบบที่มีคุณสมบัติทั้งสามารถตรวจจับควันและสามารถส่งสัญญาณเตือนได้ภายในเครื่องเดียวกันไว้อยู่แล้ว (แบบ 2 in 1) จึงไม่มีความจำเป็นต้องติดตั้งระบบแจ้งเหตุแบบใช้มือไว้อีก ซึ่งทำให้การทำงานซ้ำซ้อนกันและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายของประชาชนโดยไม่จำเป็น” น.ส.ทิพานัน กล่าว

ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการตกทอดทางมรดกและการโอนสิทธิในที่ดิน

ทั้งนี้ยังคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการตกทอดทางมรดกและการโอนสิทธิในที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิ โดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. …. และขยายระยะเวลาดำเนินการจัดทำกฎตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ออกไปอีก 1 ปี นับแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 นี้  

สาระสำคัญร่างกฎกระทรวง เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการตกทอดทางมรดกและการโอนสิทธิในที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมใน 3 กลุ่ม คือ ทายาทโดยธรรม สถาบันเกษตรและการโอนสิทธิในที่ดินไปยัง ส.ป.ก. ดังนี้

1. กำหนดนิยาม เช่น “ผู้ได้รับสิทธิในที่ดิน” หมายความว่า บุคคลผู้ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

2. การตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม กำหนดให้ที่ดินที่ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินถึงแก่ความตายสามารถตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมตามลำดับตามที่กำหนดไว้ ในประมวลกฎหมายเพ่งและพาณิชย์ (คู่สมรส/ผู้สืบสันดาน (บุตร)/บิดามารดา/พี่น้อง ร่วมบิดามารดาเดียวกัน/พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน/ ปู่ ย่า ตา ยาย/ลุง ป้า น้า อา)

หากมีทายาทหลายคนให้ตกเป็นทรัพย์มรดกร่วมกันของทายาททุกคน เว้นแต่ตกลงกันได้ว่าทายาทผู้ใดจะเป็นผู้ได้รับที่ดินมรดกแต่เพียงผู้เดียว ทายาทผู้รับที่ดินมรดกต้องรับไปทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของผู้ได้รับสิทธิในที่ดินผู้ตายซึ่งมีอยู่ต่อ ส.ป.ก. ทายาทผู้รับที่ดินมรดกใช้สอยที่ดินเพื่อประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม หากฝ่าฝืนจะต้องโอนที่ดินนั้นคืนให้แก่ ส.ป.ก.

3. การโอนสิทธิในที่ดินไปยังสถาบันเกษตรกร กำหนดให้สถาบันเกษตรกรอาจรับโอนสิทธิในที่ดินได้ ในกรณีที่ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินมีหนี้สินค้างชำระกับสถาบันเกษตรกร ให้สถาบันเกษตรกรที่จะรับโอนสิทธิในที่ดินต้องไม่มีที่ดิน เพื่อประกอบเกษตรกรรมหรือมีที่ดินไม่เกินขนาดที่ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรมกำหนด

รวมทั้งยินยอมรับสิทธิ หน้าที่ และความรับผิด ที่ผู้ได้รับสิทธิในที่ดิน (ผู้โอน) มีต่อ ส.ป.ก. หรือสถาบันการเงิน ที่ร่วมโครงการกับ ส.ป.ก. หรือสถาบันเกษตรกรอื่น ให้สถาบันเกษตรกรใช้สอยที่ดินเพื่อประโยชน์ ในการประกอบเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม หากฝ่าฝืนจะต้องโอนที่ดินนั้นคืนให้แก่ ส.ป.ก. 

4. การโอนสิทธิในที่ดิน ไปยัง ส.ป.ก. กำหนดให้ ส.ป.ก. อาจรับโอนสิทธิในที่ดินจากผู้ได้รับสิทธิ ในที่ดินที่ประสงค์จะโอนสิทธิในที่ดินให้ ส.ป.ก. โดยไม่รับค่าตอบแทนหรือโดยรับค่าตอบแทน หรือการโอนตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล ให้ ส.ป.ก. จังหวัดจัดส่งคำร้องพร้อมทั้งความเห็นและรายงานผลการตรวจสอบสภาพที่ดิน ให้ ส.ป.ก. พิจารณาสภาพความเหมาะสม ทางการเกษตร

ลักษณะการทำประโยชน์ในที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ภาระผูกพันในที่ดิน ราคาค่าเช่าซื้อที่ดินที่ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินได้เช่าซื้อ ไปจาก ส.ป.ก. ราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ส.ป.ก. มีอำนาจพิจารณาสั่งรับการโอนสิทธิในที่ดินได้ เฉพาะกรณีเป็นที่ดินที่มีความเหมาะสมที่จะดำเนินการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรมเท่านั้น หากที่ดินไม่มีความเหมาะสมที่จะปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เช่น มีการฝ่าฝืน กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินจะต้องโอนที่ดินคืนให้ ส.ป.ก. หรืออาจต้องฟ้องร้องต่อศาลเพื่อบังคับให้มีการโอนที่ดินคืนให้ ส.ป.ก. ต่อไป 

ทั้งนี้ ส.ป.ก. มีอำนาจพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนการรับโอนสิทธิ ในที่ดินได้ ดังนี้ 

(1) กรณีเป็นการรับโอนสิทธิจากผู้ได้รับสิทธิในที่ดินกรณีทั่วไป ราคาค่าตอบแทนการโอนสิทธิในที่ดินจะต้องไม่เกินกว่าราคาประเมิน ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตามกฎหมายว่าด้วยการประเมินราคาทรัพย์สิน เพื่อประโยชน์แห่งรัฐ หรือเกินกว่าราคาประเมินตามความจำเป็นแต่ไม่เกินกว่า 1 เท่าครึ่งของราคาประเมินดังกล่าว 

(2) กรณีเป็นการรับโอนสิทธิจากผู้ได้รับสิทธิในที่ดินซึ่งใช้สอยที่ดิน โดยฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ราคาค่าตอบแทน การโอนสิทธิในที่ดินจะต้องไม่เกินกว่าราคาค่าเช่าซื้อที่ดินที่ผู้ได้รับสิทธิ ในที่ดินได้เช่าซื้อไปจาก ส.ป.ก. โดยหากมีความเสียหายเกิดขึ้น ให้หักกลบลบหนี้ตามมูลค่าความเสียหายไว้ในคาสั่งรับการโอนสิทธิ ในที่ดินดังกล่าวด้วย 

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมถึงการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่า เป็นการปรับปรุงเกี่ยวกับสิทธิและการถือครองในที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตลอดถึงการจัดที่อยู่อาศัยในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนั้น โดยรัฐนำที่ดินของรัฐหรือที่ดินที่รัฐจัดซื้อ หรือเวนคืนจากเจ้าของที่ดิน ซึ่งไม่ได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นด้วยตนเอง หรือมีที่ดินเกินสิทธิตาม พ.ร.บ. นี้ จัดให้แก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินของตนเองหรือเกษตรกรที่มีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพและสถาบันเกษตรกรได้เช่าซื้อ เช่า หรือเข้าทำประโยชน์โดยรัฐให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม

การปรับปรุงทรัพยากรและปัจจัยการผลิต ตลอดจนการผลิตและการจาหน่ายให้เกิดผลดียิ่งขึ้น โดยผู้มีสิทธิได้รับจัดที่ดิน ส.ป.ก. มี 3 ประเภท คือ (1) เกษตรกร (2) บุคคลผู้ยากจนหรือผู้จบการศึกษาทางเกษตรกรรม หรือผู้เป็นบุตรของเกษตรกร และ (3) สถาบันเกษตรกร (กลุ่มเกษตรกร/สหกรณ์การเกษตร/ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์) ซึ่งที่ดินของ ส.ป.ก. เป็น 2 ประเภท

คือ 1. กรณีที่ดินที่ได้รับเป็นประเภทที่ดินของรัฐ ส.ป.ก. จะออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01 ข) ให้กับเกษตรกร 2. กรณีที่ดินที่ได้รับเป็นประเภทที่เอกชน ที่ดิน ส.ป.ก. ได้มาโดยการจัดซื้อหรือเวนคืน ส.ป.ก. จะจัดทำสัญญาเช่าที่ดิน (ส.ป.ก. 4-14 ก) หรือสัญญาเช่าซื้อที่ดิน (ส.ป.ก. 4-18ข) กับเกษตรกรสถาบันเกษตรกร (กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ )

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่