ลุ้นกันมาเกือบ 2 สัปดาห์ หลังผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 กรณีเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลโหวตนายกฯ รอบสองว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
กระทั่งเกือบบ่ายโมง ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย เนื่องจากเห็นว่า ผู้ร้องเรียนไม่ใช่บุคคล ซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง ไม่อาจใช้สิทธิยื่นคำร้องเรียนได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 เมื่อมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว คำขออื่นย่อมมีอันตกไป
แม้จะมีคำวินิจฉัยออกมาแล้ว แต่ก็ยังไม่วายยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ จนนายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ต้องออกมายืนยันว่า
ไม่มีการสมคบคิด หรือมีใบสั่งรับหรือไม่รับคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ศาลรัฐธรรมนูญ เหมือนศาลทั่วไป เห็นอะไรที่ไม่ถูกต้องไม่ชอบธรรมอย่างไร ไม่สามารถหยิบขึ้นมาพิจารณาเองได้ ต้องมีการฟ้องร้องกันก่อนคดีถึงจะเข้ามาได้
อ่านข่าว ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องเสนอชื่อ “พิธา” โหวตนายกฯซ้ำ
ส่วนความเห็นของพรรคก้าวไกล นายรังสิมันต์ โรม กลับมองต่างว่า กรณีนี้เป็นเรื่องที่สภาฯ ควรจะหารือแก้ปัญหาเอง ไม่จำเป็นต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะสภาฯ มีอำนาจที่จะแก้ไขปรับปรุง พรรคก้าวไกลจะผลักดันเสนอญัตติทบทวนมติเรื่องดังกล่าว
ไม่ใช่การตีรวนทางการเมือง เพราะทุกฝ่ายย่อมเข้าใจดีว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะเสนอนายกรัฐมนตรี
อ่านข่าว นายกฯ คาดหวังได้รัฐบาลเร็วที่สุด ไม่รู้ทันเดือน ก.ย.นี้ หรือไม่
พรรคร่วมโควตาไม่ลงตัวก่อนวันโหวตนายก
สำหรับกำหนดวันโหวตนายกฯ รอบ 3 ค่อนข้างชัดเจนว่า จะเกิดขึ้นในวันที่ 22 ส.ค.นี้ หลังนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา มอบหมายให้แจ้งต่อที่ประชุมวิปวุฒิสภา ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อแจ้งให้สมาชิกรับทราบข้อหารือดังกล่าว แต่ยังไม่ตอบชัดว่า การเลือกแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย จะม้วนเดียวจบตามที่แกนนำพรรคเพื่อไทย เคยออกมาให้สัมภาษณ์หรือไม่ รวมทั้งกรณีแคนดิเดตนายกฯ แสดงวิสัยทัศน์ในข้อบังคับก็ไม่ได้กำหนดไว้
ส่วนเสียงจากพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อไทย ที่มีถึง 10 พรรคการเมือง แม้จะมีสูตรจับขั้วรัฐบาลผสม ทำให้เหมือนเหล้าเก่าในขวดใหม่ที่ไม่ยอมเรื่องโควตารัฐมนตรีในกระทรวงหลักเกรด A
จับคำจาก “หมอหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และเจ้ากระทรวงสาธารณสุข วันนี้ก็ยังแทงกั๊กเรื่องโควตารัฐมนตรี ซึ่งตีตราจอง 4 กระทรวง หนึ่งในนั้นคือเก้าอี้สาธารณสุขของหมอหนู
ยอมรับหากภูมิใจไทยได้ดูแลกระทรวงเดิม ก็เป็นเรื่องดี เพื่อสานต่องาน ย้ำควรหารือเรื่องโควตารัฐมนตรี ให้จบก่อนการโหวตนายกฯ
ทั้งนี้ อนุทิน ย้ำว่าควรจะหารือเรื่องโควตารัฐมนตรี ให้จบก่อนการโหวตนายกรัฐมนตรี แต่ทางพรรคเพื่อไทย ไม่ได้ตั้งเงื่อนไขว่าจะต้องให้โหวตนายกรัฐมนตรีก่อนจึงจะจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี และน่าจะมีการนัดพูดคุยใน 2-3 วันนี้ รวมถึงกระแสข่าวว่าพรรคเพื่อไทย จะขอดูแลกระทรวงด้านเศรษฐกิจเองทั้งหมด
หากเป็นกระทรวงเดิม ก็สามารถทำงานได้ต่อเนื่อง แต่ส่วนตัวรับไม่ได้ที่ว่าอยู่กระทรวงเดิมไม่ได้ เพราะไม่โปร่งใส เพราะตัวเองก็ทำงานมีความโปร่งใส ทำงานอย่างทุ่มเท
เช่นเดียวกับ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่เคยคุมกระทรวงอุตสาหกรรม วันนี้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวสายสภา ที่จี้ถามว่าตำแหน่งรัฐมนตรียังไม่ลงตัวใช่หรือไม่ นายสุริยะ เพียงแต่ยิ้ม แล้วเข้าลิฟต์ทันที
ไม่ต่างกับ วราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่มีข่าวว่าถูกพรรคเพื่อไทย สกัดไม่อยากให้คุมกระทรวงเดิม โดยมองว่าต้องคุยกัน โดยเชื่อว่าหลายพรรค รวมถึงพรรคชาติไทยพัฒนาในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมาทุกฝ่าย ก็นำเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เป็นเรื่องปกติที่เมื่อตั้งรัฐบาลก็อยากนำนโยบาย ที่ประกาศให้ประชาชนรู้ ไปปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม
พร้อมกลบกระแสข่าวว่า ไม่พอใจ ยืนยันพรรคชาติไทยพัฒนามี 10 เสียงคงบอกไม่ได้ว่าพอใจ หรือไม่พอใจ เพราะไม่ใช่พรรคการเมืองใหญ่ ต้องอ่อนน้อมถ่อมตน