วันนี้ (17 ส.ค.2566) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อหารือถึงแนวทางการประชุมรัฐสภา วันที่ 22 ส.ค.ที่จะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ว่า
การโหวตเลือกนายกฯในวันที่ 22 ส.ค.จะเริ่มเวลา 10.00 น. จากที่เคยกำหนดเวลา 09.30 น. เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจร ที่อาจจะมีการปิดถนนในบริเวณรอบรัฐสภา โดยจะแจ้งให้ที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายรับทราบในวันพรุ่งนี้ (18 ส.ค.)
ส่วนญัตติของนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กรณีขอให้ทบทวนมติที่ประชุมรัฐสภา วันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา จะให้เสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯ ซ้ำได้หรือไม่ ซึ่งค้างวาระอยู่เมื่อการประชุมรัฐสภา
ขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญ ได้วินิจฉัยให้สภาฯ ดำเนินการเลือกนายกฯ ต่อไปได้ ก็ถือว่ายังค้างอยู่ในวาระ เพราะยังไม่มีข้อยุติ ดังนั้นเมื่อเปิดการประชุมรัฐสภา วันที่ 22 ส.ค.นี้จะพยายามให้เรื่องดังกล่าวได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด เพราะมีเรื่องการโหวตนายกฯรออยู่
อ่านข่าว เปิด 4 นายพลตัวเต็ง ลุ้นชิงเก้าอี้ ผบ.ตร. คนที่ 14
3 เดือนไร้นายกฯ
ขณะนี้เกือบ 3 เดือนแล้ว ที่ไม่มีนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศ ทำให้การบริหารต่างๆทั้งเรื่องงบประมาณ ความเดือดร้อนประชาชน กฎหมายที่จำเป็น หรือกฎหมายที่ค้างอยู่เพื่อให้รัฐบาลใหม่ ยืนยันยังทำไม่ได้ จึงหวังว่าผู้เสนอญัตติจะใช้เวลาไม่มากนัก เพราะไม่มีประเด็นสำคัญ คงจะให้ที่ประชุมลงมติว่ารับพิจารณาญัตติของนายโรม หรือไม่
ประธานรัฐสภา กล่าวอีกว่า การประชุมวิป 3 ฝ่ายในวันที่ 18 ส.ค.นี้ จะหารือว่า วาระทั้งหมดจะใช้เวลาเท่าใด เช่น การทบทวนญัตติของนายโรม จะใช้เวลาเท่า ใด ฝ่ายกฎหมายเตรียมไว้ว่า จะให้โหวตนายกฯเวลา 15.00 น. และรู้ผลโหวตในเวลา 17.30น. ให้ทุกอย่างเรียบร้อย
ส่วนเรื่องเสียงโหวตแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย จะมีเพียงพอหรือไม่ เป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่ต้องมีความพร้อมในการเสนอชื่อ ไม่ทราบ แค่เตรียมการแค่ความพร้อมของรัฐสภา
ส่วนพรรคการเมืองจะเสนอใครเป็นเรื่องของเขาที่ต้องมีความพร้อมในการเสนอ เราไม่ทราบว่า เสียงของเขาจะเพียงพอหรือไม่
เมื่อถามว่า หากแนวโน้มเสียงโหวตนายกฯ ยังไม่เพียงพอ จะสามารถประสานรัฐสภาเพื่อเลื่อนโหวตนายกฯในวันที่ 22 ส.ค.ได้หรือไม่ นายวันนอร์ อบว่า ไม่มีใครประสานมา เมื่อกำหนดวาระประชุมแล้ว ในวันที่ 18 ส.ค.นี้จะออกระเบียบ วาระประชุม ถือว่าทุกคนมีความพร้อม ใครจะได้โหวตเป็นนายกฯต้องมีเสียง 375 เสียงขึ้นไป ระยะเวลานานมากแล้ว ฝ่ายการเมืองควรต้องมีความพร้อม
ส่วนกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ยื่นให้สอบจริยธรรมนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 กรณีโพสต์รูปโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ยังไม่เห็นคำร้อง
อ่านข่าว “สมศักดิ์” ปัดฟื้นกลุ่มวังน้ำยม ต่อรองเก้าอี้ รมว.เกษตรฯ
สำหรับประเด็นที่มีข้อเสนอให้ ผู้ถูกเสนอชื่อโหวตเป็นนายกฯ ต้องแสดงวิสัยทัศน์ ที่ประชุมได้หารือกัน โดยยกข้อบังคับและรัฐธรรมนูญขึ้นมาพิจารณา โดยพบว่าไม่มีประเด็นใด ที่กำหนดหรือบังคับให้ผู้ถูกเสนอชื่อ ต้องมาแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งต่างจากการเลือกประธานและรองประธานสภาฯที่ข้อบังคับกำหนดไว้
อย่างไรก็ดีหากมีผู้ประสงค์ให้ผู้ถูกเสนอชื่อเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ ต่อที่ประชุมรัฐสภา สามารถเสนอเป็นญัตติและลงมติชี้ขาดได้ แต่ในมติของรัฐสภาไม่มีอำนาจบังคับบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่สมาชิกปฏิบัติตาม
ดังนั้นในประเด็นดังกล่าว ต้องขึ้นอยู่กับพรรคการเมือง ฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลว่าจะพิจารณาอย่างไร ซึ่งในการประชุมวิป 3 ฝ่ายคาดว่าจะมีการซักถามในประเด็นดังกล่าวด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
จับกระแสการเมือง : 17 ส.ค.2566 เพื่อไทยหืดจับรอบด้าน? โหวตนายกฯ 22 ส.ค.
“ชูวิทย์” ยื่นหลักฐาน “บิ๊กโจ๊ก” สอบเงินกู้พันล้านแสนสิริ-กลุ่มนอมินี