เมื่อวันที่ 16 ส.ค.66 ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) รำลึกถึง 78 ปี วันสันติภาพไทย สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดกิจกรรมเสวนา PRIDI Talks # 22 ภายใต้หัวข้อ “บทบาทอาเซียนในการเสริมสร้างสันติภาพในเมียนมา” โดยมีผู้ร่วมวงเสวนาได้แก่ นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการ พรรคเป็นธรรม รศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดีพนมยงค์, รศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นายกัณวีร์ กล่าวถึงบทบาทไทยที่ควรมีต่อสันติธรรมประชาธิปไตยในเมียนมาและอาเซียน ว่า หลังจากการรัฐประหารโดยทหารส่งผลให้ประชาชนชาวเมียนมาออกมาเรียกร้อง จนกระทั่งถูกลิดรอนสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง
ส่งผลให้ภายในช่วงปลายปี 2564 มีผู้พลัดถิ่นโดยประมาณ 1 ล้านกว่าคน ในส่วน 3 แสนกว่าคนมีถิ่นที่อยู่ติดกับชายแดนไทย ทั้งนี้ในด้านตะวันออกของรัฐฉาน จนถึงคะยา คะฉิ่น มอญ โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อาจมีผู้พลัดถิ่นที่อยู่ในที่ไม่สามารถตรวจสอบตัวเลขได้จำนวนมากกว่านี้
ทั้งนี้มีผู้ลี้ภัยที่ข้ามเขตแดนเข้ามาอาศัยในศูนย์พักพิงช่วงคราว 9,000 กว่าคน ซึ่งเป็นตัวเลขอย่างเป็นทางการ ไม่รวมไปถึงจำนวนที่ไม่สามารถตรวจสอบได้
นายกัณวีร์ กล่าวว่าการเข้าช่วยเหลือประชาชนเหล่านี้ ไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนจุดยืนการทูตเสียก่อน บทบาทแรกที่สามารถทำได้คือ การพิจารณาเปิดระเบียงมนุษยธรรม (humanitarian corridor) เปิดรับผู้ผลัดถิ่น 3 แสนคน ในช่วงพื้นที่ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.แม่ฮ่องสอน จ.ตราด จ.กาญจนบุรี จ.ราชบุรี รวมไปถึง จ.ระนอง
การพิจารณาเปิดระเบียงมนุษยธรรม ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ใช่การชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน แต่เป็นการเปิดประตูความเป็นไปได้ ที่ประเทศไทยจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ
อีกทั้ง นายกัณวีร์ กล่าวว่า ตนได้หารือกับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เพื่อทำหนังสือยื่นไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต่อไป และเป็นกลไกลของสภา ที่ต้องติดตามว่ารัฐบาลรักษาการในปัจจุบัน มีการตอบสนองอย่างไรบ้าง
รวมไปถึงรัฐบาลชุดใหม่ในอนาคต ที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับสถานการณ์ในเมียนมาที่มีผลกระทบต่อชาวไทย และให้ความสำคัญเรื่องมนุษยธรรมต่อประเทศเพื่อนบ้าน
รศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดีพนมยงค์ กล่าวหยิบยกคำของนายปรีดี พนมยงค์ ที่เขียนไว้ในหนังสือโมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยเปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ว่า “เราต้องรำลึกถึงสุภาษิตของไทย ที่สอนให้นึกถึงอกเขาอกเรา”
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าประชาคมอาเซียนจะมีหลักการที่จะไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน แต่เช่นนั้นไทยก็ควรติดตามสถานการณ์ และสนับสนุนประชาธิปไตย แต่การทูตของไทยในยุครัฐบาล คสช.ก็ยังคงไม่ยึดแนวทางนี้มากนัก โดยเฉพาะเมื่อต้องกดดันให้รัฐบาลทหารเมียนมาเคารพสิทธิมนุษยชน และหยุดใช้กองกำลังปราบปรามประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตย
ดังนั้นไทยควรแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้า ดังเช่น การแก้ไขกติกาสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญ ให้ยึดถือหลักการประชาธิปไตย รวมไปถึงปล่อยนักโทษทางการเมือง นักโทษทางความคิดออกจากการจองจำ และยกเลิกกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือกล่าวได้ว่าเป็นแบบอย่างให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านนั่นเอง
อีกทั้งควรมีบทบาทนำ ในการเรียกร้องให้รัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา ปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน และจัดตั้งคณะกรรมการปรึกษาหารือเพื่อยุติสงครามกลางเมืองและฟื้นฟูประชาธิปไตยและสันติภาพในเมียนมา
สนับสนุนการดำเนินงานของสหประชาชาติ และเพิ่มความช่วยเหลือประชาชนที่ตกอยู่ในอันตราย หรือหลบหนีจากเมียนมา ร่วมกับอาเซียนในการเรียกร้องการปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังโดยพลการรวมทั้งผู้ที่ถูกจับติดคุกโดยไม่เป็นธรรมทั้งหมด เพิ่มแรงกดดันทางการทูตต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ประชุมสมัชชา เพื่อหยุดยั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในเมียนมา
รศ.อนุสรณ์ กล่าวเสริมว่า เพื่อให้ภูมิภาคอาเซียนนี้เป็นภูมิภาคในการเคารพสิทธิมนุษชน ยึดถือมนุษยธรรม เป็นภูมิภาคที่เสถียรภาพ มีความมั่นคง สงบสันติ สิทธิเสรีภาพแบ่งบาน มีความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และเป็นภูมิภาคอาเซียนของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน
ด้าน รศ.ดร.ดุลยภาค กล่าวว่า การยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือของไทยและอาเซียน จะต้องเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจมโนทัศน์ของแต่ละกลุ่ม และตีความคำว่า ‘สันติภาพ’ ของแต่ละกลุ่มคืออะไร และเข้าใจตรงกันหรือไม่
ยกตัวอย่างเช่น มุมมองของทหารเมียนมาที่มีต่อสันติภาพในประเทศ คือ การรักษาความสงบเรียบร้อย การใช้กำลังเป็นทางเลือกที่ไม่มีปัญหาใด เพราะเมียนมานั้นมีการสร้างรัฐผ่านยุทธสงครามมาเนิ่นนาน ทหารจึงไม่ลังเลใจที่จะสังหารคนต่อต้านหรือเห็นต่าง ตราบใดที่ยังสามารถสร้างระเบียบเพื่อควบคุมประเทศได้
ขณะที่ทางด้านฝ่ายต่อต้านมีแนวคิดว่า เมียนมาต้องปฎิวัติเพื่อนำมาสู่สันติภาพที่ยั่งยืน หรือการสถาปนาสหพันธรัฐประชาธิปไตย
ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์มีแนวคิดว่า การเข้าร่วมกระบวนการ Peace Process เจรจาต่อรองแบ่งพื้นที่ เพื่อที่จะมีเอกราชของตนมากขึ้น หรือเจรจาว่าแต่ละฝ่ายต้องการสหพันธรัฐแบบไหน