หน้าแรก Voice TV Voice Politics : ‘พริษฐ์ วัชรสินธุ’ อนาคตใหม่ของ ‘ก้าวไกล’ อย่าต้านสายลมการเปลี่ยนแปลง

Voice Politics : ‘พริษฐ์ วัชรสินธุ’ อนาคตใหม่ของ ‘ก้าวไกล’ อย่าต้านสายลมการเปลี่ยนแปลง

83
0
voice-politics-:-‘พริษฐ์-วัชรสินธุ’-อนาคตใหม่ของ-‘ก้าวไกล’-อย่าต้านสายลมการเปลี่ยนแปลง

ไม่ว่าจุดยืนทางการเมืองคุณจะโน้มเอียงไปทางใดก็ตาม สิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยคือ ‘ประเทศไทยไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว’ ตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 เป็นต้นมา

‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล ได้ตอกย้ำข้อเท็จจริงนี้ไว้ ก่อนเขาจะทิ้งบัตร สส. และก้าวออกจากห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ และในวันเดียวกัน ที่ประชุมรัฐสภาฝังกลบไม่ให้เขามีโอกาสได้รับการเสนอชื่อซ้ำอีก

แต่แน่นอน หนทางสู่การเป็นรัฐบาลของ ‘ก้าวไกล’ ไม่ได้จบลงอย่างถาวร

ชื่อของ ‘พริษฐ์ วัชรสินธุ’ อยู่ในลำดับที่ 11 ของ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แม้เพิ่งจะเข้าสภาเป็นสมัยแรก แต่สังคมก็ได้รู้จักตัวตน ความสามารถ และบทบาทที่ไม่ธรรมดาของเขามาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว

“เราไม่ควรจะตีความคำว่า ’เวลาอยู่ข้างเรา’ ด้วยการบอกว่า ถ้างั้นไม่ต้องทำอะไร” พริษฐ์ บอกกับ ‘วอยซ์’

#VoicePolitics ชวนสำรวจมุมมองของ พริษฐ์ ในห้วงเวลาที่อนาคตของพรรคก้าวไกลยังหมิ่นเหม่บนความไม่แน่นอน และสิ่งที่เขาสะท้อนออกมา ชัดเจนว่า แม้หมากเกมการเมืองจะซับซ้อน ก็ไม่อาจลดทอนเจตนารมณ์ของเขาที่จะเปลี่ยนประเทศไทยให้ดีขึ้นได้

ตรงกันข้าม กลับชัดเจน และตรงไปตรงมายิ่งกว่าที่เคย

ยิ่งไม่แปลก หากหลายคนจะมองว่า พริษฐ์ นี่เอง คืออนาคตใหม่ของ ‘ก้าวไกล’

พริษฐ์ ไอติม VoicePolitics  7176706964_n.jpg

‘เวลาอยู่ข้างเรา’ จริงหรือ?

“โจทย์เรื่องเวลาเป็นโจทย์ที่สำคัญมาก” พริษฐ์ เปิดฉากบทสนทนา ด้วยเรื่องของเวลา

สส.ป้ายแดงรายนี้ยอมรับว่า เขาผ่านการทำงานมาหลายสาย ก่อนจะพบว่าโจทย์ท้าทายที่สุดของอาชีพนักการเมือง คือการบริหารจัดการเวลา โดยเฉพาะงานการเมืองที่ทำให้เหลือเวลาส่วนตัวค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับอาชีพอื่นๆ

“แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ปกติ เพราะปัญหาของประชาชนไม่มีวันหยุด ก็เป็นเรื่องปกติที่นักการเมืองก็ไม่มีวันหยุดเช่นกัน” พริษฐ์ กล่าว “แต่อีกมุมหนึ่ง ผมก็รู้สึกตลอดว่าเวลาที่มีอยู่ ไม่พอ”

ท่ามกลางความผันผวนของการเมือง และการจัดตั้งรัฐบาลยังฝุ่นตลบ พริษฐ์ เดินหน้าทำงานทันที โดยเป็นหัวหอกผลักดัน ‘ชุดกฎหมายเปลี่ยนประเทศ’ เข้าสู่สภา ทั้งด้านกองทัพ กระจายอำนาจ ระบบราชการ แรงงาน ปฏิรูปที่ดิน และอีกมาก

ยิ่งบ่งบอกถึงความแน่วแน่ของเขา แม้พรรคก้าวไกลจะไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่ภารกิจเปลี่ยนประเทศของ ยังต้องเดินหน้าต่อ

ไอติม พริษฐ์ VoicePolitics IMG_0394.jpeg

“หลายปัญหารอไม่ได้ ทำยังไงให้ 4 ปีข้างหน้า ไม่ว่าสถานะพรรคก้าวไกลจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน เราทำเต็มที่ในการผลักดันวาระการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ”

จากการสนทนากับเขา ทำให้เริ่มเห็นความชัดเจนว่า พรรคก้าวไกลมองการเปลี่ยนประเทศเป็นภารกิจที่ต้องแข่งกับเวลา ‘วอยซ์’ จึงถาม พริษฐ์ ว่า เขามีความเห็นอย่างไรกับวลี ‘เวลาอยู่ข้างเรา’ ซึ่งถือเป็นคติพจน์แพร่หลายในกลุ่ม สส.ก้าวไกล และบรรดานักกิจกรรม

เมื่อกลไกกฎหมายสำแดงอำนาจที่ไม่เป็นธรรม และระบอบเผด็จการยังสืบทอดอำนาจต่อเนื่อง หลายสิ่งไม่อาจพลิกผันได้ในไม่กี่เดือน ไม่กี่ปี เหล่าเยาวชนผู้มุ่งหมายปลดแอกอธรรมของสังคม ต่างเปล่งคำ “เวลาอยู่ข้างเรา” เพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นศรัทธา

“สำหรับผม เราไม่ควรจะตีความคำว่า เวลาอยู่ข้างเรา โดยการบอกว่า ถ้างั้นเราไม่ต้องทำอะไร” พริษฐ์ บอก “เพราะถึงแม้เราจะมีความเชื่อว่าในอนาคต สังคมมันก้าวหน้าขึ้น เป็นประชาธิปไตยแบบปกติแน่นอน แต่ทุกวินาทีที่เรายังอยู่ภายใต้กติกาที่ไม่เป็นปกติ ความสูญเสียจะเกิดขึ้นกับประชาชน”

กล่าวคือ พริษฐ์ เชื่อมั่นในสัจธรรมว่า เวลาอยู่ข้างพวกเรา แต่เขาย้ำว่า “หน้าที่ของเราคือทำให้อนาคตมาถึงเร็วขึ้น ดึงอนาคตให้มาใกล้ปัจจุบันมากที่สุด” และ “ทำให้เราก้าวเข้าสู่อนาคตที่เราใฝ่ฝันอยากจะเห็น เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

ไอติม พริษฐ์ VoicePolitics IMG_0403.jpeg

ชักเย่อกับ ‘อำนาจล้าหลัง’ !

“ผมมักจะเปรียบเทียบสถานการณ์ประชาธิปไตยในประเทศไทย เหมือนกับเกมชักเย่อ”

พริษฐ์ อธิบายว่า สองฝั่งปลายเชือกของเกมชักเย่อนี้ ด้านหนึ่งคือระบบที่ล้าหลัง ที่พยายามฉุดรั้งสังคมให้ถอยห่างจากความเป็นประชาธิปไตยแบบปกติ ระบบที่ไม่อนุญาตให้เกิดความเปลี่ยนแปลง และอีกด้านคือสังคมที่ก้าวหน้า มุ่งมาดปรารถนาจะเห็นประชาธิปไตยแท้จริง ที่จะนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลง

ส่วนสำคัญของระบบที่ล้าหลัง ซึ่งพรรคก้าวไกลเน้นย้ำมาเสนอ คือรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 ที่มีเนื้อหา กระบวนการ และที่มาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และแฝงฝัง 3 อาวุธสำคัญ ที่เอื้อให้เกิดความสืบทอดอำนาจ คือ

1. วุฒิสภาชุดเฉพาะกาล ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. และมีส่วนร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และอำนาจอื่นๆ ที่สูงล้น ทั้งการเห็นชอบองค์กรอิสระ และร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ

2. ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ ซึ่งมีกระบวนการสรรหาที่ยึดโยงกับอำนาจเก่า ซึ่งอาจถูกตั้งคำถามถึงความเป็นกลาง

3.อาวุธที่แนบเนียนที่สุด คิอ ยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี ที่จะเป็นพันธะผูกพันรัฐบาลใหม่ในอนาคต หากมีนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 20 ปี ก็อาจเปิดช่องให้มีผู้ร้องเรียนเพื่อปลดรัฐบาลนั้นให้พ้นจากตำแหน่งได้ แม้เป็นนโยบายที่ประชาชนเห็นชอบด้วยก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ โจทย์หลักในการปลดเปลื้องระบอบล้าหลังอย่างเป็นรูปธรรมที่สุดในเวลานี้ คือต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ถูกขีดเขียนโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง

ไอติม พริษฐ์ VoicePolitics IMG_0397.jpeg

“ถ้าเมื่อสักครู่พูดแล้วรู้สึกเริ่มหมดหวัง สิ่งที่อยากจะให้ความหวังก็คือว่า เรามีสังคมที่ก้าวหน้าขึ้น ที่ผมคิดว่า มีฉันทามติมากขึ้นที่อยากเห็นประเทศนี้เป็นประชาธิปไตย”

หากจะให้ยกตัวอย่างความก้าวหน้าที่พลิกโฉมสังคมไปอย่างไม่หวนกลับในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา คงจะต้องใช้เวลามากมาย ทว่า พริษฐ์ อธิบายอย่างครอบคลุม โดยเปรียบเทียบปรากฏการณ์นั้นเป็น “สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง” ที่คอยพัดพาสังคมไปข้างหน้าอยู่เสมอ

สายลมที่ว่า คือตัวแปรสำคัญของเกมชักเย่อนี้

“ยิ่งเวลาผ่านไป ผมเชื่อว่า ความต้องการที่อยากเห็นประชาธิปไตยก็จะมีมากขึ้น ความคาดหวังต่อการเปลี่ยนแปลงก็จะมีมากขึ้น เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะดึงกันอย่างไร ลมยังพัดไปทิศทางเดียว”

พริษฐ์ ยังเชื่อมั่นว่า ผลการเลือกตั้งเมื่อ 2566 ที่ผ่านมา คือหลักฐานประจักษ์ชัดที่สุดว่าผู้คนกำลังโหยหาความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง

พริษฐ์ ไอติม VoicePolitics  8318182659_5294252407262066305_n.jpg

ยุบพรรค แต่ผู้คนยังคงเดินทาง

“ผมพยายามจะไม่ตอบคำถามเกี่ยวกับการยุบพรรคมากเท่าไหร่” พริษฐ์ ออกตัว

‘วอยซ์’ จำเป็นต้องถามคำถามที่เลี่ยงไม่ได้ ในเมื่อเกมแห่งอำนาจยังทวีความเข้มข้น การยุบพรรคเพื่อกำจัดศัตรูทางการเมืองให้สิ้นซาก ยังมีความเป็นไปได้เสมอ หลังจากเกิดขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่าในประวัติศาสตร์ไทย

พริษฐ์ บอกเราว่า การตอบคำถามเรื่องยุบพรรค ในมุมหนึ่งเหมือนการยอมรับว่า ปรากฏการณ์แบบนั้นสมควรจะเกิดขึ้นในการเมืองไทย

ไอติม พริษฐ์ VoicePolitics IMG_0402.jpeg

เขายกนิยามของพรรคการเมือง ว่าคือการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่มีชุดความคิด ความเชื่อ และอุดมการณ์ที่สอดคล้องต้องกัน จึงมารวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองเพื่อผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในประเทศนี้ ในแนวทางที่พวกเขามองเห็นร่วมกัน

“(การยุบพรรค) เหมือนกับการบอกว่า ชุดอุดมการณ์ทางความคิดแบบหนึ่งในประเทศไทย ไม่ควรจะมีตัวแทนอยู่ในภูมิทัศน์การเมืองไทย”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าฉากทัศน์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นจริงในอนาคต พริษฐ์ เห็นตรงกันกับสมาชิกพรรคก้าวไกลทุกคนว่า ‘เราคือผู้คน และการเดินทาง’ ประโยคนี้แผดก้องอยู่นับไม่ถ้วนครั้งตลอดการหาเสียง และเป็นถ้อยคำสำคัญในบทเพลง ‘ก้าวไกลก้าวหน้า’ ขับร้องโดยวง ‘สามัญชน’ ที่คุ้นหูราษฎร

“พรรคก้าวไกลไม่ใช่เสาเข็มที่เราเห็นในสำนักงานตรงนี้ ไม่ใช่องค์กรที่สถานะทางกฎหมายอย่างเดียว แต่มันคือการรวมตัวของผู้คนที่เห็นถึงความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลงบางของในสังคมไทย และพร้อมจะเดินทางไปด้วยกัน”

ไอติม พริษฐ์ VoicePolitics IMG_0399.jpeg

กฎเหล็กของ Oxford Union

หนึ่งในหลากหลายบทบาทของ พริษฐ์ ที่ได้รับความสนใจและถูกพูดถึงมาเสมอ คือเขาได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานสมาคมโต้วาที มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด หรือ Oxford Union ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1823 และได้กลายเป็นนักศึกษาจากภูมิภาคเอเชียอาคเณย์คนแรกที่ได้รับตำแหน่งดังกล่าว

เมื่อเราขอให้เขาแบ่งปันประสบการณ์เล็กๆ น้อยๆ ดังกล่าว พริษฐ์ เริ่มด้วยการชี้แจงว่า ตำแหน่งประธานฯ อาจทำให้สังคมเข้าใจว่า เขาต้องเป็นนักโต้วาทีมือฉมัง แต่ความจริงแล้วประธานฯ เป็นตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหาร ซึ่งทำให้เขาแทบไม่เคยโต้วาทีเลย

“แต่แน่นอน เราได้มีโอกาสเห็นนักโต้วาที ที่มีวาทศิลป์ มีทักษะในการสื่อสารที่ดี เราก็พยายามเรียนรู้จากเขา” อดีตประธาน Oxford Union เผย

บทบาทที่สำคัญอีกประการของตำแหน่งประธานฯ คือ เป็นผู้กำหนดหัวข้อในการโต้วาทีแต่ละครั้ง โดยจำเป็นต้องท้าวความถึงวัตถุประสงค์ของสมาคม คือการเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการถกเถียงของคนเห็นต่าง รวมถึงหัวข้อที่อาจจะอ่อนไหวล่อแหลม

ไอติม พริษฐ์ VoicePolitics IMG_0391.jpeg

พริษฐ์ ยกตัวอย่างบางหัวข้อที่เขาเสนอ เช่น ‘ศาสนาสร้างคุณหรือโทษมากกว่ากัน’ ‘เราควรมีความภูมิใจในชาติของตนหรือไม่’ – ดูไปแล้วก็น่าทึ่ง เพราะในเวลาเดียวกัน ประเทศบ้านเกิดของเขา กำลังถูกปิดกั้นสิทธิเสรีภาพอย่างเข้มข้นหลังบรรยากาศแห่งรัฐประหารยังแผ่ปกคลุม

เขาได้เรียนรู้ประสบการณ์ที่กลายมาเป็นส่วนสำคัญในความคิด จากกฎเหล็กของ Oxford Union ที่ว่า แม้จะเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มากประสบการณ์เพียงใดก็ตาม วิทยากรคนนั้นจะต้องยินดีเปิดโอกาสให้นักศึกษามาซักถาม แม้กระทั่งถกเถียงได้ นี่ทำให้เขาเห็นคุณค่าของเสรีภาพในการแสดงออก และการรับฟังความเห็นต่าง

“ถ้าเราอยู่ในกรอบความคิดว่าเรามีโอกาสที่จะคิดผิดได้ เราจะเห็นคุณค่าของความเห็นต่างทันที” พริษฐ์ กล่าว “ทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนกัน ว่าความคิดเรายังมีช่องโหว่อยู่นะ เราก็เรียนรู้จากคนเห็นต่าง แล้วก็พยายามมาปิดช่องโหว่ตรงนั้น”

“ผมคิดว่าทางออกในการเอาชนะทางความคิด ไม่ใช่การไปปิดกั้นไม่ให้เขาพูด แต่เป็นการเปิดพื้นที่เขาพูด และพยายามจะโน้มน้าว หักล้าง ด้วยเหตุและผล ด้วยข้อมูล นี่เป็นวิธีการเอาชนะทางความคิดที่ดีกว่า”

พริษฐ์ ไอติม VoicePolitics  5231472772158_n (1).jpg

คุณสมบัติพื้นฐานนักการเมือง

ทัศนะข้อหนึ่งจาก พริษฐ์ สะท้อนภาพความแตกร้าวของสังคมในเวลานี้ได้ดี หลังความพยายามจัดตั้งรัฐบาลถูกสะท้อนออกมาเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์หนักหน่วง พ้องพานกับความเห็นของ พริษฐ์ เกี่ยวกับคุณสมบัติพื้นฐานที่นักการเมืองควรมี – ความคงเส้นคงวา

“พื้นฐานที่สุดคือความคงเส้นคงวาของคำพูด ทำอย่างไรให้นักการเมืองรับผิดชอบคำพูดที่ให้ไว้”

พริษฐ์ ไอติม VoicePolitics 97_220885834282875_1430379860423746924_n.jpg

แน่นอน พริษฐ์ ยกเส้นทางการเมืองของตัวเองมาเป็นกรณีเปรียบเทียบ เหตุผลหลักที่ทำให้เขาลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปี 2562 เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์มีมติเข้าร่วมรัฐบาล และสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการกลับคำพูดที่เคยบอกกับประชาชนไว้

ยิ่งไปกว่านั้น อุดมการณ์ของ พริษฐ์ ก็สวนทางกับพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานั้นอย่างสิ้นเชิง เพราะเขาไม่สามารถเห็นชอบกับการยกมือให้ พล.อ.ประยุทธ์ หรือร่วมรัฐบาลที่พรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำได้ ด้วยว่าจะเท่ากับเขาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลไกสืบทอดอำนาจ ต้นเหตุแห่งความไม่ปกติทางการเมืองจนถึงปัจจุบัน

อีกคำถามซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันมากคือ นักการเมืองควรเป็นผู้นำ หรือผู้ตาม?

ไอติม พริษฐ์ VoicePolitics IMG_0400.jpeg

พริษฐ์ หยิบยกถ้อยคำของนักการเมืองอังกฤษคนหนึ่ง ที่เคยบอกไว้ว่า นักการเมืองมี 2 ประเภท คือ

1. นักการเมืองที่เป็นกังหันลม ซึ่งจะพยายามติดตามให้พบว่า ประชาชนต้องการอะไรมากที่สุด ในการตัดสินใจแต่ละครั้ง ก็จะเลือกหนทางที่ตอบโจทย์กับความต้องการของประชาชนมากที่สุด กล่าวคือ เป็นผู้ตามที่ดี

2. นักการเมืองที่เป็นป้ายบอกทาง คือประมวลข้อมูลและวิเคราะห์แล้วว่า ทางออกใดดีที่สุดสำหรับประเทศ แล้วโน้มน้าวให้ประชาชนเห็นด้วยกับทิศทางดังกล่าว แต่ยังต้องอยู่ในกติกาประชาธิปไตย คือรับการตัดสินใจของเสียงข้างมาก

การยกตัวอย่างดังกล่าว ทำให้มองเห็นประเภทของนักการเมืองไทยได้ชัดเจน ผ่านการจัดตั้งรัฐบาลอันชุลมุนเวลานี้

สำหรับ พริษฐ์ เอง เขามองว่าไม่มีอะไรถูกผิด แต่นักการเมืองคนหนึ่งควรจะมีทั้งส่วนผสมของกังหันลมและป้ายบอกทางอยู่ด้วยกัน จนสามารถสรุปออกมาเป็นคำสั้นๆ ว่า นักการเมืองที่ดีต้อง ‘ตามให้ทัน นำให้เป็น’

ไอติม พริษฐ์ VoicePolitics _0405.jpeg

ตรงไปตรงมา-พร้อมรับฟัง

แม้ว่าผลการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลจะกวาดคะแนนเสียงอย่างล้นหลาม จนหลายคนอาจมองว่าเหนือกว่าที่ สส.พรรคก้าวไกล เองจะคาดการณ์ด้วยซ้ำ

แต่ พริษฐ์ กลับมองผลการเลือกตั้งเป็นปรากฏการณ์ที่ใหญ่กว่าพรรคก้าวไกลอย่างมาก เพราะไม่บ่อยครั้งที่มีเพียง 2 พรรคการเมืองเท่านั้น ที่ได้รับความไว้วางใจประชาชนเกิน 10 ล้านคน แปรเป็น สส. เกิน 100 คน คือพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคที่อยู่ในแนวร่วมฝ่ายค้านด้วยกันมาตลอด 4 ปี

“นี่เป็นปรากฏการณ์ที่ผมเชื่อว่า ไม่ว่าจะการเลือกตั้งในไทย หรือต่างประเทศ ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง” พริษฐ์ ให้ความเห็น “มันสะท้อนให้เห็นความต้องการของสังคม ที่อยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลงจริงๆ”

พริษฐ์ ไอติม VoicePolitics  889027887750_n.jpg

พริษฐ์ มองว่า ผลการเลือกตั้งสะท้อนความคาดหวังที่ไม่ได้ผูกอยู่กับพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่เป็นความคาดหวังที่ประชาชนมอบให้ 2 พรรคการเมืองร่วมกันเป็นแนวหน้าในการฟื้นฟูประชาธิปไตย

“ผมเชื่อ ส่วนตัวผมเชื่อว่าปัจจัยที่จะทำให้ภารกิจนั้นสำเร็จ ก็ต่อเมื่อพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย เดินร่วมกันในภารกิจนี้”

น่าเสียดายที่ความเชื่อของเขา อาจจะไม่เป็นจริงในเร็ววัน ด้วยสมการการเมืองอันสลับซับซ้อน แต่ภารกิจของพรรคก้าวไกลยังชัดเจน และฉายชัด ไม่ใช่เพียงผ่าน สส.ของพรรค แต่ยังผ่านไปยังประชาชนจำนวนมหาศาลที่มอบความไว้วางใจให้พวกเขาเข้าไปทำงานแทนด้วย

“พรรคก้าวไกลเราเชื่อมั่นในทั้งสิทธิของประชาชนที่จะกำหนดอนาคตตนเอง อนาคตของประเทศ และศักยภาพของประชาชนในแต่ละรุ่นที่แตกต่างหลากหลาย เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องโอบรับความแตกต่างหลากหลายนั้น ให้เป็นจุดแข็งของประเทศให้ได้”

นี่คือโฉมหน้าประเทศไทยที่พรรคก้าวไกลวาดฝันอยากจะเห็น สังคมที่ทุกคนไม่ต้องคิดเหมือนกันทุกอย่าง ตรงกันข้าม ความเห็นต่างและคำวิจารณ์ จะยิ่งผลักดันให้การทำงานของรัฐบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเป็นรัฐบาลที่รับฟัง นำเสียงของประชาชนเป็นที่ตั้ง

“เรารู้ว่ามันเป็นภารกิจที่ต้องใช้เวลา คงไม่กล้าบอกว่าจะใช้เวลากี่ปี จนจะถึงจุดสิ้นสุด ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าในวันที่ผมจากโลกนี้ไป ประเทศไทยจะขยับไปถึงประเทศไทยในฝันที่ผมและเพื่อนๆ พรรคก้าวไกลหลายคนอยากเห็นแล้วหรือยัง”

“แต่อย่างน้อยผมก็อยากจะใช้ช่วงชีวิตของผม ไม่รู้ว่ากี่สิบปีข้างหน้า ในการทำให้มันเข้าใกล้ประเทศไทยในฝันที่เราอยากจะเห็นมากที่สุด” พริษฐ์ ยืนยัน

ไอติม พริษฐ์ VoicePolitics IMG_0393.jpeg

ถึงเวลานี้ ทุกคนต่างเห็นตรงกันว่า พรรคก้าวไกลเป็นการรวมตัวของกลุ่มอุดมการณ์ ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นมาได้ในสังคมนี้ และยังเติบโตอย่างรวดเร็วจนอาจทำให้ใครบางคนหวาดกลัว หลายฝ่ายต่างมองว่า การทำการเมืองแบบ ‘ตรงไปตรงมา’ ที่เป็นจุดขายของพรรคก้าวไกล คือสาเหตุที่จะทำให้พวกเขาก้าวไม่ถึงการเป็นรัฐบาล

“ผมคิดว่าความตรงไปตรงมาของพรรคก้าวไกล ไม่ได้หมายความว่าเราผูกขาดความถูกต้องไว้กับเรา แต่เราคิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่จะตอบโจทย์ประเทศนี้มากที่สุด”

“ผมต้องยืนยันแบบนี้ว่า เป้าหมายพื้นฐานที่สูงสุดของพรรคการเมือง มันไม่ใช่การเป็นรัฐบาล แต่มันคือการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง”

พริษฐ์ กล่าวต่อไปว่า แม้ภารกิจขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงนั้น จำเป็นต้องมีอำนาจรัฐ ต้องเป็นรัฐบาล เพื่อให้ภารกิจดำเนินไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าการได้มาซึ่งอำนาจรัฐต้องแลกมาด้วยบางเงื่อนไขที่ทำให้ไม่สามารถนำการเปลี่ยนแปลงได้…

“แล้วเราจะมีอำนาจรัฐไปเพื่ออะไร” เขาตั้งคำถามกลับมา

ธรรมชาติของสายลมและกาลเวลา คือไม่ไหลทวนหวนย้อนไปทิศทางเดิม ไม่ต่างกับ สส.พรรคก้าวไกล คนนี้ ที่พร้อมเผชิญหน้ากับอดีต และใช้ทั้งชีวิตนำพาอนาคตให้มาใกล้ปัจจุบันมากที่สุด

ไอติม พริษฐ์ VoicePolitics IMG_0401.jpeg

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่